โรงแรมญี่ปุ่นมีกลยุทธ์อย่างไรให้อยู่รอดช่วงโควิด?

กว่าหนึ่งปีแล้วที่ญี่ปุ่นปิดประเทศไม่รับนักท่องเที่ยวและตัวเลขของชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศก็ลดต่ำลงกว่า 99% อุตสาหกรรมโรงแรมของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างที่คาดกันเอาไว้ มีโรงแรมมากมายถูกบังคับให้ปิดตัวลง แต่ก็มีหลายโรงแรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการพยายามเอาตัวรอดและปรับให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ บทความนี้เราจะพาคุณไปสำรวจว่าอุตสาหกรรมโรงแรมญี่ปุ่นมีวิธีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชีวิตภายใต้โรคระบาดกันได้อย่างไร!?
Oyraa

อุตสาหกรรมโรงแรมญี่ปุ่นกำลังเจอศึกหนัก

ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนญี่ปุ่นเกือบ 32 ล้านคนในปี 2019 แต่กลับลดลงเหลือเพียง 4 ล้านคนในปี 2020 ซึ่งส่วนใหญ่มาเที่ยวในช่วงต้นปีก่อนการประกาศปิดประเทศ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวภายในประเทศก็อยู่ในขาลงเช่นกัน ในปี 2020 เม็ดเงินในธุรกิจการท่องเที่ยวลดลงถึง 56.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ความเป็นจริงที่แสนโหดร้ายนี้ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่บางแห่งได้เปลี่ยนแปลงธุรกิจของตนอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จึงสามารถจัดการได้ดีกว่าโรงแรมอื่นๆ

รีสอร์ท Hoshino กับการตลาดเฉียบคมเพื่อดึงดูดลูกค้า

PIXTA

หนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปีที่แล้วคือเรื่องราวของรีสอร์ท Hoshino รีสอร์ทสุดหรูที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่รีสอร์ทอื่นๆ ปรับลดขนาดลงและพยายามเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ รีสอร์ท Hoshino ได้เปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดโดยสิ้นเชิงอย่างทันควัน เนื่องจากไม่มีลูกค้าต่างชาติและลูกค้าในประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากเที่ยวกันเท่าไหร่นัก รีสอร์ท Hoshino จึงเกิดแนวคิด “การท่องเที่ยวแบบไมโคร” ซึ่งเป็นการใช้เวลาช่วงวันหยุดรูปแบบใหม่โดยไม่ต้องเดินทางไกลจากบ้านขึ้นมา

PIXTA

แทนที่จะดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ พวกเขากลับพุ่งเป้าไปยังลูกค้าที่อยู่ห่างจากรีสอร์ทแต่ละแห่งโดยเดินทางเพียง 1-2 ชั่วโมง พวกเขารู้ว่าคนอยากออกไปเที่ยวแต่ก็กลัวที่จะเดินทางไกล อีกทั้งยังกลัวความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย จึงมีแนวคิดสนับสนุน “การท่องเที่ยวแบบไมโคร” ขึ้นมาและสามารถจบปี 2020 ด้วยการทำกำไรที่ดี (แม้ว่าจะลดลงจากปีที่แล้วก็ตาม) และยังคงรักษาอัตราการเข้าพักห้องโดยเฉลี่ยสูงกว่า 70% ไว้ได้ในหลายสาขา ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทยังประกาศแผนการขยายกิจการใหม่อีกสามแห่งในเกียวโตอีกด้วย

โรงแรมสไตล์อพาร์ตเมนต์ MIMARU กับกลยุทธ์สำหรับเข้าพักระยะยาว

โรงแรมอีกแห่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการระบาดใหญ่คือโรงแรม MIMARU ซึ่งเป็นโรงแรมยอดนิยม “สไตล์อพาร์ตเมนต์” ที่ออกแบบมาเพื่อการเข้าพักในระยะยาว

ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ คำว่า “ワーケーション” (workcation) หรือการเที่ยวไปและทำงานทางไกลไปนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ห้องพักสไตล์อพาร์ตเมนต์ของโรงแรม MIMARU จะเหมาะกับการเข้าพักแบบนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา พวกเขาได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นกับการเปิดตัว “MIMARU SUITES” ในย่าน Yonjo ของเกียวโต แต่ละห้องจะประกอบไปด้วยห้องนอน 2 – 3 ห้อง รวมถึงห้องครัวขนาดเล็ก ห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น

โรงแรม MIMARU คาดว่าความต้องการของที่พักสำหรับเที่ยวไปและทำงานไปนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อมันกลายเป็นวิธีปกติที่ครอบครัวจะใช้หลีกหนีชีวิตประจำวันอันแสนน่าเบื่อ พวกเขาจึงตัดสินใจขยายกิจการท่ามกลางการระบาดใหญ่ โดยจะมีการเปิดตัว MIMARU SUITES อีกแห่งในเกียวโตช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ พร้อมกับแผนเปิดตัว ณ ย่านอื่นๆ ในโตเกียวเช่นกัน บางทีการเที่ยวไปและทำงานไปอาจกลายเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคตก็ได้

*โรงแรม MIMARU กำลังเปิดรับสมัครตำแหน่งใหม่ แถมชาวต่างชาติก็สามารถสมัครได้อีกด้วย! หากสนใจสมัคร กรุณาตรวจสอบรายละเอียดที่นี่: https://jobs.tsunagulocal.com/en/job/02-005.

โรงแรมอิมพีเรียล เปิดเช่าห้องยาวเป็นเดือน

Osugi / Shutterstock.com

โรงแรมอีกแห่งที่เป็นประเด็นเมื่อเร็วๆ นี้คือ โรงแรมชื่อดังระดับโลกในเมืองหลวงอย่างอิมพีเรียล โดยประกาศว่าจะปล่อยเช่าห้องสวีทแบบรายเดือน หลังจากประกาศได้ไม่นาน ห้องก็เต็มทั้งหมดแม้ว่าจะมีราคาที่ค่อนข้างแพงก็ตาม (ห้องสตูดิโอขนาด 30 ตารางเมตร ราคา 360,000 เยนต่อเดือน และห้องสตูดิโอขนาดใหญ่ที่เชื่อมกัน ราคา 720,000 เยนต่อเดือน)

กลยุทธ์ใหม่นี้อาจประสบความสำเร็จเพียงเพราะชื่อที่โด่งดังของโรงแรมก็ได้ แต่ดูเหมือนว่าความต้องการเข้าพักในโรงแรมสุดหรูแบบยาวๆ ก็มีอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร โรงแรมอิมพีเรียลได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะมีการรื้อถอนอาคารหลักของโรงแรมในปี 2031 และสร้างอาคารใหม่ที่ทันสมัยแทน ซึ่งมีกำหนดการเปิดในปี 2036 และบริษัทหวังว่าจะได้กำไรจากการท่องเที่ยวหลังระลอกการระบาดตามที่คาดการณ์ไว้

โรงแรม New Otani และอื่นๆ กับการเปิดเช่าห้องสำหรับทำงาน

Hotel New Otani/PR Times

หนึ่งในกลยุทธ์ที่โรงแรมและเรียวกัง (โรงแรมสไตล์ญี่ปุ่น) นิยมใช้กันมากที่สุดเพื่อใช้ประโยชน์จากห้องพักที่ว่างคือ แผน telework หรือการเปิดเช่าห้องในเวลางาน แผนเหล่านี้มีราคาแตกต่างกัน แต่มักจะอยู่ในช่วงราคา 5,000 – 10,000 เยนต่อวัน ตัวอย่างเช่น โรงแรม New Otani ในโอซาก้า เสนอราคา 30,000 เยน สำหรับ 30 วัน โดยห้องพักจะเปิดตั้งแต่ 8:00-20:00 น.

PIXTA

โดยจะมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ใช้บริการ และอาจมีสิทธิพิเศษ เช่น สามารถใช้ห้องซาวน่าและห้องอาบน้ำ หรือบริการอาหารเช้าได้อีกด้วย เป็นที่ชัดเจนว่าโรงแรมเหล่านี้ต้องการลูกค้าและตั้งใจที่จะทดลองกลยุทธ์ใหม่ๆ

ความสร้างสรรค์เท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอด

โรงแรมใหญ่ๆ หลายแห่งเหมือนจะกำลังคาดหวังให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวเต็มที่และกลับสู่สภาวะก่อนเกิดโรคระบาดเร็วๆ แต่โรงแรมบางแห่งอย่างที่กล่าวไปในบทความนี้ก็ไม่ได้รอเพียงอย่างเดียว ด้วยความพยายามอย่างหนักในการดำเนินการฉีดวัคซีน พวกเราหวังว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติในไม่ช้า แต่ในขณะเดียวกัน โรงแรมต่างๆ ในญี่ปุ่นก็จำเป็นจะต้องหาวิธีการที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้และสามารถรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: