คำเหมือนต่างความหมาย!? มารู้จักภาษาถิ่นของญี่ปุ่นกันเถอะ!

Oyraa

ภาษาถิ่น (方言) ก็คือภาษาเฉพาะที่ใช้กันในแต่ละพื้นที่ ประเทศอย่างญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยเกาะมากมายตั้งแต่เหนือจรดใต้นั้นย่อมไม่แปลกที่จะมีภาษาถิ่นหลากหลายต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ในบทความนี้เราจะมานำเสนอคำที่มีความหมายต่างออกไปโดยสิ้นเชิงเมื่อนำไปใช้ในคนละภูมิภาค รวมถึงวิธีใช้คำเหล่านั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไปพร้อมกันเลย!

ภาษาถิ่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

Photo:PIXTA

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครระบุได้แน่ชัดว่าภาษาถิ่นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ก็มีทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอยู่ 2 ทฤษฎี ดังนี้

ทฤษฎีแรกกล่าวว่าเกิดจากการถ่ายทอดข้อมูลที่ต้องใช้เวลานานเนื่องจากการเดินทางในสมัยก่อนไม่ได้สะดวกเหมือนอย่างในปัจจุบัน เช่น สมมติว่ามีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นในโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น คำนั้นก็จะถูกส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มจากพื้นที่รอบโตเกียวก่อนจะกระจายไปยังฮอกไกโดทางตอนเหนือและโอกินาว่าทางตอนใต้

หากเป็นในปัจจุบันที่มีการคมนาคมขนส่งที่ดี มีโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูล ก็จะสามารถแพร่กระจายคำศัพท์ใหม่เหล่านั้นไปได้ทันที แต่สมัยก่อนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตและการคมนาคมก็ไม่ได้สะดวกเหมือนในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีคนเดินทางผ่านไปมาระหว่างจังหวัดมากนัก วิธีการส่งข้อมูลก็ใช้คนเป็นสื่อกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ การกระจายคำศัพท์ใหม่ไปยังภูมิภาคต่างๆ จึงทำได้ช้ากว่ามาก กว่าจะกระจายไปทั่วประเทศได้อาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว แถมกว่าจะเข้าไปถึงภูมิภาคต่างๆ คำเหล่านั้นก็อาจจะล้าสมัยไปแล้วในโตเกียว ในขณะที่คำใหม่ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าเมื่อเกิดกระบวนการนี้ขึ้นซ้ำๆ ก็จะมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ที่ยังใช้คำนั้นอยู่กับพื้นที่ที่ไม่มีคำนั้นแล้ว จนกลายเป็นภาษาถิ่นในที่สุด

ทฤษฎีที่สอง คือ สมัยก่อนแต่ละภูมิภาคจะประกอบขึ้นเป็น “คุนิ (kuni / ประเทศ)” ว่ากันว่าแต่ละคุนิก็สร้างคำของตัวเองขึ้นมาซึ่งใช้กันภายในคุนินั้น และได้กลายเป็นภาษาถิ่นในเวลาต่อมา

แนะนำภาษาถิ่นน่ารู้ คำเดียวกันแต่ความหมายต่างกัน!

(1) ภูมิภาคฮอกไกโด และโทโฮคุ

ゴミを「なげる」(Gomi wo nageru)

ถ้าพูดถึงคำว่า「なげる (nageru)」ในภาษามาตรฐานจะเห็นภาพเป็นการโยนของออกจากมือ แต่ในแถบฮอกไกโดและโทโฮคุ「なげる」จะหมายถึง “ทิ้ง” หรือก็คือ ถ้าพูดว่า「ゴミをなげる (gomi wo nageru)」จะหมายถึง “ทิ้งขยะ” นั่นเอง

ตัวอย่าง   「このゴミなげておいて!」
    (kono gomi nagete oite!)
ความหมาย → 「このゴミ捨てておいて! 」
     (kono gomi sutete oite!)

คำแปล  เอาขยะไปทิ้งด้วย!

ระวังอย่าเอาขยะไปโยน (なげる) จริงๆ ล่ะ!

体が「こわい」(Karada ga kowai)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「こわい (kowai)」อาจจะหมายถึง “น่ากลัว” แต่ในแถบฮอกไกโดและโทโฮคุ คำนี้จะแปลว่า “เหนื่อย” หรือ “เจ็บปวด” ดังนั้นประโยคว่า「体がこわい (karada ga kowai)」จึงหมายถึง “ร่างกายอ่อนล้า” นั่นเอง

ตัวอย่าง 「仕事が忙しかったから体がこわい」
    (shigoto ga isogashikatta kara karada ga kowai)
ความหมาย → 「仕事が忙しかったから体が疲れた」
    (shigoto ga isogashikatta kara karada ga tsukareta)

คำแปล เพราะงานยุ่งมาก เลยทำงานจนร่างกายล้าไปหมด

นอกจากนี้ยังใช้ในกรณีรู้สึกป่วยหรือสภาพร่างกายไม่ค่อยดีได้ด้วย เช่น 「なんか体がこわい (nanka karada ga kowai)」ในที่นี้จะหมายถึง “รู้สึกไม่ค่อยสบายเลย” นั่นเอง

ส่วนในโอซาก้า คำว่า「こわい (kowai)」จะหมายถึง “ยาก” จึงจะเห็นได้ว่าในแต่ละพื้นที่ก็มีวิธีใช้ในรูปแบบที่ต่างกันไป

(2) ภูมิภาคชูบุ

靴が「きもい」(Kutsu ga kimoi)

Photo:PIXTA

คำว่า「きもい (kimoi)」เป็นภาษาวัยรุ่นที่ย่อมาจากคำว่า「気持ち悪い (kimochi warui)」แปลว่า “รู้สึกไม่ดี รังเกียจ หรือขยะแขยง” แต่ในจังหวัดไอจิ และจังหวัดกิฟุ คำนี้มีความหมายว่า “คับแน่น” หรือ “คับแคบ” กล่าวคือ「靴がきもい (kutsu ga kimoi)」ในที่นี้จะแปลว่า “รองเท้าคับ” นั่นเอง

ตัวอย่าง 「この洋服、少しきもいな~」
    (kono youfuku sukoshi kimoina)
ความหมาย → 「この洋服、少しきついな~」
    (kono youfuku sukoshi kitsuina)

คำแปล เสื้อตัวนี้ออกจะคับไปหน่อยนะ

ถ้าลองรองเท้าหรือเสื้อผ้าแล้วรู้สึกว่าไซส์เล็กไป หรือรู้สึกว่าที่นั่งหรือห้องแคบเกินไป ก็ลองพูดแบบนี้ดูนะ

体調が悪い友達のために「からかった(からかう)」(Karakatta)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「からかう (karakau)」หมายถึง “ทำให้ลำบากใจ” หรือ “เล่นแผลงๆ” แต่ในจังหวัดยามานาชิคำนี้หมายถึง “ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้” หรือก็คือ「体調が悪い友達のためにからかった (taichou ga warui tomodachi no tame ni karakatta)」จะหมายความว่า “ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อเพื่อนที่กำลังป่วย” นั่นเอง

ตัวอย่าง   「一生懸命からかって、やっと直した」
    (issyoukenmei karakatte yatto naoshita)
ความหมาย → 「一生懸命手を尽くして、やっと直した」
    (issyoukenmei tewo tsukushite yatto naoshita)

คำแปล หลังจากที่พยายามทำทุกวิถีทาง สุดท้ายก็แก้ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เมื่อต้องการบอกว่าพยายามลองผิดลองถูกเพื่อทำบางอย่างอยู่ ถ้าอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ แบบนี้ก็ลองเอาคำนี้ไปใช้ดูนะ

(3) ภูมิภาคคันไซ

本を「なおす」(Hon wo naosu)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「なおす (naosu)」หมายถึง “ซ่อมแซม” หรือ “รักษา” แต่ในคันไซจะแปลว่า “เก็บกวาดทำความสะอาด” หรือ “จัดให้เป็นระเบียบ” ดังนั้น「本をなおす (hon wo naosu)」ในที่นี้จะหมายความว่า “จัดหนังสือ” นั่นเอง

ตัวอย่าง   「洗濯物をなおしておいて!」
    (sentakumono wo naoshite oite!)
ความหมาย → 「洗濯物を片付けておいて!」
    (sentakumono wo katazukete oite!)

คำแปล เอาผ้าไปซักด้วย!

นอกจากนี้ในภูมิภาคชูโกคุ และคิวชูเองก็ใช้คำว่า「なおす (naosu)」ในความหมายว่า “เก็บกวาดทำความสะอาด” หรือ “จัดให้เป็นระเบียบ” ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นถ้าอยากจัดหรือทำความสะอาดอะไรสักอย่างก็ลองเอาคำนี้ไปใช้ดูได้

机を「つる」(Tsukue wo tsuru)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「つる (tsuru)」หมายถึงการเกี่ยวและพยุงสิ่งของไม่ให้หล่น แต่ในจังหวัดมิเอะ คำนี้จะแปลว่า “ขนย้าย” ดังนั้น「机をつる (tsukue wo tsuru)」จะหมายถึง “ขนย้ายโต๊ะ” นั่นเอง

ตัวอย่าง 「この荷物をあそこまでつってください」
    (kono nimotsu wo asoko made tsutte kudasai)
ความหมาย → 「この荷物をあそこまで運んでください」
    (kono nimotsu wo asokomade hakonde kudasai)

คำแปล ช่วยขนสัมภาระไปวางไว้ตรงโน้นให้หน่อยนะ

นอกจากนี้ในจังหวัดกิฟุและจังหวัดไอจิเองก็แปลคำนี้เป็นคำว่า “ขนย้าย” เหมือนกัน ดังนั้นถ้าต้องไปขนของหรืออยากให้คนอื่นช่วยขนของให้ ก็สามารถนำคำนี้ไปใช้ได้

(4) ภูมิภาคชูโกคุ และชิโคคุ

人が「もえる」(Hito ga moeru)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「もえる (moeru)」จะหมายถึงสภาวะที่เปลวไฟกำลังลุกไหม้ แต่ในจังหวัดทตโตริ และจังหวัดโทคุชิมะ คำนี้จะหมายถึง “เพิ่มขึ้น” ดังนั้น「人がもえる (hito ga moeru)」จะหมายถึง “มีคนเพิ่มขึ้น” นั่นเอง

ตัวอย่าง 「気づいたら財布の中のお金が燃えていた」
    (kizuitara saifu no nakano okane ga moeteita)
ความหมาย → 「気づいたら財布の中のお金が増えていた」
    (kizuitara saifu no nakano okane ga fueteita)

คำแปล รู้ตัวอีกที เงินในกระเป๋าสตางค์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังใช้ในความหมายว่า「大きくなる (okikunaru)」หรือ “การเติบโต” ได้ด้วย ดังน้ัน 「畑で育てていた野菜がもえた (hata de sodateita yasai ga moeta)」ก็จะแปลได้ว่า “ผักที่ปลูกในไร่โตแล้ว”

お腹が「おきる」(Onaka ga okiru)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「おきる (okiru)」แสดงถึงสภาวะที่เปลี่ยนจากการนอนราบเป็นตั้งตรง (ตื่น) แต่ในจังหวัดคากาวะ (Kagawa) และโทคุชิมะคำนี้จะความหมายว่า “อิ่ม” ดังนั้น「お腹がおきる (onaka ga okiru)」จึงหมายความว่า “อิ่มแล้ว” นั่นเอง

ตัวอย่าง   「お腹がおきるものが食べたい」
    (onaka ga okiru mono ga tabetai )
ความหมาย → 「お腹がいっぱいになるものが食べたい」
    (onaka ga ippai ni narumono ga tabetai)

คำแปล อยากกินอะไรให้อิ่มท้อง

ถ้าอยากจะพูดว่าอิ่มแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลังมื้ออาหารหรือก่อนทานข้าวที่ยังรู้สึกอิ่มจากมื้อที่แล้วอยู่ ก็ลองเอาคำนี้ไปใช้กันได้เลย

(5) ภูมิภาคคิวชู และโอกินาว่า

服が「いやらしい」(Fuku ga iyarashii)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน คำว่า「いやらしい (iyarashii)」หมายถึง “น่ารังเกียจ” แต่ที่จังหวัดซากะคำนี้จะแปลว่า “น่ารัก” หรือก็คือถ้าพูดว่า 「服がいやらしい (fuku ga iyarashii)」ก็จะหมายถึง “เสื้อผ้าน่ารัก” นั่นเอง

ตัวอย่าง 「今日の髪型、やらしかねー(いやらしい)」
    (kyou no kamigata yarashikane~)
ความหมาย →「今日の髪型、かわいいねー」
    (kyou no kamigata kawaiine~)

คำแปล วันนี้ทำผมมาน่ารักจังเลยนะ

ตอนได้ยินคำว่า「いやらしい (iyarashii)」ในแบบภาษาถิ่นครั้งแรกอาจจะน่าตกใจไม่น้อย เพราะความหมายต่างจากภาษากลางโดยสิ้นเชิง แต่ถึงอย่างนั้นคำนี้ก็นับเป็นคำชมที่ดีคำหนึ่ง ถ้าอยากจะชมใครสักคนหรือเห็นอะไรน่ารักๆ ก็อย่าลืมเอาคำนี้ไปลองใช้ดูล่ะ!

私も「かたらして(かたる)」(Watashi mo katarashite)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน 「かたる (kataru)」 หมายถึง “การพูด” หรือ “โป้ปดหลอกลวง” แต่ในจังหวัดฟุกุโอกะคำนี้หมายถึง “การเข้ากลุ่ม” หรือ “การเข้าร่วม” ดังนั้น ถ้าพูดว่า「私もかたらして (watashi mo katarashite)」จะหมายถึง “ให้ฉันเข้าร่วมกลุ่มด้วยสิ” นั่นเอง

ตัวอย่าง 「〇〇もゲームにかたる?」
    (〇〇mo ge-mu ni kataru?)
ความหมาย → 「〇〇もゲームに参加する?」
    (〇〇mo ge-mu ni sanka suru?)

คำแปล 〇〇 จะมาเล่นเกมด้วยกันไหม

ถ้ามีโอกาสไปร่วมกิจกรรม หรืออยากชวนเพื่อนไปไหนด้วยกัน ก็ลองเอาคำนี้ไปใช้ดูนะ

もう帰りましょうね (しましょうね) (Mou kaerimashoune)

Photo:PIXTA

ในภาษามาตรฐาน「しましょう (shimashou)」จะใช้ในการเชิญชวน แต่ในจังหวัดโอกินาว่าจะหมายถึง “(ฉัน) จะทำ” หรือก็คือ ถ้าพูดว่า「もう帰りましょうね (mou kaerimashou)」จะหมายถึง “ฉันจะกลับบ้านแล้ว” นั่นเอง

ตัวอย่าง  「これ片づけましょうね」
    (kore katazuke mashoune)
ความหมาย →「これ片づけますね」
    (kore katazuke masune)

คำแปล ฉันเก็บอันนี้ไปเลยนะ

ครั้งแรกที่ได้ยินอาจจะสับสนว่าอีกฝ่ายกำลังชวนเราอยู่รึเปล่า แต่ความจริงแล้วเป็นการพูดเพื่อบอกว่าเจ้าตัวจะเป็นคนทำสิ่งนั้นเอง ไม่ได้ชวนให้ทำอะไรด้วยกัน

จนถึงตอนนี้เราได้แนะนำที่มาของภาษาถิ่นและภาษาถิ่นที่น่าสนใจของแต่ละภูมิภาคไปแล้ว ถ้ามีโอกาสไปภูมิภาคที่แนะนำไปข้างต้นก็ลองคุยกับคนในพื้นที่ด้วยภาษาถิ่นดูนะ ถ้าพูดกับคนท้องถิ่นด้วยภาษาที่พวกเขาคุ้นเคย ก็อาจจะคุยกันได้ลื่นไหลขึ้นและทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นก็ได้!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: