[คู่มือป้องกันภัยพิบัติ] สิ่งที่ต้องระวังเมื่ออยู่ญี่ปุ่น ประเทศที่เต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ!

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยครั้ง บทความนี้เราจะแนะนำประเภทและความเสี่ยงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการป้องกันและ ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
Oyraa

การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด! สิ่งที่ต้องเตรียมและสิ่งที่ต้องรู้

Photo: PIXTA

มาดูหัวข้อด้านล่างและตรวจสอบไปพร้อมกันเพื่อเตรียมพร้อมกับภัยธรรมชาติ หากเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

1. ยึดเฟอร์นิเจอร์ไม่ให้ล้ม

สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่สูงและล้มง่ายอย่างตู้และชั้นหนังสือนั้น แนะนำให้ใช้ตัวยึดเฟอร์นิเจอร์กันล้มที่มีขายตาม Home Center และที่อื่นๆ เพื่อยึดให้แน่น นอกจากนี้ เวลาจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้คำนึงด้วยว่าแม้ตู้เกิดล้มหรือลิ้นชักเกิดกระเด็นออกมา ก็จะไม่ขวางทางเข้าออกหรือเส้นทางการอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ควรใส่ใจกับการจัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเตาผิงที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ให้ดี

2. กักตุนอาหาร

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ คุณอาจจะไม่สามารถทำอาหารได้เนื่องจากไฟฟ้าดับ หรืออาจต้องติดอยู่ศูนย์อพยพเป็นเวลานาน ดังนั้นควรกักตุนน้ำดื่ม (2 – 3 ลิตร/วัน/คน) อาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และอาหารสำเร็จรูปไว้ให้มากๆ ปริมาณอาหารที่ควรกักตุนคือให้พอใช้ประมาณ 3 วัน เราขอแนะนำวิธีการ Rolling Stock หรือการซื้อมาใช้ไป โดยกักตุนอาหารที่คุณกินอยู่แล้วเป็นปกติให้มากขึ้นหน่อย และเมื่อนำออกมารับประทานก็ซื้อกลับเข้ามาใหม่ เพียงเท่านี้ก็สามารถกักตุนอาหารฉุกเฉินได้โดยไม่ค้องคอยตรวจสอบวันหมดอายุ

3. เตรียมอุปกรณ์ป้องกันภัย

แน่นอนว่าเครื่องดื่ม อาหาร เงินสด และของมีค่านั้นเป็นสิ่งที่ต้องจัดเตรียม แต่ก็ควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับเผื่อเกิดเหตุการณ์โครงสร้างพื้นฐานหยุดชะงักไว้ด้วย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง และแบตเตอรี่สำรองสำหรับมือถือไว้เผื่อกรณีไฟฟ้าดับ นอกจากของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างชุดแปรงสีฟัน กระดาษชำระ ผ้าเช็ดตัว และผ้าอนามัยแล้ว ควรเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น เตาแก๊สแบบพกพา ห้องน้ำแบบพกพา อุปกรณ์ทำแผลต่างๆ ไว้ให้พร้อมเพื่อความสบายใจด้วย สินค้าเหล่านี้ไม่เพียงแต่ขายทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังมีจำหน่ายในร้านขายยาและ Home Center ด้วยเช่นกัน

※บทความที่เกี่ยวข้อง: “อุปกรณ์ป้องกันภัยพิบัติ”
https://tsunagulocal.com/21751/

4. เตรียมเครื่องมือที่มีประโยชน์ในเวลาเกิดภัยพิบัติ

ข้อมูลมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาหารและอุปกรณ์ป้องกันภัย คอยตรวจสอบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับภัยพิบัติและแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยบ่อยๆ นอกจากนี้ ให้บันทึกคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เป็นประโยชน์เวลาเกิดภัยพิบัติไว้ในมือถือ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างทันท่วงที

5. เข้าใจถึงความเสี่ยงของภัยพิบัติ และแบ่งปันข้อมูลกับคนในครอบครัว

ตรวจสอบเส้นทางอพยพและที่ตั้งศูนย์อพยพในแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัย และแบ่งปันข้อมูลกับคนในครอบครัวและคนรู้จัก โดยกำหนดสถานที่รวมตัวหลังภัยพิบัติสงบลงในกรณีที่ประสบกับภัยพิบัติในขณะที่อยู่ข้างนอก นอกจากนี้ ให้จดบันทึกข้อมูลติดต่อฉุกเฉินสำหรับครอบครัวและคนรู้จักของคุณลงในกระดาษและพกติดตัวไว้ด้วย เป็นการเตรียมพร้อมเผื่อไว้ในกรณีที่โทรศัพท์มือถือของคุณเสียหาย

6. เข้าร่วมการฝึกอพยพ

มาเข้าร่วมในการฝึกอบรมการอพยพที่ดำเนินการโดยหน่วยงานท้องถิ่นสถานที่จัดขึ้นในสถานประกอบการ โรงเรียน ฯลฯ กันเถอะ แม้ว่าคุณจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันภัย สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มีความหมายหากคุณไม่สามารถอพยพออกไปได้อย่างปลอดภัย การฝึกอบรมจะทำให้คุณได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงว่าต้องปฏิบัติอย่างไรหลังเกิดภัยพิบัติ ทั้งยังเป็นการตรวจสอบเส้นทางอพยพไปในตัวด้วย หน่วยงานท้องถิ่นและบริษัทบางแห่งยังมีการแจกจ่ายอาหารโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม ซึ่งสามารถแจ้งล่วงหน้าได้หากมีอาหารที่เราไม่สามารถรับประทานได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือการแพ้ก็ตาม (ทางสำนักรัฐมนตรีมีนโยบายให้องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ให้ความร่วมมือเท่าที่จะทำได้)

7. ทำประกันอัคคีภัยและประกันแผ่นดินไหว

พิจารณาและทำประกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเสียหายต่อบ้านหรือของใช้ในบ้านอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ อธิบายอย่างคร่าวๆ คือ ประกันอัคคีภัยจะรับประกันความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้อาคารและของใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย แต่ไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และสึนามิ หากต้องการประกันความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และสึนามิด้วย ก็จำเป็นต้องทำประกันแผ่นดินไหวเพิ่มด้วย โดยประกันภัยแผ่นดินไหวจะต้องทำเป็นชุดพร้อมประกันอัคคีภัย โดยไม่สามารถทำสัญญาแยกกันได้

การเตรียมพร้อมเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน! ศึกษาแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยล่วงหน้า

แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยคือแผนที่คาดการณ์ความเสียหายที่จัดทำโดยรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่น โดยเป็นแผนที่ที่คาดการณ์ตำแหน่งและประเมินระดับความเสียหายที่ถือเป็นอันตรายในบริเวณรอบๆ เมื่อเกิดภัย รวมถึงเส้นทางอพยพและสถานที่อพยพด้วย โดยมีการแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น:
– แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (洪水ハザードマップ)
– แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในตัวเมือง (内水ハザードマップ)
– แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม (土砂災害ハザードマップ)
– แผ่นดินไหว (คาดการณ์ความเสียหายของอาคาร และความเสี่ยงในการเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินเหลว)
– สึนามิ (เวลาที่เหลือก่อนการปะทะของคลื่นลูกแรก, พื้นที่ที่จะโดนน้ำท่วม)
– ภูเขาไฟระเบิด (บริเวณรอบๆ ภูเขาไฟ 49 ลูกทั่วประเทศ)
โดยได้มีการจัดทำออกมาหลากหลายภาษา ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ประจำจังหวัดต่างๆ 
ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ อาจมีผู้ใช้งานเว็บไซต์เป็นจำนวนมากจนทำให้คุณไม่สามารถเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ได้ ดังนั้นคุณควรพกแผนที่ฉบับกระดาษติดไว้ในกระเป๋าฉุกเฉินด้วย โดยแผนที่ฉบับจริงนั้นคุณสามารถรับได้ทางไปรษณีย์หรือที่ว่าการรัฐ หรือจะพิมพ์ออกมาจากหน้าเว็บไซต์โดยตรงเลยก็ได้ เมื่อได้รับแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยมาแล้ว อย่าลืมตรวจสอบตำแหน่งโรงเรียน ที่ทำงานต่างๆ ของตัวเองและคนในครอบครัวไว้ด้วย

 ※รูปประกอบนี้เป็นแผนที่แจกแจงภัยของ เขตเซตายากะ จังหวัดโตเกียว โดยรายละเอียดภายในจะแตกต่างกันไปแล้วแต่หน่วยงานท้องถิ่นนั้นๆ

วิธีรับข่าวสารเวลาเกิดภัยพิบัติ
(เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง)

เวลาเกิดภัยพิบัติ การรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นอาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ดังนั้นอย่าเพิ่งเชื่อข่าวลือ แต่ให้รวบรวมข้อมูลจากทางโทรทัศน์และหน่วยงานของรัฐก่อน เราขอแนะนำแอปพลิเคชันและเว็บไซต์หลายภาษาที่มีประโยชน์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เช่น ข้อมูลภัยพิบัติ ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลการจราจรและการค้นหาศูนย์อพยพ

● แอปพลิเคชัน

・Safety tips (รองรับ 14 ภาษา)
ให้ข้อมูลในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ
https://www.jnto.go.jp/safety-tips/eng/app.html

・Japan Official Travel App (ภาษาอังกฤษ, ภาษาเกาหลี, ภาษาจีน(ตัวเต็ม), ภาษาจีน(ตัวย่อ))
แอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จัดทำโดย JNTO และยังสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติและข้อมูลการจราจรรได้อีกด้วย
https://www.jnto.go.jp/smartapp/eng/about.html

・NHK WORLD-JAPAN (รองรับ 17 ภาษา)
สามารถติดตามข่าวของช่อง NHK รวมถึงข้อมูลแผ่นดินไหวและสึนามิได้
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/app/

・แอปพลิเคชัน “goo防災” (ภาษาอังกฤษ, ภาษาเกาหลี, ภาษาจีน(ตัวเต็ม), ภาษาจีน(ตัวย่อ))
นอกเหนือจากข้อมูลการป้องกันภัยพิบัติและข้อมูลภัยพิบัติที่เป็นประโยชน์ในเวลาปกติแล้ว คุณยังสามารถค้นหาศูนย์อพยพได้ด้วย
http://advance.bousai.goo.ne.jp/web/

แอปพลิเคชัน “東京都防災” (ภาษาอังกฤษ, ภาษาเกาหลี, ภาษาจีน(ตัวเต็ม), ภาษาจีน(ตัวย่อ))
สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลภัยพิบัติและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติผ่านนสื่อการอ่านและแบบทดสอบ
https://www.bousai.metro.tokyo.lg.jp/1005744/index.html

・Voice Tra
แอปแปลภาษาจากเสียงที่คุณพูด (รองรับ 31 ภาษา)
https://voicetra.nict.go.jp/

● เว็บไซต์

・กรมอุตุนิยมวิทยา(รองรับ 11 ภาษา)
https://www.jma.go.jp/jma/kokusai/multi.html

・หน้าข้อมูลการป้องกันภัยพิบัติของสำนักงานคณะรัฐมนตรี(ภาษาอังกฤษ)
http://www.bousai.go.jp/

・สำนักนายกรัฐมนตรี(ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน)
kantei.go.jp/jp/headline/bousai/sonae.html

・Stay Safe with NHK WORLD-JAPAN (รองรับ 18 ภาษา)
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/special/staysafe/

・Tokyo Metropolitan International Exchange Committee
“ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันภัยพิบัติและภัยพิบัติ”
(รองรับ 7 ภาษา และภาษาอื่นด้วย Google translate)
https://www.tokyo-icc.jp/information/howto.html

・Tokyo Metropolitan Disaster Prevention (รองรับ 9 ภาษา)
https://www.bousai.metro.tokyo.lg.jp/index.html

・ระบบข้อมูลป้องกันน้ำท่วมกรุงโตเกียว (ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน, ภาษาเกาหลี)
http://www.kasen-suibo.metro.tokyo.jp/im/tsim0101g.html

・Tokyo Amesh (ภาษาอังกฤษ, ภาษาเกาหลี, ภาษาจีน(ตัวเต็ม), ภาษาจีน(ตัวย่อ))
https://tokyo-ame.jwa.or.jp/

・แผนที่พื้นที่เตือนภัยดินโคลนถล่ม (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น)
http://www2.sabomap.jp/tokyo/index.php

นอกจากนี้ คุณยังสามารถตรวจสอบข้อมูลการอพยพในพื้นที่ ข้อมูลการจัดตั้งศูนย์อพยพ และข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ที่หน้าโฮมเพจของหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในเขตที่พำนักของคุณ

● โทรทัศน์

※ตำแหน่งปุ่ม “d” จะแตกต่างกันไปตามรุ่นของรีโมท

หากกดปุ่ม “d” บนรีโมทคอนโทรลขณะรับชมการแพร่ภาพดิจิตอลภาคพื้นดิน คุณจะสามารถตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลระดับน้ำ คำแนะนำในการอพยพจากหน่วยงานปกครองท้องถิ่น และการแจ้งเปิดศูนย์พักพิงสำหรับผู้อพยพได้

การติดต่อฉุกเฉินทางโทรศัพท์

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ มีความเป็นไปได้ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์จะตีกัน หรืออาจไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากการใช้งานของผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อความอุ่นใจคุณควรท่องจำหรือจดเบอร์ติดต่อฉุกเฉินเอาไว้

・คอลเซ็นเตอร์ Japan Visitor Hotline โดย JNTO: 050-3816-2787
ศูนย์รับเรื่องหลายภาษาที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงและ 365 วัน เพื่อความปลอดภัยและความอุ่นใจของนักเดินทางชาวต่างชาติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
https://www.japan.travel/en/plan/hotline/

・รถพยาบาลและรถดับเพลิง: 119 
หากคุณได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ไม่สามารถหนีออกมาได้เนื่องจากอาคารถล่ม หรือเกิดเพลิงไหม้ ให้โทรไปที่หมายเลขนี้

・สถานีตำรวจ: 110
โทรแจ้งตำรวจในกรณีที่มีการลักทรัพย์เวลามีภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุจราจร นอกจากนี้ หากถนนถูกปิดกั้นโดยดินถล่มหรือพบผู้สูญหาย ก็สามารถติดต่อไปที่สถานีตำรวจได้เช่นกัน

・โทรฝากข้อความเมื่อเกิดภัยพิบัติ: 171
ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อไปยังพื้นที่ประสบภัยได้เนื่องจากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ระบบฝากข้อความจะเริ่มเปิดให้ใช้งาน
<วิธีใช้งาน>
 STEP 1: กดโทรออกเบอร์ 171
 STEP 2: กด 1 (ฝากข้อความ) หรือ กด 2 (ฟังข้อความ)
 STEP 3: ป้อนหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่คุณต้องการติดต่อ

Moses.Cao / Shutterstock.com

จากบทความนี้เราหวังว่าจะทำให้คุณมองเห็นว่าการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัตินั้นสำคัญมาก ให้คุณลองนึกภาพว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นกับตัวคุณ คุณจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด
แน่นอนว่าภัยพิบัติครั้งใหญ่คงไม่ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในชีวิตของคุณ นั่นเป็นเหตุผลว่าการเตรียมพร้อมที่ดีจะทำให้คุณสามารถรักษาชีวิตของคุณได้ เพราะภัยพิบัติมักมาเยือนในยามที่เราไม่ทันได้ตั้งตัวเสมอ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: