คู่มือเข้ารับการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่น พร้อมวิธีหาสถานพยาบาลที่รองรับภาษาต่างประเทศ

Oyraa

การใช้ชีวิตในประเทศที่ไม่คุ้นเคยอย่างญี่ปุ่น บางครั้งก็มีปัญหาสุขภาพกะทันหันเกิดขึ้นได้ ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำวิธีการหาโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ พร้อมบอกวิธีเข้ารับการรักษาและวิธีดูแลตนเองหลังการรักษา เพื่อที่ว่าหากมีอะไรเกิดขึ้น คุณจะได้ไม่ตื่นตระหนก และสามารถควบคุมสติไปทำอะไรๆ ได้ค่ะ

อยากรู้จักสถานพยาบาลที่สื่อสารภาษาต่างประเทศได้? แนะนำเว็บนี้เลย!

การใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรา ถึงจะพยายามระมัดระวังตัวมากขนาดไหน แต่ก็อาจเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่สบายได้อยู่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยให้คุณไม่ลนลานและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นเวลาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เราจะมาแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติตัวง่ายๆ กันค่ะ

อย่างแรก คือ เราต้องเลือกสถานพยาบาลที่จะไปก่อนค่ะ หากใครสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ก็สามารถไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้เลย แต่สำหรับคนที่ไม่มั่นใจในทักษาภาษาญี่ปุ่นของตนเอง เราแนะนำให้ลองไปสถานที่ที่สามารถติดต่อเป็นภาษาต่างประเทศได้จะดีกว่า ข้อมูลด้านล่างนี้ เป็นสถานพยาบาล 2 แห่งที่คุณสามารถใช้บริการเป็นภาษาต่างประเทศได้ค่ะ

Medical Excellence JAPAN
ภาษาที่ให้บริการ: ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน, ภาษารัสเซีย
เว็บไซต์: https://medicalexcellencejapan.org/jp/

■Japan National Tourism Organization
ภาษาที่ให้บริการ: ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน, ภาษาจีน (ไต้หวัน), ภาษาเกาหลี
เว็บไซต์: https://www.jnto.go.jp/

ค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นราคาเท่าไร? แล้วเราต้องจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์?

ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบเองจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศอาจมีรัฐบาลที่ช่วยออกเงินค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด บางที่ก็ให้ตามประกันสุขภาพที่มี หรือบางทีก็คิดตามเรทรายได้ค่ะ แล้วที่ญี่ปุ่นล่ะเป็นอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นกันก่อนค่ะ ที่ญี่ปุ่นหากได้รับบาดแผลหรือโรคอะไรก็ตาม ก็จะมีระบบประกันของรัฐ หรือ Kokumin Hosho Hoken Seido (国民皆保険制度) ที่ประชาชนทุกคนจะต้องเสียเงินซื้อค่ะ ชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นเกิน 3 เดือนก็จำเป็นต้องจ่ายเงินส่วนนี้เช่นกัน และเมื่อคุณจ่ายเงินค่าประกันตัวนี้แล้วก็จะมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเท่าๆ กับคนญี่ปุ่นเลย ซึ่งส่วนที่ผู้ป่วยจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองนั้น ตามปกติจะอยู่ที่ 30% ของค่ารักษาค่ะ

ประกันประชาชนของรัฐแบ่งเป็น 5 ประเภทย่อย

・ประกันสุขภาพ (ลูกจ้าง)
・ประกันสุขภาพแห่งชาติ (นักเรียนแลกเปลี่ยน)
・ประกันสหภาพแรงงาน
・ประกันนักเดินเรือ
・ระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุ

ส่วนใหญ่ที่ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นซื้อกันจะเป็น “ประกันสุขภาพ” หรือไม่ก็ประกันสุขภาพแห่งชาติค่ะ

หากคุณมีประกันประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว หากต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเข้ารับการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็สามารถใช้ประกันตรงนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายได้ค่ะ เรามารู้จักกับระบบการลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ทั้ง 2 ประเภทกันดีกว่า 

ระบบกำหนดเพดานค่าใช้จ่าย (ลงทะเบียนล่วงหน้า) (限度額適用認定証)

ในกรณีที่คุณรู้กำหนดการการเข้าโรงพยาบาลหรือเข้ารับการผ่าตัดที่จำเป็นแล้ว เราแนะนำให้ไปลงทะเบียนระบบกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายไว้ก่อนเลยค่ะ ในระบบนี้ เราจะต้องจ่ายเงินรายเดือนเพียงแค่ภายในลิมิตเท่านั้น (แตกต่างตามเงินเดือน) เพราะส่วนที่เหลือ ทางสมาพันธ์ประกันสุขภาพญี่ปุ่น (Japan Health Insurance Association) จะเป็นผู้ออกให้ค่ะ

ระบบค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ (ลงทะเบียนย้อนหลัง) (高額療養費制度)

เช่นเดียวกับระบบด้านบนที่สมาพันธ์ประกันสุขภาพญี่ปุ่นจะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ที่แตกต่างก็คือ ในระบบนี้ ผู้ป่วยต้องออกค่ารักษาเองก่อนล่วงหน้าค่ะ เนื่องจากอาจจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะได้รับเงินคืนมา คุณจึงจำเป็นต้องสำรองเงินไปก่อนค่ะ หากมีการเข้าโรงพยาบาล หรือเข้าผ่าตัดกระทันหัน ก็สามารถใช้ได้ค่ะ

จะไปรักษาต้องจองล่วงหน้า?

ญี่ปุ่นมีประเภทของสถานพยาบาลอยู่มากมาย ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกันก่อนเลยดีกว่า

▼สถานพยาบาลขนาดเล็ก

・คลินิก (診療所、医院) ถือเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็กค่ะ
・มีเตียงน้อยกว่า 19 เตียง
・เน้นรักษาโรคไม่ร้ายแรง, บาดแผล, อาการโรคเรื้อรัง
・มักจะเป็นสถานที่ที่ระบุประเภทของโรคอย่างจำเพาะ เช่น โรคภายใน หรือ สูติ-นรีเวชวิทยา

▼สถานพยาบาลขนาดกลาง และขนาดใหญ่

・โรงพยาบาล ถือเป็นสถานพยาบาลขนาดกลางและใหญ่
・มีเตียงมากกว่า 20 เตียง
・สามารถรักษาโรคได้หลายประเภท
・มีแผนกสาขาและการผ่าตัดที่จำเพาะกว่าสถานพยาบาลขนาดเล็ก

หากเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็ก บางที่ก็สามารถเข้าไปรอรับการรักษาได้โดยไม่ต้องจองล่วงหน้า และแทบจะไม่ต้องรอคิว แต่หากเป็นสถานพยาบาลขนาดกลางหรือใหญ่ เราแนะนำให้ติดต่อล่วงหน้าค่ะ หากไม่จองล่วงหน้าไปก่อน ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เหมือนกัน แต่อาจจะต้องรอคิวค่อนข้างนานค่ะ หากร่างกายไม่แข็งแรง แล้วต้องไปนั่งรอในโรงพยาบาลก็อาจทำให้กังวลขึ้นมาได้ใช่ไหมล่ะคะ ดังนั้น เพื่อที่จะได้เข้ารับการตรวจอย่างราบรื่น เราแนะนำให้จองล่วงหน้าไปก่อนค่ะ

หากคุณโทรศัพท์ไปจองคิว ก็จะโดนสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ อย่างน้อยหากตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็ถือว่าโอเคแล้วค่ะ

[ ตัวอย่างคำถามและคำตอบ ]

・ชื่อ (na-ma-e), อายุ (nen-rei), เพศ (sei-betsu), เบอร์โทรศัพท์ (den-wa-ban-go)
→ ตอบข้อมูลส่วนตัวให้ถูกต้องและครบถ้วน

มีอาการอย่างไรบ้าง (Donna shoujou desu ka) ?
→ ตัวอย่างคำตอบ: ปวดท้อง (onaka ga itai)
     มีไข้ (netsu ga aru)

・มีอาการตั้งแต่เมื่อไร (Itsu goro kara has-shou shiteimasu ka) ?
→ ตัวอย่างคำตอบ: มีไข้มาตั้งแต่ 3 วันก่อน (mikkamae kara netsu ga arimasu)
        ปวดท้องตั้งแต่เมื่อเช้า (asakara onakaga itai desu)

・ประกันประชาชนเป็นประเภทไหน (Kokumin hoken no shurui wa nan desu ka) ?
→ ตัวอย่างคำตอบ: ประกันสุขภาพนานาชาติ (kokumin kenkou hoken desu)

・ต้องการเข้ามาตรวจวันไหน (Jushin kibou hi wa itsu desu ka) ?
→ ตัวอย่างคำตอบ: ขอเป็นวันพรุ่งนี้ ช่วงเช้าค่ะ (ashita no gozenchuu ni onegaishimasu)

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเหตุเร่งด่วน เราแนะนำให้กดโทรไปที่ 119 เป็นการเรียกรถพยาบาลได้เลยค่ะ ในกรณีนี้ เพื่อให้บอกที่อยู่ของตนเองอย่างถูกต้อง ขอให้หมั่นซ้อมพูดที่อยู่ของตนให้คล่องไว้ด้วยค่ะ

~ วิธีเข้ารับการตรวจรักษา ~

หากมาถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัยแล้ว อย่างแรกที่ต้องทำก็คือ ไปหาแผนกต้อนรับค่ะ หากคุณจองมาล่วงหน้า ก็ให้บอกชื่อและรายละเอียดการจองที่แจ้งเอาไว้ ใครที่มาโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกจะต้องทำบัตรผู้ป่วย (診察カード) ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในกระดาษ (ชื่อ – นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, เพศ, เบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่และประกัน เป็นต้น) กรอกข้อมูลสำคัญเหล่านี้แล้วก็ส่งให้ทางโรงพยาบาลได้เลยค่ะ

นอกจากนี้ ยังจะมีแบบสอบถามตรวจสุขภาพด้วยค่ะ แบบสอบถามตรวจสุขภาพเป็นเอกสารที่ให้ผู้เข้ารับการรักษาตอบคำถามเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง ณ ขณะนั้น รวมไปถึงให้ข้อมูลเรื่องอาการแพ้ต่างๆ ซึ่งการตรวจรักษาของคุณหมอ ก็จะนำข้อมูลหลักๆ มาจากแบบสอบถามตรวจสุขภาพนี้ค่ะ ดังนั้น เรามาตั้งใจเขียนกันเถอะ!


[ ตัวอย่างคำถามในแบบสอบถามตรวจสุขภาพ ]

・名前、年齢、性別、生年月日、電話番号、住所
ชื่อ, อายุ, เพศ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่

・どんな症状か?

มีอาการอย่างไร?
※โดยปกติแล้ว ในแบบสอบถามปัญหาสุขภาพจะมีช่องให้คุณติ๊กเลือกอาการ ก็ให้เลือกอาการที่เราเป็นค่ะ
※วิธีบอกอาการเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่ด้านล่างค่ะ

・いつごろから発症しているのか?
มีอาการตั้งแต่เมื่อไ?

・現在、治療中または過去に病気にかかったことがあるか?

ปัจจุบัน มีการรักษาโรคอื่น หรือเคยเป็นโรคอื่นมาก่อนในอดีตหรือไม่?
※โดยปกติแล้ว ในแบบสอบถามปัญหาสุขภาพจะมีช่องให้ติ๊กเลือกโรคที่คนนิยมเป็นกัน ก็เลือกโรคที่เราเคยเป็นไปได้เลยค่ะ

・手術したことがあるか?
เคยเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่?
※ [ใช่ (はい)] [ไม่ (いいえ)] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ
 หากเลือก [ใช่] ต้องระบุการผ่าตัดที่เคยเข้ารับด้วยค่ะ

・現在、服用している薬はあるか?
ปัจจุบัน มียาที่ต้องรับประทานหรือไม่?
※ [มี (あり)] [ไม่มี (なし)] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ
 หากเลือก [มี] ให้ระบุชื่อยาลงไปค่ะ

薬や食べ物アレルギーはあるか?
มีอาการแพ้ยาหรืออาหารหรือไม่?
※ [มี (あり)] [ไม่มี (なし)] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ
 หากเลือก [มี] ให้ระบุรายละเอียดลงไปค่ะ

・たばこは吸うか?
สูบบุหรี่หรือไม่?
※ [สูบ (はい)] [ไม่สูบ (いいえ)] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ
 หากเลือก [สูบ] ให้ระบุปริมาณบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันด้วยค่ะ

・お酒を飲むか?
ดื่มสุราหรือไม่?
※ [ดื่ม (はい)] [ไม่ดื่ม (いいえ)] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ
 หากเลือก [ดื่ม] ให้ระบุปริมาณที่ดื่มในแต่ละวันด้วยค่ะ

・現在、妊娠中か?
ปัจจุบัน อยู่ในการตั้งครรภ์ใช่หรือไม่?
※ [ใช่] [ไม่] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ
 หากเลือก [ใช่] ให้ระบุอายุครรภ์ด้วยค่ะ (ผู้หญิงเท่านั้น)

・現在、授乳中か?
ปัจจุบัน อยู่ในช่วงให้นมบุตรใช่หรือไม่?
※ [ใช่] [ไม่] เลือกช่องใดช่องหนึ่งค่ะ (ผู้หญิงเท่านั้น)

ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลดูจะถามคำถามมากมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการระบุโรค ดังนั้น ตั้งใจตอบอย่างถูกต้องกันด้วยนะคะ
 

ไปตรวจกันเถอะ! อธิบายอาการให้ละเอียดกัน!

เมื่อทำธุระกับแผนกต้อนรับเสร็จแล้ว ก็ไปรอตรวจได้เลยค่ะ เมื่อทางโรงพยาบาลเรียกชื่อของเรา ก็ค่อยเข้าไปในห้องตรวจ แล้วการตรวจก็จะเริ่มขึ้น! หากเป็นโรงพยาบาลที่ใช้ภาษาต่างประเทศได้ก็ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ แต่หากเป็นโรงพยาบาลที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น คุณก็จำเป็นต้องอธิบายอาการของตนเป็นภาษาญี่ปุ่นแทน ในกรณีนี้ เรามาจำวิธีเรียกอาการของโรคที่เกิดบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการสื่อสารกันดีกว่า

[ อาการที่พบบ่อย ]
・痛い (itai) — เจ็บ
・かゆい (kayui) — คัน
・咳 (seki) — ไอ
・鼻水 (hanamizu) — น้ำมูก
・鼻づまり (hanazumari) — คัดจมูก
・頭痛 (zutsuu) — ปวดศีรษะ
・腹痛 (fukutsuu) — ปวดท้อง
・だるい (darui) — เหนื่อย
・苦しい (kurushii) — ทรมาน
・熱 (nestu) — มีไข้
・めまい (memai) — เวียนศีรษะ
・吐き気 (hakike) — พะอืดพะอม อยากอาเจียน

~ วิธีชำระเงินและรับยา ~

PIXTA

เมื่อเข้ารับการตรวจเรียบร้อยแล้ว ก็กลับไปรอที่หน้าแผนกต้อนรับอีกครั้งจนกว่าจะถูกเรียกชื่อค่ะ เมื่อได้ยินชื่อของตน ก็เข้าไปรับใบตรวจรักษาและใบสั่งยา จากนั้นก็ชำระเงินแล้วออกจากโรงพยาบาลกันได้เลย ในส่วนของยา ปกติถ้าหน้าร้านมีป้ายเขียนไว้ว่า “薬局” หรือร้านขายยา คุณก็สามารถนำใบสั่งยาที่ได้มาไปซื้อยาที่ร้านได้เลยค่ะ เทียบกันแล้ว ร้านขายยามักจะตั้งอยู่ใกล้บริเวณโรงพยาบาล ดังนั้น เมื่อเข้ารับการรักษาเสร็จก็สามารถไปซื้อยาที่ร้านขายยาที่ตั้งอยู่รอบๆ ได้อย่างสบายๆ เลยค่ะ

เมื่อไปถึงร้านขายยา อย่างแรกก็ไปหาแผนกต้อนรับก่อนค่ะ เอาใบประกันและใบสั่งยาไปให้เขาดูเลย นอกจากนี้ หากคุณไม่เคยมีประวัติไปที่ร้านขายยานั้นมาก่อน ก็อาจจะต้องตอบแบบสอบถามง่ายๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวเช่นกัน ขอให้คุณกรอกข้อมูลที่สำคัญแล้วส่งไปเลยค่ะ เมื่อจัดการกับเอกสารเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็รอจนกว่าชื่อเราจะถูกเรียก แล้วก็ไปหาแผนกต้อนรับอีกครั้ง รอบนี้เราจะได้เจอกับเภสัชกรที่อธิบายประเภทของยา วิธีการใช้ยา ตลอดจนปริมาณที่ต้องใช้อย่างละเอียด ตรงนี้ตั้งใจฟังให้ดีเลยนะคะ หากไม่เข้าใจอะไรก็ให้ถามเลยค่ะ อย่าปล่อยผ่าน เมื่อเข้าใจการใช้ยาแล้ว ก็ชำระเงินแล้วกลับบ้านได้เลย

ที่เล่ามาทั้งหมด เป็นขั้นตอนตั้งแต่การจองโรงพยาบาล, ไปหาแผนกต้อนรับ, เข้ารับการรักษา, ชำระเงิน จนถึงขั้นตอนการซื้อยาค่ะ สถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้ว หากปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวมา ก็น่าจะสามารถไปหาคุณหมอได้อย่างราบรื่นไร้ปัญหา หากคุณต้องทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล ก็อย่าลืมแวะมาดูบทความนี้เพื่อที่จะได้ไปหาคุณหมอได้อย่างสบายใจนะคะ!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: