ค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นเดือนละเท่าไหร่? มาดูค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนกัน!

Oyraa

ค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นสำหรับหนึ่งคนมันเท่าไหร่กันนะ? ถ้าอยู่ในโตเกียวหรือว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ว่ากันว่าตกอยู่ที่ 140,000 – 160,000 เยนต่อเดือน แต่จริงๆ แล้วมันเยอะขนาดนี้เลยหรือ? ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับ “ค่าครองชีพในญี่ปุ่น” แบบละเอี๊ยด ละเอียดกันค่ะ!

อยู่คนเดียวในญี่ปุ่นใช้เงินเดือนละเท่าไหร่? มาแจกแจงดูกัน!

ไม่ว่าจะอยู่ที่ญี่ปุ่นหรือประเทศไทย สิ่งสำคัญหลักๆ ในหมวดค่าใช้จ่ายก็จะมี ค่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหารและค่าเข้าสังคม เป็นค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน สำหรับญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าค่าครองชีพสูง แต่ละอย่างจะต้องใช้เงินเท่าไหร่นะ?

เราจะมาดูค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของคนอายุ 20 – 30 ปีที่อาศัยในโตเกียวคนเดียวกันค่ะ

[ตัวอย่างค่าใช้จ่ายใน 1 เดือน]
*กลุ่มตัวอย่างเป็นคนอายุ 20 – 30 ปีที่อาศัยคนเดียวในโตเกียว

・ค่าเช่าบ้าน ประมาณ 50,000 – 70,000 เยน

・ค่าเดินทาง ประมาณ 5,000 เยน *ไม่รวมค่าเดินทางไปทำงานและไปสถานศึกษา

・ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า แก๊ส และน้ำประปา) ประมาณ 10,000 เยน

・ค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ประมาณ 10,000 เยน

・ค่าอาหาร ประมาณ 30,000 เยน

・ค่าเข้าสังคม ประมาณ 30,000 เยน

・อื่นๆ (ซื้อของจิปาถะ เป็นต้น) ประมาณ 10,000 เยน

รวม 145,000 – 165,000 เยน

หากเทียบกับประเทศของเราแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ? ต่อไป เราจะมาดูแต่ละหัวข้อแบบละเอียดๆ แล้วก็มาแอบดูวิธีลดค่าใช้จ่ายแต่ละแบบกันค่ะ

ค่าเช่าบ้าน: เปรียบเทียบโตเกียวกับต่างจังหวัด

ในค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ส่วนที่หนักที่สุดก็คือค่าเช่าบ้านค่ะ ยิ่งถ้าพูดถึงในโตเกียวแล้ว เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดก็ถือว่าแพงมากๆ เลยทีเดียว ลองมาดูกันว่าค่าเช่าบ้านในโตเกียวเทียบกับเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง แบบห้องที่เราสนใจก็คือ ห้องสำหรับผู้พักอาศัย 1 คน เป็นห้องเดี่ยวเพียง 1 ห้อง ไม่มีผนังกั้นระหว่างส่วนนั่งเล่นกับครัว (1R) และห้องที่มี 1 ห้องครัวแยกออกมา (1K) ค่ะ มาดูราคาเปรียบเทียบกันเลย

[เปรียบเทียบค่าเช่าบ้านในญี่ปุ่น]

・ในโตเกียว ประมาณ 80,000 เยน
・ในโอซาก้า ประมาณ 60,000 เยน
・ในฟุกุโอกะ ประมาณ 45,000 เยน
・ในเกียวโต ประมาณ 50,000 เยน
・ในโอกินาว่า ประมาณ 50,000 เยน
・ในฮอกไกโด ประมาณ 40,000 เยน

อย่างที่เห็นเลยค่ะ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แล้ว ค่าเช่าบ้านในโตเกียวแพงที่สุด ถึงว่าจะไม่ได้แพงเกินไปนักเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่จริงๆ แล้ว ห้องในโตเกียวที่ถือว่าราคาไม่สูงมากนั้น ถ้ามี 1 ห้อง ก็มักจะมีขนาดประมาณ 20 ตารางเมตร คนที่คิดว่าทั้งแพง ทั้งแคบ ก็มีไม่น้อยเลยค่ะ

ดังนั้น ญี่ปุ่นในแง่ของการอยู่อาศัยก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียวต่อไปได้ เราก็มีวิธีประหยัดค่าเช่าบ้านเล็กๆ น้อยๆ มาแนะนำค่ะ หากใครอยากลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ ลองระวังสิ่งต่อไปนี้ เท่านี้คุณก็จะมีโอกาสเจอบ้านที่อยู่ในราคาที่ต้องการมากขึ้นแล้วค่ะ!

วิธีประหยัดค่าเช่าบ้าน

ในญี่ปุ่น ยิ่งบ้านที่ใกล้สถานีรถไฟ ก็จะยิ่งราคาสูงขึ้นค่ะ ดังนั้น หากอยากลดค่าใช้จ่ายในการเช่าบ้าน ก็ยอมลำบากเล็กน้อย เช่าบ้านที่ห่างจากสถานีประมาณ 15 นาทีขึ้นไปเป็นหลัก นอกจากนี้ สถานที่ที่ออกห่างจากใจกลางเมืองไปสัก 1 ชั่วโมง หรือจังหวัดใกล้ๆ (ไซตามะ ชิบะ คานากาว่า เป็นต้น) ก็จะมีค่าเช่าที่ค่อนข้างถูกเทียบกับโตเกียวค่ะ การแชร์บ้านกับคนอื่นก็เป็นอีกวิธีที่ดีในการประหยัดค่ะ!

ค่าสาธารณูปโภค: หนึ่งเดือนใช้เท่าไหร่กันนะ?

ค่าสาธารณูปโภคประกอบไปด้วย ไฟฟ้า แก๊สและน้ำประปาค่ะ มาคุยกันแบบละเอียดๆ สำหรับแต่ละอย่างกันเลยค่ะ

ไฟฟ้า: เปิดไฟในห้อง หรือว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะคิดเป็นส่วนนี้ค่ะ

แก๊ส: เวลาทำอาหารหรือเปิดน้ำอุ่น ก็จะมีค่าแก๊สตามมาค่ะ แก๊สมีอยู่ 2 ประเภทคือ Toshi Gas กับ Propane Gas อย่างหลังจะผลิตความร้อนได้มากกว่า แนะนำสำหรับคนที่ชอบทำอาหาร แต่ก็มีข้อเสียคือราคาแพงกว่าเจ้า Toshi Gas ค่ะ เวลาเลือกบ้าน อย่าลืมตรวจสอบประเภทของแก๊สให้ดีนะคะ

อ้อ อีกอย่างก็คือ เตาไฟฟ้าแบบ IH ไม่ถือเป็นค่าแก๊ส แต่ถือเป็นค่าไฟฟ้าแทนค่ะ

น้ำประปา: ห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ ซักผ้า ตลอดจนทำอาหาร ก็มีค่าน้ำทั้งนั้นค่ะ

ด้วยความที่ 3 ค่าใช้จ่ายนี้เป็นชีวิตประจำวัน เราก็เลยต้องจ่ายกันทุกๆ เดือนเป็นปกติ ลองมาเทียบค่าใช้จ่ายของแต่ละประเภทกันค่ะ

[เปรียบเทียบค่าสาธารณูปโภคใน 1 เดือน]

・ค่าไฟ ประมาณ 5,000 เยน

・ค่าแก๊ส ประมาณ 3,000 เยน

・ค่าน้ำ ประมาณ 2,000 เยน

รวม 10,000 เยน

รวมๆ แล้ว ในแต่ละเดือน ก็จ่ายค่าสาธารณูปโภคไปประมาณ 10,000 เยนค่ะ ราคานี้ เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วก็ยังถือว่าแพง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เลี่ยงไม่ได้ จะประหยัดก็อาจจะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีหนทางค่ะ
แต่อย่างไรก็ตาม ค่าสาธารณูปโภคมักมีช่องทางชำระเงินหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นตัดโดยตรงผ่านบัญชีธนาคาร ฝากเข้าในแต่ละเดือน หรืออาจจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือบัตรเครดิตก็ย่อมได้ค่ะ ก่อนย้ายเข้าบ้านก็อย่าลืมสอบถามวิธีจ่ายก่อนนะคะ

วิธีประหยัดค่าสาธารณูปโภค

บริษัทไฟฟ้าและบริษัทแก๊ส มักมีแพลน “ค่าไฟ + ค่าแก๊ส” อยู่ค่ะ ถ้าใช้ตามแพลนแล้วก็จะมีส่วนลดประมาณ 10,000 เยนต่อปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ หากถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ไม่ค่อยได้ใช้งานออก ก็จะลดค่าไฟได้ประมาณเดือนละ 500 เยน ส่วนตู้เย็นหากไม่อัดของจนแน่นเอี๊ยดแล้วใช้งานเพียง 70% ก็สามารถลดไปได้อีกประมาณ 80 เยนต่อเดือนค่ะ แม้จะไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่ดูว้าว แต่ก็อยากให้ทุกคนได้รู้วิธีประหยัดง่ายๆ นี้ไว้ค่ะ!

ค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต: เปรียบเทียบราคา 3 เจ้าใหญ่

ค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ก็คือค่าใช้จ่ายที่มากับสมาร์ทโฟน แทบเล็ตต่างๆ ค่ะ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ชีวิตติดต่อกับคนอื่นเลยทีเดียว
ถ้าทำงานในญี่ปุ่น เวลาทำสัญญาเช่าบ้าน เบอร์โทรศัพท์ในญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันค่ะ ดังนั้น ค่าโทรศัพท์ก็เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ขาดไม่ได้ในแต่ละเดือน เรามาดูและเปรียบเทียบราคาแพลนทั่วๆ ไปของ 3 เจ้ายักษ์ใหญ่กันดีกว่าค่ะ

[เปรียบเทียบราคาค่าโทรศัพท์ในแต่ละเดือน]

・บริษัท AU แพลน 7G (5,480 เยน) + ค่าโทรไม่อั้นราคาเดียว (700 เยน) = 6,180 เยน
・บริษัท DOCOMO แพลน 7G (5,980 เยน) + โทรฟรี 5 นาที 700 เยน = 6,680 เยน
・บริษัท SOFTBANK แพลน 20G (6,000 เยน) + โทรฟรี 5 นาที 500 เยน = 6,500 เยน

ตามด้านบนเลยค่ะ แต่ละเดือนค่าโทรศัพท์ก็ปาเข้าไป 6,000 เยนแล้วค่ะ นอกจากนี้ ถ้ายังมีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน ก็จะต้องซื้อ Wifi อีก ถ้าเป็นของ WiMAX ก็จะอยู่ที่เดือนละ เริ่มต้น 2,590 เยน ถ้าเป็น SoftBank Air ก็จะอยู่ที่เดือนละ 4,880 เยนค่ะ
ดังนั้นก็ควรเลือกแพลน Wifi ให้สอดคล้องกับแพลนโทรศัพท์ของเรา เมื่อรวมค่า Wifi แล้ว ค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตก็ประมาณ 10,000 เยนค่ะ

วิธีประหยัดค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต

วิธีง่ายๆ เลยคือเลือกแพลนที่ตรงกับการใช้งานของตัวเองที่สุด!
ตัวอย่างเช่น ใครที่โทรศัพท์บ่อยๆ ก็ควรใช้แพลนโทรไม่อั้น ใครที่ใช้อินเตอร์เน็ตเยอะ ก็ควรเลือกแพลนใช้เน็ตไม่อั้น ลองดูแพลนหลายๆ แบบ เปรียบเทียบกันแล้วค่อยเลือกจะดีที่สุดค่ะ
นอกจากนี้ หันไปใช้ฟังก์ชันโทรฟรีผ่านอินเตอร์เน็ตอย่าง LINE หรือ Skype ก็ช่วยลดค่าโทรศัพท์ได้ หรือจะใช้ซิมส์การ์ดราคาถูกและสมาร์ทโฟนที่ราคาไม่สูงมากก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

ค่าอาหาร: ที่ญี่ปุ่นนี่ค่าอาหารประมาณเท่าไหร่นะ?

ค่าอาหาร ก็คือค่าวัตถุดิบ ค่าเครื่องปรุงต่างๆ เครื่องดื่ม ตลอดจนขนมเลย หรือเรียกว่าเป็นค่ามื้ออาหารต่างๆ ที่กินในบ้านนั่นเอง อย่างที่รู้กันว่าราคาอาหารของแต่ประเทศแตกต่างกันตามค่าครองชีพ อย่างที่ญี่ปุ่น น้ำเปล่า 1 ขวด (500 มิลลิลิตร) อยู่ที่ประมาณ 100 เยน แต่ถ้าอย่างที่ประเทศไทย ก็อาจจะอยู่ที่ 30 เยนเท่านั้นค่ะ!

สื่อธุรกิจ CEOWORLD Magazine ได้จัดอันดับประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกประจำปี 2020 และญี่ปุ่นได้อันดับ 4! เรียกว่าเป็นประเทศที่ค่าครองชีพแพงจริงๆ สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น อยู่ที่นี่มาตลอดชีวิต ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกถึงความแพงนั้นหรอกค่ะ แต่ถ้าคนที่ไม่ชินกับค่าครองชีพสูงๆ เช่นนี้ ก็คงตกใจกับค่าอาหารที่ต่างกับประเทศบ้านเกิดอย่างลิบลับเลยใช่ไหมล่ะ!

วิธีประหยัดค่าอาหาร

ถ้าเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงใกล้ๆ ปิดคุณจะเห็นชาซิมิ อาหารต้มและขนมปังที่ใกล้หมดอายุลดราคาครึ่งๆ เลยทีเดียว ดังนั้นถ้าอยากได้อาหารราคาถูกๆ ก็แนะนำช่วงเวลาใกล้ปิดร้านค่ะ
นอกจากนี้ การซื้อเยอะๆ ทีละอาทิตย์ ก็ช่วยประหยัดได้ค่ะ ยิ่งออกไปซื้อของบ่อยแค่ไหน ก็ยิ่งมีของไม่จำเป็นเล็กๆ น้อยๆ ติดมือมาบ่อยขึ้นเรื่อยๆ! ดังนั้นแนะนำให้วางแผนการกิน แล้วซื้ออาหารที่จำเป็นมาตุนอาทิตย์ละครั้งพอค่ะ!

ค่าเดินทาง: การเดินทางแต่ละแบบในญี่ปุ่นใช้เงินเท่าไหร่นะ?

การเดินทางที่ขาดไม่ได้ ก็คือการใช้รถสาธารณะนั่นเอง ในญี่ปุ่นสิ่งที่ใช้เป็นหลักก็คือรถไฟ รถบัสและแท็กซี่ค่ะ เรามาดูค่าใช้จ่ายของการโดยสารแต่ละประเภทในโตเกียวกัน

・รถไฟ
รถไฟใต้ดิน: 180 เยน
รถไฟ JR: 140 เยน
รถไฟของเอกชน: ราคาแตกต่างตามบริษัท อยู่ที่ประมาณ 130 – 210 เยน

・รถบัส
รถบัสของรัฐ: 210 เยน
รถบัสของเอกชน: 220 เยน

・แท็กซี่ 1.052 กิโลเมตรราคา 380 – 410 เยน

รถโดยสารส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมักจะไม่ได้บริหารงานโดยรัฐ แต่เป็นเอกชนทำ ดังนั้นก็มีราคาที่ถือว่าค่อนข้างสูงค่ะ

วิธีประหยัดค่าเดินทาง

เวลาขึ้นบัสหรือรถไฟ ขอแนะนำให้มาใช้ e-money หรือ IC card กันค่ะ เช่น เวลาขึ้นรถไฟในเมือง ถ้าซื้อตั๋วจะอยู่ที่ 220 เยน แต่ถ้าใช้ IC card ก็จะเหลือ 216 เยนเท่านั้น ประหยัดได้ทุกครั้งที่นั่งเลยนะคะ! ปกติแล้วคุณสามารถเติมเงินในบัตรเตรียมไว้ได้ด้วย ก็ยิ่งประหยัดเวลาซื้อตั๋วไปอีก ดีสุดๆ ไปเลย!

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ค่าครองชีพแต่ละเดือนในญี่ปุ่นนี่พูดว่าถูกไม่ได้ แต่การมีน้ำประปาสะอาดๆ ใช้ ขาดเหลืออะไรก็สามารถหาซื้อได้ในร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมงรอบตัว มีร้านอาหารคุณภาพดีในราคาสมเหตุสมผลอยู่มากมาย ถือเป็นข้อดีของการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นค่ะ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการใช้ชีวิตในสไตล์ของตัวเองและเลือกที่จะใช้จ่าย รวมถึงประหยัดอย่างชาญฉลาดค่ะ อย่าลืมอ่านบทความนี้แล้วใช้อ้างอิงในการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นสุดเพอร์เฟ็กต์ของทุกคนกันนะคะ !

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: