วิธีสมัคร + ข้อดีของบัตรมายนัมเบอร์ที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น!

“มายนาพอยท์” (マイナポイント) เป็นคำที่พบบ่อยตามข่าวและสื่อโซเชียลในยุคปัจจุบัน หลายๆ คนอาจรู้ว่ามันมีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ได้ทำ “บัตรมายนัมเบอร์” ที่จำเป็นสำหรับการสะสมพอยท์ดังกล่าว ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาอธิบายข้อดีของการมีบัตรมายนัมเบอร์ให้คุณฟังอย่างละเอียด รวมถึงบอกวิธีสมัครบัตรดังกล่าว! นอกจากจะใช้สะสมมายนาพอยท์ได้แล้ว ยังช่วยให้เดินเรื่องในระบบราชการที่แสนยุ่งยากผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ อีกด้วย
Oyraa

ระบบมายนัมเบอร์และบัตรมายนัมเบอร์คืออะไร?

“มายนัมเบอร์” (マイナンバー) คือ หมายเลข 12 หลักที่มอบให้กับผู้ที่มีทะเบียนบ้านในญี่ปุ่น (รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในญี่ปุ่น) ในฐานะหมายเลขยืนยันตัวตนของแต่ละคนซึ่งจะออกให้โดยอัตโนมัติและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วน “บัตรมายนัมเบอร์” (マイナンバーカード) เป็นบัตรที่ระบุเลขดังกล่าวไว้ ในกรณีคุณที่เดินทางออกจากญี่ปุ่นและกลับเข้ามาใหม่อีกครั้งก็จะต้องใช้มายนัมเบอร์เดิมเสมอ ถึงแม้จะมีทะเบียนบ้านใหม่ก็ตาม

วัตถุประสงค์หลักของระบบมายนัมเบอร์ คือ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ให้มาอยู่ในหมายเลขมายนัมเบอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถดำเนินการในบริการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น ประกันสังคม ภาษี และมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น

การรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในที่เดียวกันแบบนี้อาจทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลมายนัมเบอร์ได้นั้นจะมีเพียงองค์กรอย่างรัฐบาลกลาง, รัฐบาลท้องถิ่น, บริษัทที่คุณทำงานอยู่, สถาบันการเงิน, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกันสุขภาพและเงินบำนาญ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น พวกเขาจะดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มาอย่างเคร่งครัด และจะใช้เพื่อจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเท่านั้น นอกจากนี้ องค์กรเหล่านี้จะไม่มีการโทรไปสอบถามมายนัมเบอร์ผ่านทางโทรศัพท์เด็ดขาด ดังนั้นจึงควรระวังมิจฉาชีพที่มาหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณด้วย

รูป: PIXTA

ความแตกต่างระหว่างเอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัวที่ทุกคนได้รับ กับบัตรมายนัมเบอร์ที่ต้องยื่นขอเอง

“เอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัว” (個人番号通知書) คือ เอกสารที่ส่งให้ผู้ที่ได้รับหมายเลขมายนัมเบอร์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป โดยจะส่งไปที่บ้านในรูปแบบของไปรษณีย์ลงทะเบียน (*) หลังจากบันทึกข้อมูลลงในทะเบียนบ้านได้ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ดังนั้น หากคุณรอนานแล้วแต่ยังไม่ได้รับ ก็ขอให้ลองไปสอบถามที่เคาน์เตอร์ของหน่วยงานในท้องถิ่นที่คุณเดินเรื่องทะเบียนบ้านไว้ดู

ข้อมูลในเอกสารนี้จะประกอบไปด้วย ชื่อ วันเดือนปีเกิด และมายนัมเบอร์ของคุณ
อย่างไรก็ตาม เอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัวนี้จะไม่สามารถใช้ในฐานะเอกสารยืนยันตัวตนได้

ส่วน “บัตรมายนัมเบอร์” คือ บัตรพลาสติกที่มีรูปถ่ายหน้าตรงติดอยู่นั้น คุณจำเป็นต้องยื่นเรื่องขอด้วยตัวเอง บัตรนี้สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนที่ได้รับการรับรองจากรัฐได้ แต่ไม่มีข้อบังคับว่าจำเป็นจะต้องพกติดตัวตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “บัตรแจ้ง” (通知カード) ด้วยเช่นกัน บัตรใบนี้เป็นบัตรกระดาษสำหรับแจ้งหมายเลขให้กับผู้ที่ได้รับหมายเลขมายนัมเบอร์ก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 อย่างไรก็ตาม บัตรแจ้งถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 และในปัจจุบันก็ไม่มีบริการให้ขอใหม่ ออกซ้ำ หรือเปลี่ยนข้อมูล บัตรดังกล่าวนี้ถูกยกเลิกไป และแทนที่ด้วยเอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัวแทน

* ไปรษณีย์ลงทะเบียน (簡易書留) เป็นไปรษณีย์ที่ลงบันทึกการจัดส่งสำหรับติดตามไว้ และจำเป็นต้องใช้ตราประทับหรือลายเซ็นในการรับ หากผู้รับไม่อยู่บ้านขณะจัดส่งก็จะมีการใส่ใบแจ้งสำหรับนัดเวลาจัดส่งใหม่ไว้ในตู้ไปรษณีย์แทน แต่จะไม่มีการทิ้งพัสดุหรือจดหมายเอาไว้เด็ดขาด

ข้อดีของการมีบัตรมายนัมเบอร์

แม้ว่าจะใช้เวลาและขั้นตอนในการทำอยู่พอสมควร แต่หากคุณมีบัตรนี้ก็จะทำให้สามารถรับบริการของภาครัฐได้ราบรื่นยิ่งกว่าเดิม มาดูกันเลยว่าบัตรนี้มีข้อดีอะไรบ้าง

● สามารถเดินเรื่องระบบราชการผ่านช่องทางออนไลน์ได้
สิ่งนี้นับว่าเป็นข้อดีอันดับ 1 ของการมีบัตรมายนัมเบอร์ เพราะผู้ถือบัตรจะสามารถยื่นขอสำเนาทะเบียนบ้านและเอกสารยืนยันต่างๆ เช่น เอกสารยืนยันการลงทะเบียนตราประทับได้ง่ายๆ จากเครื่องอัตโนมัติที่ตั้งอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ (*) นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่รองรับบัตรมายนัมเบอร์ (เช็กรุ่นโทรศัพท์ได้ที่นี่) ในการแจ้งภาษีรายปีตั้งแต่ส่วนของ ค.ศ. 2019 เป็นต้นไปผ่านทางระบบ e-tax (การยื่นภาษีออนไลน์) ได้อีกด้วย เหมาะสำหรับยุคโควิด-19 ที่ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดอย่างศูนย์ราชการและสำนักงานภาษีมากทีเดียว

● สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนได้
คุณสามารถใช้บัตรมายนัมเบอร์เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างการเปิดบัญชีธนาคารได้ อีกทั้งยังมีการวางแผนปรับปรุงให้สามารถใช้บัตรมายนัมเบอร์เป็นบัตรประกันสุขภาพตามร้านขายยาและหน่วยงานแพทย์ต่างๆ ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เป็นต้นไปด้วย

● สามารถรับมายนาพอยท์ที่มีมูลค่าสูงสุด 5,000 เยน
หากคุณกำลังคิดอยากจะทำบัตรมายนัมเบอร์ เราขอแนะนำว่ายิ่งเร็วยิ่งดี เพราะโครงการมายนาพอยท์ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการชำระเงินแบบไร้เงินสดและโปรโมทบัตรมายนัมเบอร์นั้นจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 แคมเปญสุดคุ้มนี้จะทำให้คุณได้รับพอยท์มูลค่าสูงสุดถึง 5,000 เยน ดังนั้น หากคุณกำลังวางแผนจะทำมายนัมเบอร์อยู่แล้วล่ะก็ ควรสมัครมายนาพอยท์เอาไว้ด้วย บัตรมายนัมเบอร์ใช้เวลาทำประมาณ 1 เดือน ดังนั้น รีบสมัครตั้งแต่ปีนี้เลยก็จะทำให้สบายใจได้มากกว่า

* เทศบาลท้องถิ่นบางแห่งไม่รองรับการขอเอกสารที่ร้านสะดวกซื้อ สามารถตรวจสอบได้ที่นี่ว่าเทศบาลของคุณรองรับหรือไม่

▼บทความที่เกี่ยวข้อง
MyNaPoint จากมายนัมเบอร์คืออะไร? รู้ไว้อาจได้ถึง 5,000 เยน!

วิธีขอบัตรมายนัมเบอร์

imwaltersy / Shutterstock.com

เอกสารที่จำเป็นสำหรับการขอนั้นมีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ เอกสารแจ้งหมายเลขประจำตัวที่ส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และเอกสารขอบัตรมายนัมเบอร์ การขอบัตรมายนัมเบอร์ครั้งแรกจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากสูญหายและไปขอใหม่ก็จะต้องเสียเงิน 1,000 เยน

การขอบัตรมายนัมเบอร์สามารถทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ตู้ถ่ายรูปติดบัตรที่อยู่ตามเมือง และไปรษณีย์

[สมาร์ทโฟน]
・ถ่ายรูปหน้าตรงของตัวเองด้วยกล้องสมาร์ทโฟน
・สแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่มุมขวาล่างของเอกสารขอบัตรเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์สำหรับการขอบัตร
・กรอกข้อมูลที่จำเป็นให้เรียบร้อย จากนั้นจึงแนบรูปถ่ายและกดส่ง

[คอมพิวเตอร์]
・ถ่ายรูปหน้าตรงด้วยกล้องดิจิทัลหรือสมาร์ทโฟน แล้วเซฟรูปลงในคอมพิวเตอร์
・เข้าเว็บไซต์สำหรับการขอบัตร ใส่ ID ที่ระบุไว้ในเอกสารการขอ (ตัวเลข 23 หลัก)
・กรอกข้อมูลที่จำเป็น จากนั้นจึงแนบรูปถ่ายและกดส่ง

[ตู้ถ่ายรูปติดบัตร]
・เลือก “ขอบัตรหมายเลขประจำตัว” (個人番号カード申請) จากแป้นระบบสัมผัสที่อยู่ภายในตู้
・ใส่เงิน สแกนคิวอาร์โค้ดของเอกสารยื่นขอกับเครื่องถ่ายรูปเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์สำหรับการยื่นขอ
・กรอกข้อมูลที่จำเป็น จากนั้นให้กดส่งข้อมูลของรูปที่ถ่ายในตู้ถ่ายรูปด้วย

[การขอทางไปรษณีย์]
・ลงชื่อ เซ็นชื่อ หรือประทับตราลงในเอกสารยื่นขอ และติดรูปถ่ายหน้าตรงลงไป
・ใส่เอกสารลงซองสำหรับส่ง และนำไปส่งที่ตู้ไปรษณีย์
* ในกรณีที่ซองสำหรับส่งที่คุณมีอยู่หมดอายุแล้ว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์นี้ โดยคลิกที่ “封筒材料のダウンロードはこちら”

ข้อควรระวังสำหรับ 4 วิธีนี้ อยู่ในส่วนที่ถามว่า “ต้องการให้ออกเอกสารยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่?” (電子証明書の発行希望有無) เอกสารยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์จะถูกใส่ลงไปในชิป IC ของบัตรมายนัมเบอร์ โดยคุณสามารถเลือกที่จะไม่ใส่ได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเอกสารยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์ คุณก็จะไม่สามารถใช้บริการขอเอกสารที่ร้านสะดวกซื้อ ล็อกอินเข้ามายนาพอร์ทอล (รายละเอียดอยู่ด้านล่าง) และยื่นเรื่องทางออนไลน์ต่างๆ อย่าง e-tax ได้ ถึงแม้ว่าจะสามารถขอใส่ภายหลังได้ แต่หากคุณต้องการใช้บริการดังกล่าว ก็ขอแนะนำให้เลือก “ต้องการให้ออกเอกสารยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์” (電子証明書の発行希望あり) ตั้งแต่ตอนที่ออกบัตรมายนัมเบอร์เลยเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ รูปถ่ายยังต้องมีขนาดความสูง 4.5 × กว้าง 3.5 เซนติเมตร เป็นภาพหน้าตรงซึ่งถ่ายภายใน 6 เดือน ไม่สวมหมวก ไม่มีพื้นหลัง ส่วนด้านหลังเขียนชื่อและวันเดือนปีเกิด คุณสามารถใช้รูปขาวดำได้ และหากมีข้อสงสัยอื่นๆ ก็สามารถตรวจสอบได้ที่นี่

▼ อ้างอิง : ขั้นตอนและวิธีการขอบัตร
https://www.kojinbango-card.go.jp/kofushinse/
▼ อ้างอิง : เอกสารขอบัตรมายนัมเบอร์
https://www.kojinbango-card.go.jp/hpsv/wpmng/documents/tegaki-kofu-shinseisho.pdf

วิธีรับบัตรมายนัมเบอร์

หลังจากที่ยื่นขอบัตรตามวิธีข้างต้นแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นจะส่งไปรษณียบัตรแจ้งการส่งมอบมาที่บ้านของคุณในเวลาประมาณ 1 เดือนให้หลัง ไปรษณียบัตรนี้จะระบุระยะเวลาและสถานที่ในการส่งมอบบัตรไว้ ซึ่งคุณจะต้องเดินทางไปรับภายในเวลาที่กำหนด พร้อมกับนำสิ่งเหล่านี้ไปด้วย :

[สิ่งที่ต้องนำไปด้วย]
・เอกสารแจ้งการส่งมอบ (ไปรษณียบัตร)
・บัตรแจ้ง (สำหรับผู้ที่ได้รับบัตรแจ้งก่อนเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020)
・เอกสารยืนยันตัวตน *
・บัตรทะเบียนผู้อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน (住民基本台帳カード) (หากมี)
・บัตรมายนัมเบอร์ (หากมี)

* เอกสารยืนยันตัวตน (本人確認書類) คือ
① เลือก 1 อย่างระหว่าง บัตรทะเบียนผู้อยู่อาศัยพื้นฐาน (住民基本台帳カード ที่มีรูปถ่าย), ใบขับขี่, เอกสารรับรองประวัติการขับขี่ที่ออกหลังวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2012, พาสปอร์ต, สมุดยืนยันตัวตนผู้พิการ, สมุดฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต, ไซริวการ์ด (在留カード), เอกสารยืนยันผู้อยู่อาศัยถาวรกรณีพิเศษ (特別永住者証明書), เอกสารอนุญาตการลี้ภัยชั่วคราว และ เอกสารสำหรับผู้พำนักอาศัยชั่วคราว

② ในกรณีที่ไม่มี ① ให้หาเอกสาร 2 อย่างที่ผ่านการรับรองโดยรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งมีการระบุชื่อและที่อยู่ หรือชื่อและวันเดือนปีเกิด ตัวอย่างเช่น บัตรประกันสุขภาพ, หนังสือเงินบำนาญ (年金手帳), บัตรพนักงานบริษัท, บัตรนักศึกษา, เอกสารที่มีการระบุชื่อสถานศึกษา, หนังสือรับรองการรักษาพยาบาล เป็นต้น

ในขั้นตอนส่งมอบบัตร คุณจะถูกขอให้ตั้งรหัส 4 ประเภท (3 ใน 4 สามารถใช้รหัสเดียวกันได้) เราขอแนะนำให้คิดล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านเพื่อที่จะได้ไม่ต้องลนลานเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้

รหัสแรกที่คุณจะได้ตั้ง คือ รหัสอิเล็กทรอนิกส์แทนลายเซ็น เป็นตัวอักษรอังกฤษหรือตัวเลขจำนวน 6 – 16 หลัก ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้ยืนยันว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างและส่งไปนั้น เป็นเอกสารที่สร้างและส่งโดยเจ้าตัวจริงๆ

ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเภทนั้นจะเป็นรหัส 4 หลัก สำหรับใช้ยืนยันตัวผู้ใช้เอกสารรับรองอิเล็กทรอนิกส์ รหัสทะเบียนผู้อยู่อาศัยพื้นฐาน และรหัสแทนการกรอกข้อมูลหน้าบัตร ซึ่งสามารถตั้งให้เหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ สิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่อยืนยันว่าผู้ที่กำลังล็อกอินอยู่นั้นคือเจ้าตัวจริงๆ

อายุการใช้งาน

บัตรมายนัมเบอร์มีอายุการใช้งานที่จำกัดและจำเป็นต้องทำการต่ออายุใหม่ ในกรณีของชาวต่างชาติ หากเป็นบัตรของผู้พำนักถาวรในหมวดทักษะเฉพาะทางขั้นสูงลำดับที่ 2 หรือผู้พำนักถาวรกรณีพิเศษก็จะมีอายุตั้งแต่วันที่ออกบัตรไปจนถึงวันเกิดครั้งที่ 10 ของผู้ถือ (เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น) ส่วนบัตรสำหรับผู้พำนักระยะกลางถึงยาวจะมีอายุตั้งแต่วันที่ออกไปจนถึงวันสิ้นสุดการพำนัก และในกรณีของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคุ้มครองชั่วคราวหรือผู้ได้รับการอนุญาตให้พำนักชั่วคราว บัตรมายนัมเบอร์จะมีอายุตั้งแต่วันที่ออกบัตรไปจนถึงวันที่คำอนุญาตการพำนักชั่วคราวสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม หากเป็นเด็กที่เกิดระหว่างการพำนักหรือผู้สูญเสียสัญชาติก็จะถือว่าอยู่ในสถานะผู้พำนักล่วงเวลา โดยบัตรจะมีอายุตั้งแต่วันที่ออกไปจนถึง 60 วันหลังจากเกิดหรือสูญเสียสัญชาติญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการต่อระยะเวลาพำนัก คุณก็จำเป็นจะต้องต่ออายุการใช้งานของบัตรมายนัมเบอร์ด้วยเช่นกัน เราจะพูดถึงรายละเอียดของประเด็นนี้กันในส่วน “ข้อควรระวังเกี่ยวกับมายนัมเบอร์” ที่อยู่ด้านล่าง

มายนาพอร์ทอล บริการออนไลน์ที่ช่วยย่นเวลาการเดินเรื่องในระบบราชการ

มายนาพอร์ทอล (マイナポータル) คือ บริการออนไลน์ที่ช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบการแจ้งเตือนจากองค์กรภาครัฐ และเพิ่มความง่ายให้กับขั้นตอนในระบบราชการต่างๆ เช่น การเลี้ยงลูกหรือการดูแลผู้สูงอายุ 
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็ได้แก่ e-tax ของสำนักงานภาษี การสมัครเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลที่รัฐบาลรับรอง การเปลี่ยนทะเบียนบ้าน และการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ภาษี, ประกันสุขภาพ, ประกันการดูแลระยะยาว, ค่าน้ำ, ค่าแก๊ส และค่ารับสัญญาณ NHK ถือเป็นระบบแสนสะดวกที่จะช่วยลดความยุ่งยากของขั้นตอนต่างๆ ให้คุณได้

▼ อ้างอิง : รายละเอียดเกี่ยวกับมายนาพอร์ทอล
https://www.cao.go.jp/bangouseido/myna/index.html
https://myna.go.jp/SCK0101_01_001/SCK0101_01_001_InitDiscsys.form

ข้อควรระวังเกี่ยวกับมายนัมเบอร์ : ตรวจสอบก่อนย้ายบ้านหรือต่อสถานภาพการพำนัก

ข้อควรระวังบางประการสำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมีดังต่อไปนี้:

ในกรณีที่ “วันสิ้นสุดระยะเวลาพำนัก” (在留期間等満了日) ในเอกสารยื่นเรื่องเหลือน้อยกว่า 1 เดือน เราขอแนะนำว่าไม่ต้องใช้เอกสารนั้น แต่ให้ไปต่อระยะเวลาพำนักที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อน จากนั้นคุณก็จะสามารถขอเอกสารยื่นเรื่องใบใหม่จากเคาน์เตอร์หน่วยงานในท้องถิ่นได้ แล้วค่อยนำเอกสารใหม่นั้นไปยื่นเรื่องขอบัตรมายนัมเบอร์

นอกจากนี้ ดังที่เราได้กล่าวไว้ในย่อหน้าเรื่อง “อายุการใช้งาน” หากคุณต่อระยะเวลาพำนักก็จำเป็นจะต้องเดินทางไปยังที่ทำการของหน่วยงานเทศบาลในท้องถิ่นตั้งแต่ตอนที่บัตรมายนัมเบอร์ยังไม่หมดอายุเพื่อขอต่ออายุบัตรด้วย ตรงจุดนี้ควรระวังไว้ด้วยว่าการต่อระยะเวลาพำนักนั้นไม่ได้ทำให้อายุการใช้งานของบัตรมายนัมเบอร์ถูกต่อโดยอัตโนมัติ

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อหรือที่อยู่ คุณจำเป็นต้องทำเรื่องขอเปลี่ยนที่เคาน์เตอร์ของรัฐบาลท้องถิ่นภายใน 14 วันด้วย เพราะหากเกิน 14 วันไปแล้ว คุณก็จะต้องเดินทางไปยังรัฐบาลท้องถิ่นของที่อยู่เก่าเพื่อแจ้งการย้ายและขอรับเอกสารยืนยันการย้ายใหม่อีกครั้งนั่นเอง ดังนั้น หากไม่อยากยุ่งยากซ้ำซ้อน ก็ขอแนะนำให้เดินเรื่องไว้แต่เนิ่นๆ จะดีกว่า

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังอื่นๆ เช่น คุณจำเป็นต้องคืนบัตรมายนัมเบอร์เมื่อย้ายที่อยู่ออกจากญี่ปุ่นด้วย และหากคุณเดินทางมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอีกครั้งก็จะต้องทำบัตรมายนัมเบอร์ใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 1,000 เยนสำหรับบัตรที่มีเอกสารยืนยันอิเล็กทรอนิกส์ และ 800 เยนสำหรับคนที่ไม่มี ในกรณีที่คุณทำบัตรแจ้งหรือบัตรมายนัมเบอร์หายก็จะต้องแจ้งป้อมตำรวจและเคาน์เตอร์ของรัฐบาลท้องถิ่นทันที และสุดท้ายคือห้ามบอกมายนัมเบอร์ของตัวเองให้คนอื่นรู้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเด็ดขาด

ในกรณีที่คุณทำบัตรหายนั้น ยิ่งแจ้งได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี หากคุณต้องการอายัดบัตรชั่วคราวในกรณีที่ทำหายหรือถูกขโมย เราขอแนะนำให้แจ้งผ่าน “เบอร์ติดต่อหลักเกี่ยวกับมายนัมเบอร์ (โทรฟรี)” ที่เราได้ระบุไว้ด้านล่างนี้ โดยสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน

ช่องทางติดต่อที่เกี่ยวข้องกับมายนัมเบอร์

เบอร์ติดต่อหลักเกี่ยวกับมายนัมเบอร์ (โทรฟรี)
ภาษาที่รองรับ : อังกฤษ, จีน, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส
0120-0178-27

สอบถามเกี่ยวกับระบบมายนัมเบอร์
ภาษาที่รองรับ : อังกฤษ, จีน, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส
0120-0178-26

สอบถามเกี่ยวกับบัตรแจ้งและบัตรมายนัมเบอร์
ภาษาที่รองรับ : อังกฤษ, จีน, เกาหลี, สเปน, โปรตุเกส
0120-0178-27

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับมายนัมเบอร์

[เว็บไซต์หลักของบัตรมายนัมเบอร์] [เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับบัตรมายนัมเบอร์] [ข้อมูลเกี่ยวกับระบบมายนัมเบอร์ สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น]
ภาษาญี่ปุ่น : https://www.kojinbango-card.go.jp/hpsv/wpmng/documents/pamphlet-JP.pdf

[มายนาพอยท์]
ภาษาญี่ปุ่น : https://mynumbercard.point.soumu.go.jp/

ส่งท้าย

ในสมัยก่อน เวลาที่ต้องใช้เอกสารทะเบียนบ้าน หลายๆ คนก็อาจต้องหยุดงานเพื่อเดินทางไปขอที่สำนักงานราชการ แต่บัตรมายนัมเบอร์จะช่วยให้ขั้นตอนเหล่านี้ รวมถึงการจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ นั้นสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนได้ด้วย และหากคุณอยากสมัครมายนาพอยท์ก็ควรรีบเข้าไว้เพราะกว่าบัตรมายนัมเบอร์จะมาถึงมือคุณนั้นก็อาจใช้เวลาถึง 1 เดือนเลยทีเดียว

* รูปภาพ Thumbnail : PIXTA
* อัพเดทข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: