รู้ไว้ก่อนเริ่มงาน! 10 มารยาทและวัฒนธรรมการทำงานบริษัทในประเทศญี่ปุ่น

japan-buisiness-s1090132634-scaled
Oyraa

รู้ไหมคะว่าการทำงานในบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีกฎระเบียบยิบย่อยและข้อควรรู้อยู่ไม่น้อยเลย! ด้วยความที่คนญี่ปุ่นจะเน้นการทำงานในลักษณะทีมเวิร์คมากกว่าฉายเดี่ยว ดังนั้นมารยาทและวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ความสามารถในการทำงานเลยล่ะค่ะ แต่เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเรื่องพวกนี้เป็น common sense ที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยมีใครพูดถึงในฐานะเรื่องที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำงานค่ะ เวลาเราจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ จุดที่สำคัญที่สุดก็คือจุดเริ่มต้นใช่ไหมล่ะคะ? ดังนั้นในบทความนี้ เราจะพาไปเรียนรู้วัฒนธรรมและมารยาทในการทำงานก่อนที่จะเริ่มงานในบริษัทญี่ปุ่นกันค่ะ!

“การทักทาย” กุญแจดอกแรกแห่งความประทับใจ! ทักทายให้ดูหนักแน่นและมั่นใจกันเถอะ

Japanese worker

ในสถานที่ทำงานที่ทุกคนต่างก็เร่งรีบและยุ่งเหยิงนั้น การทักทายเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้อื่นที่ล้ำค่าเลยล่ะค่ะ! ที่ญี่ปุ่นรุ่นน้องจะเป็นฝ่ายทักทายผู้อื่นก่อน ถือเป็นเรื่องที่รู้กันดีสำหรับชาวญี่ปุ่นเลย โดยเฉพาะถ้าเป็นน้องใหม่ในบริษัทแล้ว การทำให้ผู้อื่นจดจำเราได้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นควรพยายามทักทายทุกๆ คนด้วยเสียงที่สดใส ยิ้มแย้มให้ได้เลยค่ะ

เวลาไปถึงบริษัท เวลาเริ่มงาน ก็ทักทายด้วยประโยค Ohayogozaimasu (おはようございます) ที่แปลว่า “อรุณสวัสดิ์ค่ะ” เวลาเลิกงานก็บอกลาทุกคนด้วยประโยค Osakini shitsurei itashimasu (お先に失礼します) ที่แปลว่า “ขออนุญาตกลับก่อนนะคะ” 2 ประโยคนี้ถือเป็นประโยคมาตรฐานเลยค่ะ แต่ถ้าเราคุยกับลูกค้า ก็สามารถใช้ประโยค Osewa ni natteorimasu (お世話になっております) แปลว่า “ขอบคุณที่คอยดูแลมาตลอดนะคะ” และถ้าเป็นเพื่อนร่วมงาน ก็ใช้ประโยค Otsukaresamadeshita (お疲れ様です) หรือ “ขอบคุณที่เหนื่อย” เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาได้เหมือนกันค่ะ ประโยคอย่าง Osewa ni natteorimasu และ Otsukaresamadeshita ถือเป็นประโยคที่ทำให้บทสนทนาราบรื่น และเป็นมารยาททางธุรกิจในการแสดงความเคารพต่อคู่สนทนาด้วยค่ะ ถ้าเกิดไม่มั่นใจว่าจะใช้ประโยคไหนตอนไหน ก็อย่าได้อายที่จะถามเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าของเรานะคะ การทักทายที่ดีเป็นใบเบิกทางไปสู่ความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องใส่ใจมากๆ เลยล่ะค่ะ

ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เพศใด ก็อย่าลืมเติม “…ซัง” ลงท้ายเวลาเรียกคู่สนทนา!

Japanese worker

ในบริษัทญี่ปุ่น เราไม่เรียกชื่อจริงกันค่ะ แต่นิยมเรียกด้วยนามสกุล แล้วเติมคำว่า “ซัง (さん san)” ลงท้ายมากกว่า ตัวอย่างเช่น ซาโต้ซัง ทานากะซัง เป็นต้น ในภาษาอังกฤษ เราจะนิยมดูเพศคู่สนทนาแล้วเรียก Miss/Mr./Mrs. ใช่ไหมคะ แต่ในภาษาญี่ปุ่น เราจะไม่สนใจเพศหรืออายุของคู่สนทนา แต่จะเติมคำว่า “…ซัง” ต่อท้ายนามสกุลของทุกๆ คนเลยค่ะ

แต่เรื่องที่ควรระวังในการเติมคำว่าซังก็คือ หากเราคุยกับคู่สนทนาจากบริษัทอื่น เราจะไม่กล่าวถึงคนในบริษัทเดียวกับเราด้วยการเติมซังค่ะ หมายความว่าเราจะกล่าวถึงคนจากบริษัทของเราด้วยนามสกุลอย่างเดียวเลยเพราะเวลาเราคุยกับคนจากบริษัทอื่น คนในบริษัทของเราจะถือเป็น ‘คนใน’ ค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นในบริบทของการทำงาน อย่างการกล่าวถึงหัวหน้าแผนกของเรา ก็จะใช้แค่ชื่อเท่านั้น เช่น หัวหน้าแผนก… ไม่ใช่ คุณหัวหน้าแผนก… ค่ะ การแบ่งขอบเขตระหว่างคนในกับคนนอกก็ถือเป็นวิธีคิดแบบชาวญี่ปุ่นที่เราต้องเรียนรู้ค่ะ

ห้ามสายไป ไม่เร็วเกิน! ถึงก่อนเวลาเพียง 5 นาที!

Japanese worker

เมื่อกล่าวถึงการทำธุรกิจ ความน่าเชื่อถือถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ นอกจากคุณภาพในการทำงานแล้ว พฤติกรรมทั่วๆ ไปก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ หากเราไปสายก็จะถูกมองว่าเราไม่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ ถือเป็นบุคลากรที่ไร้คุณภาพของบริษัทเลยล่ะค่ะ ดังนั้น หากมีนัดกับลูกค้าหรือมีประชุมภายในบริษัทแล้ว ก็จะต้องไปให้ถึงก่อนเวลาเพื่อไปรอในสถานที่นั้น นี่ถือเป็น common sense ของคนญี่ปุ่นเลยค่ะ แต่ว่าถ้าไปถึงเร็วเกินไป ฝั่งต้นทางก็อาจจะยังไม่พร้อม ดังนั้นจึงควรไปก่อนเวลาประมาณ 5 นาที ถือว่าเป็นการทำเวลาที่ดีที่สุดค่ะ 

แต่หากมีปัญหาด้านการเดินทาง เช่น การจราจรติดขัด หรือเกิดไม่สบายกระทันหันขึ้นมาทำให้ต้องไปสายแบบเลี่ยงไม่ได้ ก็จะต้องรีบติดต่อทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับนัดครั้งนั้นทันทีที่รู้ตัวว่าจะสายเลยค่ะ การแจ้งเหตุผลไปด้วยก็อาจจะทำให้ไม่มีปัญหาอะไรตามมา แต่การที่เราติดต่อไปหลังจากที่เลยเวลานัดแล้ว จะทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลงแน่นอน ดังนั้นต้องระวังในจุดนี้เอาไว้มากๆ นะคะ

ใช้พลังเต็มที่ในการทำงาน! เน้นการทำงานเป็นทีมมากกว่าฉายเดี่ยว

Japanese worker

บริษัทญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมมากกว่าการทำงานคนเดียวค่ะ ดังนั้นเวลาให้สัมภาษณ์หรือสอบเข้าทำงาน ความสามารถในการสื่อสารและการให้ความร่วมมือกับผู้สมัครท่านอื่นรอบๆ ตัว จึงเป็นจุดหนึ่งที่จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษเลยล่ะค่ะ การประชุมต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้พูดคุยกัน การที่ต้องรอการอนุมัติจากผู้อื่นที่อาจใช้เวลานั้นถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นขององค์กรญี่ปุ่นที่แสดงได้ถึงการให้ความสำคัญในความร่วมมือภายในบริษัทเลยค่ะ

นอกจากนี้ การแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาเกินไปก็อาจจะสร้างภาพจำที่ไม่ค่อยดีให้กับเพื่อนร่วมงานว่าเราทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่เป็นได้ค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับบรรยากาศเฉพาะตัวของแต่ละบริษัทและแต่ละแผนกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นในเวลาที่เหมาะสมและมีศิลปะในการสื่อสารก็สามารถสร้างความประทับใจของผู้ฟังได้ ดังนั้นอย่าลืมสังเกตบรรยากาศรอบตัวมากๆ สำคัญถึงขนาดที่มีคำภาษาญี่ปุ่นว่า kuki wo yomu (空気を読む) หรือการอ่านบรรยากาศรอบตัวเลยล่ะค่ะ

ถึงจะเป็นข้อมูลที่ไม่ดีก็ต้องเผยแพร่ทันที! อย่าลืม 3 คำวิเศษ!

Japanese worker

บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะแบ่งหน้าที่ตามแต่ละแผนก และมีประธานบริษัทเป็นศูนย์กลางในการทำงานแบบองค์กรค่ะ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานนั้น การที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง แต่การที่แต่ละคนทำงานของตนนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทีมทั้งทีมได้ผลงานที่ยอดเยี่ยมค่ะ

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการได้ผลลัพธ์ที่ต้องการก็คือ 3 คำวิเศษ Ho Ren So ค่ะ! คำว่า Ho มาจาก Hokoku (報告) หรือการรายงาน Ren มาจาก Renraku (連絡) หรือการติดต่อ และ So  มาจาก Sodan (相談) หรือการปรึกษาค่ะ โดยปรกติแล้ว เราจะต้องส่งสถานการณ์และผลงานในการทำงานของเราให้กับหัวหน้าของเราและคนอื่นๆ ในทีมเป็นระยะๆ เพื่อที่จะได้จัดการความรับผิดชอบและการบ้านของเราให้ได้ทันท่วงที และจะได้ช่วยเหลือกันเพื่อให้ทีมพัฒนาไปได้ค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นงานเร่งด่วน แต่การติดต่อสื่อสาร หรือ Ho Ren So ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

นอกจากนี้ ในบริษัทญี่ปุ่น ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะดี อย่างเรื่องที่ประสบปัญหาต่างๆ ก็จำเป็นต้องแจ้งผู้อื่นให้เร็วที่สุดค่ะ เพราะหากทุกคนไม่ยอมแจ้งปัญหาแล้ว ก็จะคุยกันยากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น และทำให้ปัญหาบานปลายได้ หากมีเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถปรึกษาหัวหน้าของเราได้โดยตรง ก็ควรสอบถามเอาจากรุ่นพี่หรือเพื่อนร่วมงานค่ะ เพราะเราจะได้รับคำแนะนำที่เต็มไปด้วยความรู้และประสบการณ์ของผู้อื่นนั่นเอง

ดังนั้นจำไว้นะคะว่าการแชร์ข้อมูลที่มีประโยชน์ให้กับผู้อื่น จะทำให้ทีมก้าวไปข้างหน้าและได้รับผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นค่ะ!

ความสะอาดมาก่อนแฟชั่น! แต่งตัวเป็นคนทำงานเข้าไว้

Japanese worker

ด้วยความที่คนเราจะตัดสินผู้อื่นจากลักษณะภายนอกเป็นหลัก ในสังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะสังคมธุรกิจ ภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ภาพลักษณ์ของคนทำงานในญี่ปุ่นทั่วไปจะไม่ใช่แฟชั่นที่ดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เป็นความสะอาดค่ะ ผู้ชายจะนิยมใส่สูทสีเทา สีดำหรือสีกรมท่า แล้วผูกเนกไทด์เป็นพื้นฐาน ในขณะที่ผู้หญิงจะดูอิสระกว่า ไม่จำเป็นต้องใส่สูทที่มาเป็นเซ็ตเลยก็ได้แต่ว่าเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อคลุมที่ใส่ในเวลางาน ก็ควรจะดูมีกาลเทศะและดูดีค่ะ สูทหรือเสื้อเชิ้ตที่ใส่ไม่ควรมีรอยยับหรือรอยคราบสกปรก ต้องเช็กให้ดีนะคะ นอกจากนี้ ถ้าจะไปพบลูกค้า โดยทั่วไปก็จะต้องแต่งกายให้เรียบร้อยและเป็นทางการมากกว่าเวลาทำงานในบริษัทของตนด้วยค่ะ

ปัจจุบันนี้ บริษัทที่อนุโลมให้ไม่ต้องสวมเนกไทด์ หรืออนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทในฤดูร้อนก็มีค่ะ แต่ก็ควรระวัง ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจค่ะ ส่วนผู้หญิง การแต่งหน้ามากเกินไปก็ถือว่าไม่ดี แต่ถ้าไม่แต่งหน้าเลยก็สามารถถือว่าเป็นการเสียมารยาทได้เหมือนกัน ต้องระวังให้ดีนะคะ!

ดูขยันพอไหม?พักกลางวันได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

Japanese worker

เวลาพักกลางวันของบริษัทญี่ปุ่น มักจะจำกัดอยู่แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ ปรกติเวลา 12.00 – 13.00 น. จะถือเป็นเวลารับประทานอาหารกลางวัน ในช่วงเวลานั้นก็สามารถทานอาหารและพักผ่อนได้ค่ะ ในบางบริษัทที่หลีกเลี่ยงการขาดพนักงานในเวลาเดียวกันก็อาจจะมีการจัดเวลาให้สลับกันไปพักทานอาหาร หรือให้พนักงานเลือกเวลาพักที่ตัวเองต้องการได้

แม้ว่าจะไม่ได้ระบุในกฎการทำงานอย่างชัดเจน แต่เวลานอกจากเวลาพัก อย่างการพักสูบบุหรี่ หรือเวลาน้ำชา ตัวพนักงานมักจะเป็นผู้กำหนดเองตามความเหมาะสม ยิ่งคนที่ทำงานในออฟฟิศตลอดทั้้งวัน การพักเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างงานก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีอย่างหนึ่งเลยค่ะ อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทมีกฎเหล่านี้แตกต่างกัน ก็ลองสอบถามเพื่อนร่วมงานหรือรุ่นพี่เพื่อความแน่ใจและขอความร่วมมือเวลาจะไปพักก็เป็นเรื่องที่ดีค่ะ

เวลาปรกติทำงานเอกสาร แต่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ OT!

Japanese worker

ในบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้น เวลาทำงานปกติจะอยู่ที่ 9:00 – 18:00 น. (รวมเวลาพักกลางวัน 1 ชั่วโมง) ตกวันหนึ่งก็ 8 ชั่วโมงค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ทำงานล่วงเวลาก็มีไม่น้อย ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานจนเสียชีวิตก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมเลยค่ะ ในกฎหมายญี่ปุ่นนั้น มีการระบุชั่วโมงล่วงเวลาสูงสุดไว้ชัดเจนแล้ว แต่บริษัทหลายแห่งก็ใช้วิธีไม่ยอมแสดงชั่วโมงล่วงเวลาบ้าง ให้พนักงานเอางานกลับไปทำที่บ้านบ้าง แถมยังไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้อีกก็มีไม่น้อยเลยค่ะ

ในช่วงหลายปีมานี้ ทางรัฐบาลมีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น ฝั่งคนทำงานก็มีความรู้มากขึ้น บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance ก็เพิ่มขึ้นค่ะ อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีระบบอย่าง “วันไม่ทำโอที” หรือ “Premium Friday” ที่อนุญาตให้กลับบ้านก่อนเวลาในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน แต่ด้วยความที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับผู้อื่น หากเพื่อนร่วมแผนกยังอยู่ คนญี่ปุ่นบางคนก็จะรู้สึกไม่ดีที่จะกลับเร็วค่ะ ถึงแม้ว่าการปกป้องสิทธิของตัวเองจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องดูความยุ่งของงานและสังเกตสถานการณ์ของผู้อื่นรอบตัวก่อนด้วย แล้วก็ควรเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานล่วงเวลาไว้เสมอด้วยค่ะ หากไม่สามารถอยู่เกินเวลาได้จริงๆ ก็ต้องแจ้งทางบริษัทล่วงหน้าก่อนจะเริ่มทำงาน เพื่อให้ทั้งตัวคุณและบริษัทเข้าใจเรื่องการทำงานนอกเวลาของคุณได้ตรงกันนั่นเอง

ต้องไปกินเลี้ยง? เสริมสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานผ่าน ”Nominication”

Izakaya
Andres Garcia Martin / Shutterstock.com

ในปัจจุบัน คนหนุ่มสาวที่ไม่นิยมดื่มแอลกอฮอล์มีมากขึ้น เทรนด์ของการให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวก็มาแรงขึ้น ทำให้การดื่มสังสรรค์ของบริษัทลดลงไปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายบริษัทมีการจัดเลี้ยงเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพและความเป็นครอบครัวมาตั้งแต่อดีตค่ะ คำว่า Nomu ที่แปลว่าดื่ม และคำว่า Communication ที่แปลว่าการสื่อสาร ก็ผสมรวมกันเป็นคำว่า Nominication ที่มองว่าการดื่มเหล้าร่วมกัน จะทำให้ต่างฝ่ายต่างพูดความรู้สึกที่แท้จริงและได้พูดคุยกัน ทำให้สนิทสนมกันมากขึ้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นงานรับน้องใหม่ งานเลี้ยงส่ง งานส่งท้ายปีเก่า งานขึ้นปีใหม่ งานปาร์ตี้ประจำปี แม้กระทั่งงานชมซากุระ ก็ถือเป็นงานสังสรรค์ตามปรกติของบริษัท ที่จะเป็นโอกาสให้พนักงานที่ปรกติไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุยกันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

งานเลี้ยงสังสรรค์รอบแรก หรือ Ichiji Kai (1次会) มักจะเป็นการไปทานอาหารในร้านจัดเลี้ยงที่มีอาหารหลากหลายชนิดและมีเครื่องดื่มให้บริการ หลังจากนั้นก็มักจะไปต่อกันที่คาราโอเกะหรือเล่นโบว์ลิ่งกันค่ะ การปิดท้ายงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วยการทานราเมงร่วมกันก็มีด้วยเช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องไปร่วมทุกงาน แต่ในงานสำคัญอย่างงานรับน้องใหม่ งานต้อนรับและเลี้ยงส่ง และงานส่งท้ายปีเก่า ก็ควรไปร่วมงานให้ได้ เพื่อที่จะได้สังสรรค์พูดคุยกับคนอื่นๆ ในบริษัท ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นและยังทำให้งานการที่ทำอยู่ของตนราบรื่นขึ้นด้วยค่ะ

จังหวะสำคัญที่สุด! จะลาหยุดก็อย่าลืมใส่ใจคนรอบข้าง

Japanese worker

โดยทั่วไปแล้ว บริษัทญี่ปุ่นจะมีวันหยุดประมาณ 120 วันต่อปี ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคมจะเป็นวันหยุด Golden Week และในช่วงวันที่ 10 เดือนสิงหาคม จะเป็นวันหยุดเทศกาลโอบ้ง (Obon Yasumi) และมีวันหยุดช่วงปีใหม่อีกประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นวันหยุดยาวค่ะ หากทำงานเป็นพนักงานประจำ หลังจากเข้าทำงานได้ 6 เดือนติดต่อกัน รวมถึงมีวันทำงานมากกว่า 80% ก็จะได้รับวันหยุดอย่างน้อย 10 วันที่สามารถลาได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม คนที่รู้สึกว่าไม่อยากลาหยุดเพราะผู้อื่นต้องทำงานอยู่ก็มีมาก หรือสภาพแวดล้อมของบริษัทที่ลาหยุดโดยรับเงินเดือนได้ยากก็มีเช่นกันค่ะ หากเราได้รับวันหยุดเพียงผู้เดียว ก็ควรรีบแจ้งหัวหน้าและปรึกษาเพื่อนในทีมก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ลาหยุดในช่วงเวลาที่ทำให้การทำงานมีปัญหาค่ะ นอกจากนี้ หากเพื่อนร่วมทีมลางานแล้ว เราก็ควรจะให้ความร่วมมือและช่วยกันสร้างความสัมพันธ์ที่ทุกคนยังติดต่อกันได้แม้จะลางานอยู่ เพราะบรรยากาศในที่ทำงาน ก็ต้องสร้างจากผู้ร่วมงานกันเองเท่านั้น! รู้อย่างนี้แล้ว ก็สามารถสร้างบรรยากาศที่สามารถลางานอย่างเหมาะสมได้แล้วล่ะค่ะ!


ในบทความนี้ เราก็ได้แนะนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานในญี่ปุ่นกันไปเรียบร้อยแล้ว หวังว่าทุกคนจะเริ่มทำงานในบริษัทญี่ปุ่นกันได้อย่างราบรื่นนะคะ! แน่นอนว่าแต่ละบริษัทอาจจะมีวัฒนธรรมและข้อตกลงที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็อย่าลืมใช้ 10 ข้อด้านบนนี้เป็นพื้นฐาน มองตัวเองเป็นพนักงานคนหนึ่งเข้าไว้ ก็จะสามารถสร้างผลงานที่เป็นตัวคุณที่สุดได้อย่างแน่นอน!

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: