รวม 12 ระบบจ่ายเงินแบบ Cashless ในญี่ปุ่น น่าใช้ ไม่พกเงินสดก็อยู่ได้!

cashless-payment-japan
Oyraa

คุณอาจแปลกใจหากได้รู้ว่าภาพจำเดิมๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้แต่เงินสดนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ร้านค้าต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนจากระบบรับแต่เงินสดเป็นระบบที่รับเงินดิจิทัลแล้ว แม้ว่าการพกเงินสดสำรองยังคงจำเป็นสำหรับกรณีฉุกเฉิน แต่ญี่ปุ่นก็มีระบบแทนเงินสดที่มาพร้อมความสะดวกสบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อยู่มากมาย เราได้รวบรวมตัวเลือกเด่นๆ มาให้คุณแล้วในบทความนี้ ตามไปดูกันเลย!

สารบัญ

สถานการณ์ของสังคมไร้เงินสดในญี่ปุ่น

cashless payment sign japan
StreetVJ / Shutterstock.com

เดือนมิถุนายน ปี 2020 คือ เก้าเดือนหลังจากที่รัฐบาลริเริ่มนโยบายคืนเงินเพื่อผลักดันการใช้ระบบแทนเงินสด ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ จากเดิมที่กว่า 90% ของการใช้ระบบแทนเงินสดเป็นการใช้บัตรเครดิต ตอนนี้ร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศกว่าหนึ่งล้านแห่งก็ได้หันมารองรับระบบแทนเงินสดแบบอื่นๆ ที่ใหม่กว่าบัตรเครดิตอย่างเช่น ระบบเติมเงินดิจิทัลและรหัส QR กันแล้ว

นอกจากนี้ จากการข้อมูลการสำรวจของหนังสือพิมพ์ไมนิจิพบว่า กว่าครึ่งของประชากรที่อายุต่ำว่า 50 ปีในญี่ปุ่นก็มีการใช้ระบบแทนเงินสดในชีวิตประจำวันกันด้วย รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้มีการทำธุรกรรมผ่านระบบแทนเงินสดให้ได้ถึง 40% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมดภายในปี 2025 และคาดหวังว่าจะขึ้นไปถึง 80% ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ทำไมเราควรใช้ระบบแทนเงินสดในญี่ปุ่น: ประโยชน์ของการใช้ระบบแทนเงินสด

การใช้ระบบแทนเงินสดในญี่ปุ่นมีประโยชน์หลักๆ อยู่ 2 ข้อ ข้อแรก คือ ความสะดวก เพราะเราสามารถจ่ายเงินได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่รูดบัตรหรือสแกน QR Code ได้ในเวลาอันรวดเร็วและไม่จำเป็นต้องเสียเวลาควานหาเศษเหรียญในกระเป๋าสตางค์ บัตร Travel Card ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนคุณสมบัตินี้ได้ดี เนื่องจากมันสามารถใช้ชำระเงินค่าสินค้าที่วางขายในบริเวณสถานีใหญ่ๆ ได้แทบทั้งหมด 

ส่วนข้อที่ 2 คือ การใช้ระบบแทนเงินสดในการใช้จ่ายในญี่ปุ่นจะทำให้เราได้ “รางวัล” ตอบแทนด้วย ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของแต้มซึ่งจะคำนวณตามเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่เราใช้จ่ายไป และสามารถแลกกลับเป็นเงินเยนเพื่อใช้จ่ายแทนเงินสดต่อได้อีก และสุดท้ายก็จะทำให้การใช้จ่ายในครั้งต่อๆ ไปของเราใช้เงินน้อยลงได้

ตัวเลือกของระบบแทนเงินสดสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนระยะสั้น

บัตรเครดิต

credit card cashless payment japan
Stephane BDC / Shutterstock.com

เริ่มกันที่ระบบแทนเงินสดที่คนน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดอย่างบัตรเครดิต ถึงแม้จะใช้ได้ไม่มากนักเวลาไปเยือนแถบชนบท เพราะยังมีอยู่หลายที่ที่รับเฉพาะเงินสด แต่หากเดินทางท่องเที่ยวในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวก็ใช้ได้สบายหายห่วง บัตรอย่าง MasterCard หรือ VISA ตามปกติจะสามารถใช้ได้ในร้านค้าหลายเครือรวมถึงโรงแรมและเรียวกัง (โรงแรมแบบญี่ปุ่น) แต่เพื่อความแน่ใจ แนะนำให้ตรวจสอบกับทางผู้ออกบัตรและสังเกตสัญลักษณ์ของบัตรที่หน้าร้านก่อนจะดีที่สุด 

นอกจากนี้ บัตรเครดิตยังสามารถใช้ในการถอนเงินสดจากตู้ ATM ซึ่งสามารถพบได้ในร้านสะดวกซื้อแทบทุกสาขา ด้วยจำนวนสาขาที่มากมายและครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ทำให้การถอนเงินสดเป็นเรื่องสะดวกสบายมากๆ ไม่ว่าอย่างไร บัตร VISA และ MasterCard ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดและมั่นใจได้ว่าสามารถใช้กับตู้ ATM ของญี่ปุ่นได้

แต่คุณก็ไม่ต้องกังวลว่าบัตรเครดิตอื่นๆ จะใช้กับตู้ ATM ญี่ปุ่นไม่ได้ เพียงสังเกตสัญลักษณ์เครื่องหมายบวกที่ตู้ ซึ่งแปลว่าตู้นั้นรองรับบัตรเครดิตประเภทอื่นๆ ด้วย โดยตู้ ATM ประเภทนี้มักจะพบได้ที่ร้านสะดวกซื้อ 7-11 และธนาคาร Japan Post Bank

บัตร IC

suica ic card cashless payment japan
Terence Toh Chin Eng / Shutterstock.com

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ระบบแทนเงินสดแบบทุกอย่างจบในบัตรใบเดียว บัตร IC ของญี่ปุ่นคือคำตอบ นอกจากความสะดวกสบายในการใช้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะนานาประเภทในญี่ปุ่นแล้ว บัตร IC ยังสามารถใช้ในการใช้จ่ายและชำระค่าสินค้าต่างๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ตู้กดน้ำข้างทาง, ร้านอาหาร, หรือห้างหรูอย่าง Sunshine City ในย่านอิเคะบุคุโระ และห้าง AEON ทั่วประเทศ รวมถึงเครือร้านสะดวกซื้อใหญ่ๆ อย่างลอว์สัน, แฟมมิลี่มาร์ท, 7-11 และเครือที่รองลงมาอย่าง Daily, Yamazaki และ Ministop ด้วย

การเป็นเจ้าของบัตรก็ทำได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ไปที่เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติหรือเคาน์เตอร์พนักงานที่สถานีรถไฟแห่งใดก็ได้ แล้วจ่ายค่ามัดจำเล็กน้อย (ปกติจะ 500 เยน) รวมกับจำนวนเงินที่เติมเข้าไปในบัตร เพียงเท่านี้ก็จะได้บัตร IC ใหม่เอี่ยมพร้อมใช้งานแล้ว

บัตร Suica เป็นบัตร IC ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด สามารถออกบัตรได้ที่สถานี JR ทุกแห่งในโตเกียวและในเขตปริมณฑล ส่วนบัตร Pasmo จะหาซื้อได้จากระบบขนส่งสาธารณะเจ้าอื่นๆ นอกจาก JR (เช่น Tokyo Metro และ Toei Subway) บัตรทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถใช้แทนกันได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถเป็นเจ้าของบัตร Suica ได้อย่างง่ายๆ ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Suica ในโทรศัพท์ได้ฟรี สามารถนำไปใช้แทนบัตรแข็งได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ามัดจำอีกด้วย

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตร IC ของญี่ปุ่นได้ที่นี่

สามารถดาวน์โหลดแอปฯ Suica ได้ที่ Google Play และ App Store

Apple Pay, Google Pay ใช้ร่วมกับ Suica

apple google pay cashless payment japan
rvlsoft / Shutterstock.com

ทั้งแอปฯ Apple Pay และ Google Pay ต่างสามารถดาวน์โหลดได้จากสโตร์ของโทรศัพท์แต่ละเจ้า ตามปกติแล้วมีเพียงบัตรเครดิตญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะสามารถใช้กับ Apple Pay และ Google Pay ในญี่ปุ่นได้ แต่ปัญหานี้สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพียงผูก Suica เข้ากับ Apple Pay และ Google Pay แล้วเติมเงินเข้า Suica ผ่านทาง Apple Pay และ Google Pay ที่ผูกเข้ากับบัตรจากประเทศของเรา จากนั้นก็จะสามารถชำระเงินค่าสินค้าต่างๆ ผ่าน Suica ได้ทันที 

การชำระเงินผ่าน Apple Pay หรือ Google Pay จากบัญชีของประเทศของเรานั้นสามารถทำได้กับร้านค้าเพียงไม่กี่แห่งที่มีสัญลักษณ์ว่ารองรับระบบ NFC ของบัตร VISA, MasterCard, American Express (Amex) เท่านั้น ซึ่งหากต้องการชำระเงินด้วยวิธีนี้จะต้องแจ้งพนักงานว่าต้องการจ่ายผ่านระบบบัตรเครดิตหรือ NFC ตัวอย่างร้านค้าที่รองรับระบบดังกล่าว ได้แก่ ลอว์สัน, Tsutaya, แมคโดนัลด์, โตเกียวดิสนีย์แลนด์ และคาเฟ่ Doutor

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและมีบัญชีธนาคารของญี่ปุ่นรวมถึงเบอร์โทรศัพท์ของญี่ปุ่นย่อมไม่มีปัญหาในการผูกบัตรต่างๆ อย่าง Suica, WAON หรือ Nanaco เข้ากับ Apple Pay และ Google Pay เพียงแค่ติดตั้งแอปพลิเคชันแล้วเติมเงิน เลือกบัตรที่ต้องการใช้ แล้วก็แตะโทรศัพท์มือถือเข้ากับเครื่องสแกนเวลาชำระเงินค่าสินค้าหรือเดินผ่านประตูตรวจตั๋วรถโดยสารสาธารณะได้เลย

สามารถดาวน์โหลด Google Pay ได้ที่ Google Play

สามารถดาวน์โหลด Apple Pay ได้ที่ App Store

ตัวเลือกของระบบแทนเงินสดสำหรับผู้อยู่อาศัยระยะยาว

1. แอปพลิเคชันชำระเงินบนสมาร์ทโฟน

แอปพลิเคชันเหล่านี้สามารถใช้จ่ายเงินได้ง่ายๆ ด้วยการแสดงบาร์โค้ดที่อยู่บนหน้าจอโทรศัพท์แก่พนักงานซึ่งจะสแกนและทำการหักเงินในแอปฯ ออกไปตามจำนวนเงินค่าสินค้า แม้แต่ร้านค้าเล็กๆ ก็สามารถสแกนบาร์โค้ดเหล่านี้ได้ด้วยสมาร์ทโฟนอีกเครื่องโดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบพิเศษอะไร

・LINE Pay

line pay logo cashless payment japan
StreetVJ / Shutterstock.com

ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งคงจะพอรู้จักแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความที่นิยมในหมู่คนญี่ปุ่นมากกว่าแอปฯ อื่นๆ อย่าง Messenger ของเฟซบุ๊ก หรือ WhatsApp ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ

LINE Pay นี้เป็นส่วนขยายของแอปฯ LINE สามารถใช้เป็นกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลที่เติมเงินเข้าไปโดยผูกเข้ากับบัญชีธนาคารญี่ปุ่นหรือเติมเงินผ่านร้านสะดวกซื้อในเครือใหญ่ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบเติมเงินอัตโนมัติที่จะเติมเงินจากบัญชีที่ผูกไว้เมื่อยอดเงินคงเหลือในระบบลดลงจนถึงค่าที่ตั้งไว้ด้วย

ข้อดีอีกอย่างของแอปฯ นี้คือ ความง่ายดายในการส่งเงินและหารเงินกันระหว่างเพื่อน ที่สำคัญ คือ แอปฯ นี้มีระบบเป็นภาษาอังกฤษ และเราจะได้แต้มสำหรับใช้จ่ายแทนเงินทุกครั้งเป็นจำนวน 1 – 3% ของเงินที่ใช้จ่ายผ่านแอปฯ LINE Pay อีกด้วย

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน LINE Pay ได้ที่ App Store หรือ Google Play

・PayPay

paypay logo cashless payment japan
slyellow / Shutterstock.com

แม้ว่า PayPay จะเป็นแอปฯ ที่ยังใหม่เมื่อเทียบกับ LINE Pay แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเพราะเป็นแอปฯ ที่มีร้านค้ารองรับมากที่สุด สามารถใช้ได้กับร้านค้ามากกว่า 32,000 แห่งทั่วญี่ปุ่น แอปพลิเคชันนี้ทำงานโดยผูกเข้ากับบัญชีธนาคารหรือบัญชี Yahoo! Wallet นอกจากใช้ชำระเงินค่าสินค้าต่างๆ แล้ว เรายังสามารถใช้ PayPay ในการส่งเงินให้เพื่อนหรือครอบครัวได้อีกด้วย ซึ่งสะดวกมากสำหรับการหารค่าใช้จ่ายเวลาไปรับประทานอาหารด้วยกัน

น่าเสียดายที่ PayPay ยังไม่มีระบบภาษาอังกฤษเต็มตัวหรือระบบสะสมแต้มแบบถาวร มีเพียงโปรโมชันเป็นบางช่วงอย่างเช่น โปรโมชัน Cashback ในปี 2019 เท่านั้น

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PayPay ได้ที่ App Store หรือ Google Play

・R Pay

rakuten pay logo cashless payment japan
StreetVJ / Shutterstock.com

R Pay ของ Rakuten ก็เป็นอีกหนึ่งระบบแทนเงินสดเจ้าใหญ่ที่เปิดให้บริการเป็นลำดับแรกๆ ของญี่ปุ่น แอปฯ นี้มีภาษาอังกฤษรองรับบนเว็บไซต์และมีโปรโมชันที่น่าสนใจมากมายเเมื่อทียบกับเจ้าอื่นๆ ทุกครั้งที่จ่ายเงินผ่าน R Pay เราจะได้รับแต้มราคุเต็น และจะได้รับแต้มเป็น 2 เท่า หากบัตรเครดิตที่ผูกอยู่กับบัญชีเป็นบัตรเครดิตของราคุเต็นเอง

บัตรเครดิตของราคุเต็นเป็นบัตรที่สมัครได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ ของญี่ปุ่น สามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้และไม่จำเป็นต้องใช้ “ฮังโกะ” หรือตราประทับของญี่ปุ่นด้วย 

จำนวนแต้มที่จะได้รับจากการใช้แอปฯ นี้คือ 1 แต้มสำหรับทุกๆ 200 เยนที่จ่ายไป แต้มที่ได้มาสามารถนำมาใช้จ่ายได้อีกผ่านแอปฯ นี้ในการซื้อสินค้าครั้งต่อไป (1 แต้ม = 1 เยน) นอกจากนี้ เพียงคุณสมัครบัตรเครดิตของราคุเต็น ก็จะได้แต้มราคุเต็นฟรีๆ ถึง 5,000 แต้มอีกด้วย

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน R Pay ได้ที่ App Store หรือ Google Play

・Origami Pay

origami pay logo cashless payment japan
StreetVJ / Shutterstock.com

ในขณะที่ตัวเลือกก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่รองรับการใช้งานในร้านค้าเครือข่ายหรือร้านค้าใหญ่ๆ ทั่วประเทศ Origami Pay กลับเป็นบัตรที่รองรับการใช้งานในร้านค้าเล็กๆ กว่า 1.45 ล้านแห่ง เป็นร้านตามตรอกซอกซอยต่างๆ รวมถึงหรือร้านค้าในพื้นที่ชนบท

แอปฯ นี้มีภาษาอังกฤษ และด้วยความที่มีร้านค้าร่วมโครงการหลากหลาย จึงมีแคมเปญมากมายที่จะให้ส่วนลดเวลาใช้จ่ายกับทางร้านค้า แม้แต่แคมเปญที่ให้ส่วนลดถึง 50% เมื่อใช้ Origami Pay ในการชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าอาหารที่ร้านอย่าง Yoshinoya หรือ Matsuya นอกจากนี้ แอปฯ นี้ยังสามารถใช้กับร้านค้าปลีกบางแห่งอย่าง LOFT, IKEA และ PARCO ได้อีกด้วย 

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Origami Pay ได้ที่ App Store หรือ Google Play

2. บัตรสะสมแต้ม

บัตรสะสมแต้มสามารถใช้ในการชำระค่าสินค้าต่างๆ ได้เหมือนกับบัตร IC เพียงแค่แตะเข้ากับเครื่องสแกน บัตรเหล่านี้สามารถเก็บสะสมแต้มที่ได้เป็นรางวัลจากการใช้จ่ายผ่านบัตรได้ และอาจจะได้แต้มเพิ่มเป็นพิเศษเมื่อใช้กับร้านค้าบางแห่งอีกด้วย

・Nanaco

nanaco card cashless payment japan

สำหรับผู้ที่กำลังมองหาระบบการจ่ายเงินผ่านบัตรที่นอกเหนือไปจากตัวเลือกที่เราได้กล่าวไปไปข้างต้น Nanaco ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะเป็นบัตรสะสมแต้มที่ใช้งานได้หลากหลาย บัตรลายยีราฟน่ารักๆ นี้เป็นของเครือ 7-11 และสามารถใช้ได้กับร้าน 7-11 ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ รวมถึงร้านค้าอื่นๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต Ito Yokado และร้าน Denny’s การชำระเงินผ่านบัตรนี้จะทำให้ได้รับแต้มสะสม 1 แต้มสำหรับทุกๆ 100 เยนที่จ่ายออกไป 

คุณสามารถสมัครบัตร Nanaco ได้ด้วยการสมัครออนไลน์ หรือรับแบบฟอร์มสำหรับการสมัครได้ที่ 7-11, ร้านในเครือ YorkMart และ ร้าน Denny’s

・WAON

Ned Snowman / Shutterstock.com

บัตร WAON ทำงานในลักษณะเดียวกันกับบัตร Nanaco แต่บัตร WAON จะสามารถใช้ได้กับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่อย่าง AEON Mall ที่สามารถพบได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น บัตรนี้ไม่เพียงแต่ใช้กับซูเปอร์มาร์เก็ตของ AEON ได้เท่านั้น แต่สามารถใช้กับร้านค้าปลีกต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าในเครือนี้ได้ด้วย หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้ออย่างแฟมมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน, มินิสต็อป และร้านขายของชำในเครือ AEON อย่าง My Basket แม้ว่าแต้มที่จะได้รับจากการซื้อของจะน้อยกว่าแต้มจากบัตร Nanaco ครึ่งหนึ่ง (1 แต้มต่อการใช้จ่าย 200 เยน) แต่ข้อดีของบัตร WAON คือ สถานที่ที่สามารถใช้บัตรนี้เพื่อชำระเงินได้นั้นมีหลากหลายกว่า 

บัตร WAON มีค่าออกบัตร 300 เยน และวิธีสมัครที่สะดวกที่สุด คือ ไปซื้อที่ AEON Mall, ร้าน MaxValu และ ร้านสะดวกซื้อมินิสต็อป

・Rakuten Edy

rakuten edy point card cashless payment japan

อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสังคมไร้เงินสดจากราคุเต็น คือ บัตร Edy ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินที่ใช้งานกับร้านค้าหลากหลายมากๆ อาจจะมากที่สุดในญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำ เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับบัตรเติมเงินอื่นๆ อย่างเช่น 2 ตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นที่สามารถใช้ได้กับร้านค้าในเครือเท่านั้น

การทำงานของบัตร Edy นั้นแทบจะเหมือนกับการทำงานของ R Pay ที่ได้อธิบายไปในช่วงต้นของบทความ แต่ความแตกต่างหลักๆ คือ บัตร Edy จะเป็นบัตรแข็งที่จับต้องได้

นอกจากการใช้งานเพื่อซื้อสินค้าตามปกติแล้ว บัตรใบนี้ยังสามารถผูกเข้ากับบัญชีราคุเต็นเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ และจะได้รับแต้มเพิ่มเป็น 2 เท่า หากคุณเป็นผู้ถือบัตรเครดิตราคุเต็นด้วย นั่นคือ จากที่ปกติได้รับ 1 แต้มต่อการใช้จ่าย 100 เยน จะกลายเป็น 2 แต้มต่อ 100 เยนทันที!

บัตร Edy จะสามารถใช้ควบคู่ไปกับบัญชี Rakuten Pay ได้ หรือหากใครไม่ต้องการสร้างบัญชีให้วุ่นวาย ก็สามารถใช้บัตร Edy ใบเดียวเพื่อใช้เป็นบัตรเติมเงินและซื้อสินค้าตามร้านค้าต่างๆ ได้เช่นกัน

・บัตรเครดิตที่มี Suica หรือ Pasmo

credit card suica pasmo cashless payment

หากคุณจะสมัครบัตรเครดิตที่ญี่ปุ่น บัตรเครดิตที่เป็นบัตร IC (อย่าง Suica หรือ Pasmo) หรือบัตรสะสมแต้มไปในตัวก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ คุณจะไม่ต้องพกบัตรหลายใบให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะใช้เพียงบัตรเดียวก็สามารถขึ้นรถไฟหรือรถบัส ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าต่างๆ ที่ร้านสะดวกซื้อ หรือรูดเป็นบัตรเครดิตเพื่อใช้ซื้อสินค้าราคาสูงก็ได้ นอกจากนี้ บัตรประเภทดังกล่าวยังสามารถเติมเงินเข้าบัตรอัตโนมัติเมื่อใช้เงินในบัตรจนเหลือน้อยกว่ายอดที่ตั้งค่าไว้ได้ด้วย ทำให้คุณไม่ต้องกังวลกับการเติมเงินเข้าบัตรอีกเลย ข้อดีอีกอย่าง คือ บัตรประเภทนี้บางเจ้าจะมีระบบสะสมแต้มเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดหรือใช้แลกของรางวัลได้อีกด้วย 

มีบริษัทญี่ปุ่น ร้านค้า และธนาคารญี่ปุ่นหลายแห่งที่มีข้อเสนอสำหรับบัตรเครดิตที่เป็นบัตร Suica หรือ Pasmo ไปในตัว ดังนั้น เราจึงมีตัวเลือกมากมายสำหรับพิจารณาว่าบัตรของบริษัทใดเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรามากที่สุด เริ่มสมัครบัตรผ่านทางออนไลน์แล้วอย่าลืมใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรกันด้วยนะคะ

*ไม่มีรองรับภาษาอังกฤษ

สังคมญี่ปุ่นยุคใหม่ไร้เงินสด

สำหรับผู้ที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาสั้นๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ การมีบัตรเครดิตสักใบและเงินสดสำรองอีกเล็กน้อย (สำหรับเวลาไปร้านค้าหรือร้านอาหารที่ไม่รับบัตรเครดิต) ย่อมเพียงพอ แน่นอนว่าบัตร IC เองก็ช่วยให้การเดินทางและการใช้จ่ายสะดวกสบายมากขึ้นโดยไม่มีความยุ่งยากในการออกบัตร และยังเป็นของที่ระลึกจากญี่ปุ่นที่ดีไม่น้อย

ส่วนคนที่ไม่ได้มาอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ระบบสะสมแต้มหรือ Cashback ย่อมเป็นแรงจูงใจที่ดีที่จะทำให้คุณหันมาใช้ระบบแทนเงินสดสักระบบ LINE Pay ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการเริ่มต้นเพราะคนส่วนใหญ่น่าจะมีแอปพลิเคชันนี้ในโทรศัพท์กันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ หากลองใช้ระบบอื่นๆ อย่างที่กล่าวมาในบทความ ก็จะมีสิทธิประโยชน์และส่วนลดอีกมากมายรอคุณอยู่! เงินส่วนที่ประหยัดไปจากการใช้จ่ายแม้จะดูเล็กน้อยแต่หากสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะได้เงินเก็บก้อนใหญ่เช่นกัน

ไม่ว่าคุณจะมาที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อท่องเที่ยวระยะสั้นหรือปักหลักอาศัยในระยะยาว และไม่ว่าคุณจะเลือกใช้บัตรหรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือสำหรับจ่ายเงินซื้อสินค้า ก็มีตัวเลือกของระบบแทนเงินสดมากมายให้ได้เลือกใช้อย่างเต็มที่ในญี่ปุ่นค่ะ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: