รู้ไว้ก่อนไปงานแต่งญี่ปุ่น! 10 ข้อควรจำ เพื่อมารยาทที่ดีเมื่อไปร่วมงาน

wedding-party-p27799795-1
Oyraa

หากคุณได้รับเชิญให้ไปร่วมงานแต่งงาน การเขียนจดหมายตอบรับ การเตรียมของไปงาน การเลือกชุดและทรงผมล้วนก็เป็นสิ่งที่ควรทำให้เหมาะสมอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนั้น ญี่ปุ่นยังมีกฎที่ซับซ้อนเกี่ยวกับของขวัญและมารยาทการปฏิบัติตัวในวันงานด้วย หากไม่ศึกษาให้ดีก่อนก็อาจถูกมองว่าเสียมารยาทได้ ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำมารยาทที่ควรรู้และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะไปเข้าร่วมงานแต่งงาน เพื่อให้คุณไปอวยพรคู่บ่าวสาวได้อย่างสบายใจในวันงานกันค่ะ!

ตอบจดหมายเชิญให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

หากจะบอกว่างานแต่งงานเริ่มต้นจากการตอบรับจดหมายเชิญ ก็ไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินจริงไปเลยค่ะ เพราะการเตรียมงานแต่งงาน จะต้องเริ่มจากการเตรียมจำนวนที่นั่งในส่วนต้อนรับแขก อาหารและจำนวนของขวัญ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หากไม่รู้จำนวนของผู้ที่มาร่วมงาน ดังนั้น หากเป็นไปได้คุณก็ควรตอบกลับภายใน 2 – 3 วันหลังได้รับจดหมาย หรืออย่างช้าก็ควรตอบกลับภายในเวลาที่ทางนั้นกำหนดมา ในกรณีที่คุณไม่ทราบกำหนดการของตัวเองล่วงหน้าเนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง การบอกฝ่ายจัดงานไปตามตรงภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ถือเป็นมารยาทที่ดีค่ะ ดังนั้น เมื่อได้รับจดหมายเชิญแล้ว ก็อย่าลืมว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับงานแต่งงานในครั้งนี้ และให้ความร่วมมือเพื่อช่วยลดภาระของบ่าวสาวกันด้วยนะคะ

นอกจากนี้ ยังมีมารยาทในการตอบกลับจดหมายเชิญด้วยค่ะ ถึงในปัจจุบันจะมีงานแต่งงานที่ค่อนข้างอิสระ ไม่ค่อยมีพิธีรีตองมากขึ้นแล้ว แต่การรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมก็ยังคงมีมากอยู่ โดยพื้นฐานแล้ว ในจดหมายเชิญจะมีคำว่า “เข้าร่วม (御出席 หรือ ご出席)” และ “ไม่เข้าร่วม (御欠席 หรือ ご欠席)” ซึ่งมีการใส่ ご หรือ 御 ลงไปด้วย เนื่องจากทางฝั่งผู้จัดงานให้เกียรติแขกโดยการใช้ภาษาสุภาพ ดังนั้น เมื่อเราตอบกลับก็จำเป็นจะต้องขีดเส้น 2 เส้นฆ่าคำสุภาพเหล่านั้นออกด้วยค่ะ และหากในจดหมายเชิญมีพื้นที่ให้เขียน ก็ควรเขียนคำอวยพรแนบลงไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นมารยาทที่คนญี่ปุ่นรู้กันดีค่ะ

ในปัจจุบัน การวาดคำอวยพรลงในการ์ดเชิญเป็นการตอบกลับ หรือตอบกลับด้วยศิลปะกำลังเป็นที่นิยม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการวาดรูปลงไปในการ์ดเชิญจากผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าเราก็ออกจะดู Casual เกินไปและอาจถูกมองว่าเสียมารยาทได้เหมือนกัน แต่หากเป็นงานแต่งงานของเพื่อนสนิท การวาดแบบนี้จะถือว่าเป็นการใส่ใจในคำอวยพร นับว่าเป็นเทรนด์ที่น่ารักมากๆ เลยก็ว่าได้

หากมีอาหารที่รับประทานไม่ได้ ต้องบอกล่วงหน้า

สิ่งหนึ่งที่เป็นความสนุกสนานของงานแต่งงาน คือ อาหารและเครื่องดื่มค่ะ หากสถานที่จัดงานเป็นโรงแรม เมนูก็มักจะจัดมาเป็นอาหารแบบ Full Course ดังนั้น หากมีอาหารหรือเครื่องดื่มที่รับประทานไม่ได้ การบอกก่อนล่วงหน้าก็ถือเป็นมารยาทที่ดีค่ะ ในปัจจุบัน คู่บ่าวสาวมักจะใส่ใจในจุดนี้เป็นพิเศษและมีช่องให้ระบุ “อาหารและเครื่องดื่มที่มีอาการแพ้” ในจดหมายเชิญกันมากขึ้น สิ่งที่อยากให้ระวัง คือ ควรเขียนเฉพาะอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้เท่านั้น หากเขียนอาหารที่ชอบหรือไม่ชอบทานจะถือว่าเป็นการเสียมารยาทค่ะ สำหรับใครที่มีอาหารที่รับประทานไม่ได้ด้วยเหตุผลทางศาสนา ก็สามารถเขียนลงไปได้เช่นกัน

หากในจดหมายเชิญไม่มีบริเวณให้เขียนโดยเฉพาะ ก็สามารถเขียนลงไปในบริเวณที่ว่างของการ์ดได้ค่ะ หรือจะโทรศัพท์ไปคุยกับคู่บ่าวสาวโดยตรงเพื่อความแน่ใจก็ได้ การแพ้อาหาร หากไม่ระบุให้ดีก็สามารถนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงอาจไปทำลายงานแต่งงานของพวกเขาด้วย ดังนั้น ต้องบอกล่วงหน้าให้ละเอียด หากไม่มีช่องให้ระบุก็ต้องหาวิธีระบุไปให้ชัดเจน เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เจ้าของงานควรจะต้องรับรู้ค่ะ

ระวังของหาย! สิ่งที่ควรนำไปงานแต่งงาน

สำหรับบ่าวสาวแล้ว งานแต่งงานถือเป็นงานใหญ่ที่มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต บรรดาแขกผู้มีเกียรติก็ควรจะเตรียมตัวให้พร้อมจะได้ไปอวยพรบ่าวสาวอย่างเต็มที่ เพื่อไปร่วมพิธีอย่างสบายๆ การลืมของก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจค่ะ รายการของที่ควรนำติดตัวไปด้วยอยู่ด้านล่างแล้วค่ะ

1. ของขวัญ ซองเงินอวยพร
2. ซองผ้าใส่ซองเงินอวยพร (ใช้เพื่อห่อซองเงินอวยพรอีกที ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนก็ได้)
3. จดหมายเชิญ (บางครั้งมีเขียนสถานที่จัดงานในจดหมายเชิญ ควรนำไปด้วยเพื่อความแน่ใจ)
4. ผ้าเช็ดหน้า
5. โทรศัพท์มือถือ
6. กล้องถ่ายรูป
7. กระเป๋าสตางค์
8. ถุงน่องสำรอง
(ในกรณีของผู้หญิง ควรเตรียมถุงน่องสำรองไปในกรณีที่หากถุงน่องฉีกขาดหรือมีรอยจะได้มีเปลี่ยน)

ในงานพิธี คุณมักจะได้รับของชำร่วยกลับบ้านด้วย ดังนั้น ในกระเป๋าถือก็ควรมีของจำเป็นให้น้อยที่สุดค่ะ สำหรับคุณผู้ชาย การไปตัวเปล่าหรือมีกระเป๋าใบเล็กๆ ไปด้วย ก็เป็นเรื่องปกติค่ะ หากคุณมาจากที่ไกลๆ เพื่อมาร่วมงานและงานพิธีจัดในโรงแรมก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะว่าทางโรงแรมมีบริการรับฝากกระเป๋าและสิ่งของขนาดใหญ่อยู่แล้วค่ะ นอกจากนี้ หากเป็นงานแต่งงานในฤดูหนาว ก็มักจะมีบริการรับฝากเสื้อโค้ทและผ้าพันคอ เครื่องแต่งกายเหล่านี้ก็จะไม่เป็นที่เกะกะในงานเลยค่ะ กว่าจะถึงที่จัดงาน ถึงจะของเยอะหน่อยแต่ก็แต่งตัวอุ่นๆ ไปร่วมงานกันนะคะ

ข้อปฏิบัติแสนซับซ้อนมีมากมาย! จำนวนเงินของขวัญ วิธีเขียน และวิธีมอบ

จำนวนเงินของขวัญ

ที่ประเทศญี่ปุ่น แขกที่เข้าร่วมงานแต่งงานมักจะมอบเงินของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาวเป็นมารยาทค่ะ โดยทั่วไปแล้ว เงินของขวัญก็จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 เยนค่ะ แต่หากเงินเป็นเลขคู่ ที่แฝงความหมายว่าหารลงตัว หรือว่าแบ่งแยกได้ อย่าง สองหมื่นหรือสี่หมื่นเยน ก็จะถือว่าเป็นเลขที่ไม่ดีค่ะ อย่างไรก็ตาม เลข 8 ที่ว่ากันว่ามีความหมายถึงการกระจาย ถือว่าโอเคค่ะ นอกจากนี้ เลข 4 ที่พ้องเสียงกับคำว่าตาย (Shi / Shinu) และเลข 9 ที่พ้องกับคำว่ายากลำบาก (Ku / Kurushimu) ถือเป็นเลขที่มีความหมายไม่ดีในญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น ควรเลี่ยงค่ะ

นอกจากนี้ เงินของขวัญยังถือเป็นของอวยพรให้กับการเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น เพื่อทำให้ผู้รับรู้สึกได้ถึงการเตรียมตัวของเราที่ทุ่มเททั้งเวลาและแรงให้ การใส่ซองเป็น “ธนบัตรใหม่ๆ” จากธนาคาร ที่ยังไม่ได้ใช้มาก่อนก็ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งค่ะ อย่าลืมเตรียมตัวล่วงหน้ากันด้วยนะคะ

อีกเรื่องหนึ่งที่ควรรู้ไว้คือ หากงานแต่งงานและงานเลี้ยงฉลองจัดคนละวันกัน ส่วนใหญ่การมอบเงินของขวัญจะทำเพียงวันเดียวค่ะ

วิธีเลือกและวิธีเขียนซองของขวัญ

ในการเลือกซองเงินของขวัญ ก็ควรระวังเรื่อง Mizuhiki ให้ดีค่ะ! Mizuhiki เป็นเชือกรัดซองจดหมาย ที่นิยมใช้กับซองของขวัญในงานแต่งงานนั้น มักจะเป็นแบบ Musubikiri (รูปบน) หรือ Awaji-musubi (รูปกลาง) ค่ะ การผูกทั้งสองแบบเป็นแบบผูกครั้งเดียวและแก้ออกไม่ได้ เป็นการแฝงความหมายของการแต่งงานที่มีเพียง “ครั้งเดียว” ค่ะ ในทางตรงกันข้าม การผูกแบบโบว์ หรือ Cho-musubi (รูปล่าง) สามารถผูกซ้ำได้หลายครั้ง จึงไม่เหมาะกับงานแต่งงาน แต่เหมาะกับการอวยพรสิ่งที่อยากให้เกิดซ้ำอีกนั่นเองค่ะ

ในปัจจุบัน สีและจำนวนเส้นของ Mizuhiki รวมถึงสีและวัสดุของซองเงินของขวัญนั้นมีจำหน่ายมากมายค่ะ หากบ่าวสาวเป็นคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนสนิทหรือเพื่อนร่วมงานแล้ว ก็คงไม่มีปัญหาในการเลือกเท่าไร แต่บางครั้งการเลือกสิ่งของเหล่านี้ก็สามารถทำให้คุณดู Casual เกินไปได้ ดังนั้นก็ควรคิดถึงผู้รับให้ดีและเลือกให้เหมาะสมกับผู้รับค่ะ อย่างไรก็ตาม สีซองเป็นสีเทาอ่อน แล้วเส้นเชือกเป็นสีขาวดำ หรือเหลืองนั้นจะเป็นสีของซองช่วยงานศพ ดังนั้น ห้ามใช้เป็นซองของขวัญเด็ดขาดค่ะ

ในซองเงินของขวัญ ไม่ควรเขียนชื่อ จำนวนเงินและที่อยู่ด้วยปากกาลูกลื่นค่ะ ควรใช้พู่กันหรือปากกาสีดำหัวใหญ่มากกว่า นอกจากนี้ หมึกจางๆ จะนิยมใช้ในงานศพ ดังนั้น สำหรับงานแต่งงาน ก็ต้องเขียนด้วยหมึกสีดำให้ชัดๆ ไปเลยค่ะ เรื่องนี้ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งเลย

บนหน้าซองเงินของขวัญ ให้เขียนหัวข้อ (名目) และชื่อลงไปค่ะ ในส่วนของหัวข้อ อาจใช้เป็นคำว่า 寿 (Kotobuki) หรือ 御祝 (Oiwai) หรือ 御結婚御祝 (Go-Gekkon-Oiwai) แต่หากเข้าร่วมในงานเลี้ยง จะนิยมใช้คำว่า 寿 (Kotobuki) ค่ะ ในปัจจุบันมีซองของขวัญที่พิมพ์หัวข้อเอาไว้อย่างสวยงามจำหน่ายในร้านค้าทั่วไปด้วย หลายๆ คนก็นิยมใช้ซองแบบนั้นกันค่ะ

การพับซองเงินของขวัญชั้นนอกนั้น มีความหมายว่า “ความสุขทวีคูณ” อยู่ ดังนั้น ก็ควรพับด้านล่างของซองให้ขึ้นมาทับด้านบนค่ะ ในทางกลับกัน การพับซองให้ด้านบนทับด้านล่างมีความหมายว่า “ความโศกเศร้าจงมลายหายไป” ซึ่งใช้กับสถานการณ์การไว้ทุกข์ ดังนั้นห้ามทำในกรณีนี้เด็ดขาดค่ะ

ภายในซองเงินของขวัญ จะมีซองกลางไว้สำหรับใส่เงินสดอยู่ค่ะ ตอนเราใส่เงินในซองกลางนี้ ตามมารยาท จะต้องวางธนบัตรให้รูปบุคคลในธนบัตรเป็นสิ่งแรกที่มองเห็นเมื่อเปิดซองค่ะ กล่าวคือ ต้องให้รูปอยู่ใกล้กับทิศของปากซองจดหมายค่ะ ในงานแต่งงาน บ่าวสาวจะได้รับซองเงินของขวัญมากมาย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับสับสน ก็อย่าลืมเขียนจำนวนเงิน ชื่อผู้ให้และที่อยู่ลงไปในซองกลางนี้ด้วยค่ะ บนหน้าซองเขียนว่า 金 (เงิน) แล้วต่อด้วยจำนวนเงินที่ใช้ตัวคันจิแบบจีนเขียน (เช่น 壱 สำหรับ 1, 弐 สำหรับ 2, หรือ 参 สำหรับ 3 เป็นต้น) ส่วนด้านหลังของซองจะต้องเขียนที่อยู่และชื่อลงไปค่ะ ทุกอย่างบนซองของขวัญควรเขียนในแนวตั้งนะคะ

วิธีส่งมอบของขวัญ

โดยทั่วไปแล้ว แขกมักจะมอบซองของขวัญให้ในวันงานแต่งงาน ที่บริเวณจุดต้อนรับค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ซองมีรอยสกปรกหรือรอยขีดข่วน ก็ควรพกซองของขวัญมาในถุงที่เรียกว่า ฟุกุซาโตะ (ふくさと Fukusato) ซึ่งเป็นซองผ้าสำหรับห่อซองเงินโดยเฉพาะค่ะ ฟุกุซาโตะก็มีหลายรูปแบบ แต่ในงานแต่งงานหรืองานมงคลต่างๆ ก็นิยมใช้โทนสีอบอุ่นค่ะ สีดำหรือสีเทานั้นเป็นสีสำหรับงานศพ ต้องระวังด้วยนะคะ ฟุกุซาโตะสีม่วงสามารถใช้ได้กับงานทั้งมงคลและอวมงคล ดังนั้นขอแนะนำค่ะ ส่วนวิธีห่อซองของขวัญด้วยฟุกุซาโตะนั้นมีภาพอยู่ด้านล่าง ไปดูกันเลยค่ะ

หากไม่สะดวกไปร่วมงาน หรือว่าไม่ได้รับเชิญแต่ต้องการมอบเงินของขวัญให้นั้น ก็มอบให้ก่อนเริ่มงานสัก 1 สัปดาห์เลยก็ได้ค่ะ หากไม่สะดวกไปมอบด้วยตนเอง ก็สามารถใช้บริการไปรษณีย์ 現金書留 (Gengkin Kakitome) แทนได้ แต่ถึงแม้จะใช้บริการส่งด้วยไปรษณีย์ ก็ควรใส่ซองของขวัญไปก่อนที่จะใส่ในซองจดหมาย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกยินดีของเราไปด้วยค่ะ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ การส่งไปรษณีย์ไปที่สถานที่จัดงานแต่งงานนั้นถือเป็นการเสียมารยาทค่ะ ดังนั้น ส่งไปที่เจ้าตัวหรือบ้านของผู้รับเลยจะดีกว่า

กรณีไม่ต้องการของขวัญ

ในปัจจุบัน งานแต่งงานที่เก็บค่าเข้างาน รวมถึงค่าอาหาร ล่วงหน้านั้นก็มีอยู่เช่นกัน งานแต่งงานส่วนมากในฮอกไกโดก็มีการเก็บค่าเข้างาน ในกรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมอบเงินของขวัญให้ค่ะ นอกจากนี้ จดหมายเชิญที่ระบุว่า “ไม่จำเป็นต้องมอบของขวัญ” รวมถึงกรณีที่มีการระบุไว้ถึงสาเหตุที่ไม่ขอรับเงินของขวัญไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้เช่นกัน

สดใสแต่ต้องไม่แย่งซีน! เครื่องแต่งกายและทรงผมที่เหมาะสมกับงานแต่งงาน

งานแต่งงาน คือ วาระของการเฉลิมฉลอง ในฐานะที่เป็นแขก การแต่งกายให้สวยงามเหมาะสมเพื่อให้พิธีดูมีชีวิตชีวา ก็ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าภาพก็คือคู่บ่าวสาว ดังนั้นชุดที่ฉูดฉาด หรือกระโปรงที่สั้นจนเปิดเผยมากเกินไปก็ถือว่าไม่ดีค่ะ ทรงผมก็เช่นกัน ยังไงก็จัดทรงที่ดูสวยงามเข้ากับงานเลี้ยงพิธีการกันจะดีที่สุดค่ะ 

ทรงผมของผู้หญิงนั้น หากปล่อยสยายก็อาจจะถือว่าสบายเกินไปได้ หากเป็นไปได้ก็ควรจะรวบขึ้น 

ในส่วนของผู้ชาย ก็ควรเลือกสูทสีดำหรือสีเข้มเพื่อให้มีมาดของผู้นำค่ะ อย่างไรก็ตาม เนคไทสีดำทำให้นึกถึงงานอวมงคล ควรเลี่ยงค่ะ สูทที่ใช้ในการทำธุรกิจก็อาจจะดูมีความเป็นทางการน้อยไปหน่อย ถือว่าไม่ค่อยดีมีมารยาทเท่าไรค่ะ หากจำเป็นต้องใส่สูทธุรกิจจริงๆ ก็ลองหาของเล็กๆ น้อยๆ ตกแต่งเพิ่มให้สดใสมากขึ้นดูนะคะ

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้แย่งซีนเจ้าบ่าวเจ้าสาว หนุ่มๆ และสาวๆ ทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงสูทและเดรสสีขาวค่ะ และข้อสุดท้ายที่ต้องระวังก็คือ เครื่องแต่งกายที่มีภาพลักษณ์ของการตัดชีวิตอย่างลายพิมพ์รูปสัตว์ หนังสัตว์ หรือเฟอร์ขนสัตว์เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมค่ะ

ถัดไป เราจะมาแนะนำผู้ที่อยากสวมชุดแบบญี่ปุ่นไปเข้าร่วมงานกันค่ะ สาวๆ ที่เป็นเพื่อนสนิทหรือเพื่อนร่วมงานของบ่าวสาว (ไม่จำกัดว่ายังไม่แต่งงาน) ขอแนะนำ Homongi (訪問着) ค่ะ หากว่าเป็นผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน จะสวม Furisode (振袖) ก็ได้เช่นกัน แต่ในกรณีที่บ่าวสาวสวม Honfurisode (แขนยาวประมาณ 144 เซนติเมตร) เราก็ควรลดระดับลงเป็น Chufurisode ที่แขนเสื้อยาวประมาณ 100 เซนติเมตรแทนค่ะ

ในส่วนของผู้ชาย เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม คือ Iromontsuki (色紋付) ที่ย้อมสีทึบด้วยสีที่ไม่ใช่สีกรมท่า สีเทาหรือสีชาค่ะ และไม่ควรสวมชุดที่มีลายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ดูเด่นจนเกินไป หากเป็นไปได้ก็ควรใส่สีทึบ ลายเรียบง่าย สวมคู่กับ Haori (羽織) ก็จะกำลังดี ให้เจ้าของงานโดดเด่นค่ะ นอกจากนี้ Haori ที่สวมกับชุดแบบญี่ปุ่นนั้น ก็ถือเป็นแจ็คเก็ตแบบทางการ ดังนั้น อย่าลืมสวม Haori เชียวนะคะ

การสวมชุดแบบญี่ปุ่นยังมีข้อปฏิบัติอีกมาก อย่าลืมศึกษาวิธีปฏิบัติตนแบบละเอียดกับทางร้านที่ซื้อหรือเช่าชุดมาด้วยนะคะ

ในช่วงหลังๆ มานี้ งานแต่งงานแบบส่วนตัวดูจะมีเพิ่มมากขึ้น งานที่เปลี่ยนสถานที่จากโรงแรมไปเป็นร้านอาหารก็มี ในกรณีนี้แค่แต่งกายและทำผมให้เหมาะสมตามกาลเทศะก็พอค่ะ แต่ก็ต้องไม่ลืมคำนึงถึงมารยาทพื้นฐาน คอนเซ็ปต์และสถานที่จัดงาน รวมถึงแขกท่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน มาแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่กันนะคะ

ข้อควรระวังในวันงาน ณ ที่จัดงาน!

ในวันงานมงคลสมรส อย่าลืมแสดงความรู้สึกยินดีไปกับคู่บ่าวสาว แล้วก็เข้าร่วมงานอย่างแขกคนหนึ่งที่จะช่วยเนรมิตงานนี้ให้สมบูรณ์ค่ะ อย่างแรก คือ ควรไปถึงสถานที่จัดงานก่อนสัก 20 – 30 นาที ให้มีเวลาเหลือเฟือจะได้ไม่ต้องรีบลนลานค่ะ เมื่อไปถึงแล้วก็ควรพูดแสดงความยินดีด้วยประโยค Omedeto gozaimasu (おめでとうございます) ไม่เพียงแต่กับบ่าวสาวเท่านั้น แต่กับผู้ดูแลแผนกต้อนรับ ไปจนถึงครอบครัวเจ้าภาพเลยค่ะ ในระหว่างงานเลี้ยงก็จะมีกิจกรรมมากมาย หากมีการพูดหรือกิจกรรมบันเทิงเริ่มขึ้น ก็ควรหยุดรับประทานอาหารก่อน แล้วหันไปตั้งใจชมสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ ส่วนเรื่องห้องน้ำ ไปได้ในเวลาพูดคุยในช่วงงานพิธีที่เรียกว่า Kandan Jikan (歓談時間) หรือช่วงที่เจ้าสาวกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือ Oiro Naoshi (お色直し) ก็ได้เช่นกันค่ะ

แน่นอนว่าแขกควรจะอวยพรอย่างเต็มที่ แต่อย่าลืมว่าในงานเฉลิมฉลองนั้นมีครอบครัวของทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่ด้วย ดังนั้น อย่าเอาแต่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเพื่อนมากเกินไปนะคะ หลังงานจบ หากมีงานเลี้ยงรอบ 2 หรือ นิจิไค (二次会) ในงานนี้จะไม่มีแขกผู้ใหญ่และเป็นงานที่ Casual กว่า จะทำตัวเฮฮาบ้าๆ หน่อยก็ไม่เป็นไรค่ะ

ให้ของขวัญตอนไหนดี?

เมื่อเข้าร่วมงานจะมีการมอบเงินของขวัญเพื่อแสดงความยินดีแล้ว ตามปกติของขวัญอื่นๆ จะถือว่าไม่จำเป็นแล้วค่ะ แต่หากอยากจะมอบของขวัญให้ด้วย ก็ควรให้เป็นจดหมายหรือของที่ขนาดไม่ใหญ่ และสามารถให้ที่แผนกต้อนรับได้เลย แต่หากส่งไปที่บ้านของเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ ก็จะทำให้ไม่กลายเป็นสัมภาระในวันงานด้วยซึ่งถือว่าดีเช่นกันค่ะ เนื่องจากเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะยุ่งมากๆ ในช่วงก่อนงานแต่งงาน ดังนั้นหากอยากส่งของขวัญให้ก็ควรส่งให้หลังงานแต่งประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่ทั้งคู่สบายใจจากงานพิธีแล้วค่ะ

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อถูกขอร้องให้ขึ้นเวที

ในระหว่างงานพิธี จะมีการกล่าวของเจ้านายและการสร้างความสนุกสนานจากเพื่อนๆ ค่ะ หากคุณได้รับเชิญให้ไปสร้างความสนุกสนานจากคู่บ่าวสาว ทั่วไปแล้วก็ต้องรักษามารยาท และเตรียมตัวไปให้พร้อมค่ะ เพราะกิจกรรมนี้ถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของงานพิธี และควรระวังสุดชีวิตไม่ให้พลาดค่ะ 

นอกจากนี้ งานพิธีจะต้องมีการกำหนดเวลาที่เป๊ะมากๆ ดังนั้น ก็ควรรักษาเวลา และทำการแสดงให้จบในเวลาที่กำหนดค่ะ อย่าลืมว่างานนี้มีทั้งญาติผู้ใหญ่ รวมถึงแขกเหรื่อมากมายเข้าร่วมด้วย ดังนั้น การไม่ทำอะไรที่โลดโผนหรือหลุดออกจากกรอบมากจนเกินไปก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องระวังค่ะ หากคุณจะฉายภาพ หรือใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในบริเวณพิธี ก็จะต้องซ้อมเตรียมไว้ก่อนนะคะ เพราะปัญหาเทคนิคก็เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ แถมบางครั้งยังแก้สถานการณ์ยากอีกด้วย ดังนั้น ควรเช็คอย่างละเอียดกับทีมงานของสถานที่ล่วงหน้าว่าวิดีโอของเราจะฉายได้อย่างราบรื่นหรือไม่ คุณภาพและเสียงโอเคหรือเปล่า อย่าลืมเชียวนะคะ!

เฉลิมฉลองมากไปก็ไม่ดี! มารยาทของงานเลี้ยงรอบ 2 หรือนิจิไค

หลังงานพิธีที่มีญาติผู้ใหญ่เข้าร่วมและต้องทำตัวทางการจบลงแล้ว บรรดาเพื่อนสนิทก็มักจะรวมตัวกันแล้วจัดงานเลี้ยงฉลองกันต่อ เรียกว่า นิจิไค ค่ะ นิจิไคมีทั้งที่แขกในงานพิธีที่มาเลี้ยงกันต่อ รวมถึงคนใหม่ๆ ที่ไม่ได้เข้างานพิธีมาร่วมวงด้วย ตามปกตินิจิไคจะมีค่าเข้าร่วมงาน ดังนั้น เงินของขวัญถือว่าไม่จำเป็นค่ะ แถมการจ่ายค่าเข้าร่วมงานนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ธนบัตรใหม่อีกด้วย เพราะเป็นการฉลองกันสนุกๆ ในวงเพื่อนที่สนิทสนมกัน การแต่งกายก็จะสบายๆ แคชวลกว่างานพิธีได้ค่ะ แต่ว่าหากจะคำนึงถึงสถานที่จัดงานก่อนแล้วค่อยเลือกชุดก็จะดีไม่น้อยเลย แต่ก็เช่นเดียวกับงานเลี้ยงพิธีการ ควรเลี่ยงชุดสีขาวหรือชุดที่เปิดเผยเกินไปค่ะ 

แม้จะเป็นปาร์ตี้คล้ายๆ กับ งานกินดื่มของเพื่อนๆ ที่มายินดีกับงานมงคล จะหลุดๆ ไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ก็ต้องระวัง ไม่ลืมมารยาทในการแสดงความยินดีหรือเผลอดื่มมากเกินไปจนเมาเละเทะนะคะ

ไปไม่ได้หรือไปสาย ทำอย่างไรดี?

หากมีธุระขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถไปร่วมงานได้ คุณควรรีบติดต่อเจ้าภาพให้เร็วที่สุดค่ะ หากทราบก่อนจะตอบจดหมายเชิญ ก็เลือกช่องที่ตอบว่าไม่สามารถไปได้เลยก็ดีค่ะ แต่หากตอบไปแล้วว่าจะเข้าร่วม แต่เกิดไม่สะดวกขึ้นมา ก็ควรจะแจ้งเจ้าภาพ ไม่ใช่เพียงส่งข้อความหรือว่าไลน์ไป แต่โทรศัพท์ไปจะดีที่สุดค่ะ ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับว่าเรายกเลิกกี่วันก่อนวันงานด้วยค่ะ หากเจ้าภาพกำหนดจำนวนแขกเรียบร้อยแล้ว ก็มีความน่าจะเป็นที่จะเตรียมอาหารและของชำร่วยไว้แล้ว ดังนั้น หากจะยกเลิกในนาทีสุดท้าย ก็ควรจะมอบเงินของขวัญให้ด้วยค่ะ 

นอกจากนี้ หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปร่วมงานได้ในวันงาน ก็ควรติดต่อกับสถานที่จัดงานเป็นมารยาทค่ะ ในวันงานพิธีคู่บ่าวสาวจะยุ่งมากและไม่มีเวลาในการติดต่อประสานงาน ดังนั้น จึงไม่ควรติดต่อไปยังเจ้าภาพโดยตรงค่ะ อาจติดต่อกับเพื่อนที่เข้าร่วมงานก็ได้ แต่หากจะให้สบายใจที่สุดก็ควรติดต่อกับทีมจัดงานค่ะ เพื่อที่เขาจะได้คำนวณเวลาและแจ้งกับเจ้าภาพอย่างตรงๆ ได้นั่นเอง นอกจากนี้ จริงอยู่ว่าเราควรแจ้งเหตุผลที่ทำให้ไปร่วมงานไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา แต่หากเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล ทำให้คนรอบตัวต้องโศกเศร้านั้น ก็ไม่ควรพูดออกมาค่ะ ให้ใช้คำพูดประมาณว่า “มีธุระจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ก็พอ หลังจากนั้น ในวันอื่นหลังวันงาน ก็อย่าลืมขอโทษและแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาวย้อนหลังพร้อมมอบเงินของขวัญให้ด้วยค่ะ เพราะหากไม่ไปร่วมงานอย่างกระทันหันแต่ทางพิธีก็ได้จัดเตรียมอาหารและของชำร่วยไว้แล้ว ดังนั้น เราก็ควรมอบเงินของขวัญให้เหมือนกับแขกที่ไปร่วมงาน ในจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน (ประมาณ 30,000 เยน) เป็นพื้นฐานค่ะ

งานมงคลสมรสเป็นงานรื่นเริงสดใสสำหรับทั้งคู่บ่าวสาวและครอบครัว ดังนั้น เพื่อเฉลิมฉลองงานมงคลนี้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด แขกที่จะเข้าร่วมงานก็จำเป็นต้องรักษามารยาทพื้นฐานอย่างเคร่งครัด เมื่อจะไปร่วมงานแต่งงานก็ควรเรียนรู้มารยาทพื้นฐานในบทความนี้เอาไว้ จะได้เตรียมตัวไปอวยพรคู่บ่าวสาวกันอย่างสบายๆ นะคะ!

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: