ใกล้เรียนจบแล้ว เตรียมตัวหางานในญี่ปุ่นอย่างไรดี?

ประเทศญี่ปุ่นมีระบบการหางานสำหรับนักเรียนและนักศึกษาจบใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ชินโซทสึ อิคคัตสึ ไซโย”” (新卒一括採用 การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ในครั้งเดียว) ซึ่งจะเริ่มสัมภาษณ์และตกลงรับนักศึกษาเข้าทำงานล่วงหน้า ก่อนที่นักศึกษาจะเรียนจบอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะได้เริ่มงานได้ทันทีที่เข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 1 เมษายน นักศึกษาจบใหม่จะกลายเป็นพนักงานเข้าใหม่ที่เรียกว่า “ชินนิวชะอิน” (新入社員) อย่างพร้อมเพรียงกัน ดังนั้น มาเตรียมตัวหางานก่อนเรียนจบไปพร้อมๆ กันในบทความนี้เลย!
Oyraa

ตารางการหางานในญี่ปุ่น

การเตรียมตัวเพื่อหางานของนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบมักทำล่วงหน้าก่อนเรียนจบประมาณ 1 ปีถึงปีครึ่ง ตารางเวลาในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามสถานการณ์ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นดังตารางนี้

(ตารางการหางานอย่างคร่าวๆ ในกรณีที่ผู้หางานป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่จะเรียนจบในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023)

การเตรียมตัวก่อนเริ่มหางาน

โดยปกติแล้ว ช่วงเดือนมิถุนายน – กุมภาพันธ์ของปีถัดไป (ปริญญาตรี ปี 3 หรือปริญญาโท ปี 1) นับเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเองเพื่อหาประเภทงานหรือบริษัทที่อยากสมัคร สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1. การเข้าร่วมอินเทิร์นชิพ

ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี มักจะมีบริษัทต่างๆ มาประกาศรับนักศึกษาฝึกงาน หรือที่เรียกว่า “อินเทิร์นชิพ” (インターンシップ) ซึ่งมักจะจัดเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 เดือนในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อให้นักศึกษาได้ลองทำงานในสถานที่จริง โดยมีพนักงานคอยสอนงาน
นอกจากนี้ ยังอาจมีการจัดอินเทิร์นชิพแบบ 1 วันที่เน้นการทัศนศึกษาในสถานที่ทำงาน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูดคุยกับพนักงานในบริษัทเพื่อให้ทราบถึงการทำงานในบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั่นเอง

ในระยะหลังๆ มานี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดอินเทิร์นชิพ บางบริษัทอาจยกเลิกกิจกรรมนี้ไปเลย ในขณะที่บางบริษัทมีการเปิดรับอินเทิร์นชิพออนไลน์กันมากขึ้น

การเข้าร่วมอินเทิร์นชิพไม่มีผลต่อการสัมภาษณ์งานมากนัก แต่ก็มีข้อดีอยู่ตรงที่ผู้หางานสามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์และพูดคุยกับพนักงานบริษัทในสถานที่จริงได้ด้วยตัวเอง ส่วนข้อเสียก็คือ คุณจะต้องเสียเวลาเข้าไปทำนานพอสมควร แถมยังมีการคัดเลือกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้คุณสามารถเข้าร่วมอินเทิร์นชิพได้เพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น

2. การศึกษาเกี่ยวกับประเภทธุรกิจ บริษัท เนื้อหางาน

การศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เร็วกว่าการไปเข้าร่วมอินเทิร์นชิพ หากคุณเลือกแวดวงธุรกิจที่อยากจะหางานได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การหาข้อมูลต่างๆ เช่น วิสัยทัศน์ขององค์กร, สถานที่ตั้ง, ขนาดองค์กร, ผลิตภัณฑ์ที่ทำ, สถานการณ์การดำเนินธุรกิจ รวมถึงเรื่องสำคัญต่างๆ อย่างเงื่อนไขและสวัสดิการในการทำงาน ข้อมูลเหล่านี้สามารถหาได้ทั้งจากในเว็บไซต์ และหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจที่รวบรวมข้อมูลของบริษัทต่างๆ ไว้ในเล่มเดียวเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้หางานโดยเฉพาะ เช่น หนังสือรวมข้อมูล 4 ไตรมาส (四季報 ชิคิโฮะ) สำหรับการหางาน หรือหนังสือแผนที่ธุรกิจ (業界地図 เกียวไคจิซุ) เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมที่เรียกว่า กิจกรรมพบปะ OB/OG ที่ย่อมาจาก Old Boy/Old Girl (ศิษย์เก่า) กิจกรรมนี้มักจะจัดในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ โดยบริษัทที่จัดกิจกรรมก็มักจะเป็นบริษัทที่เคยรับนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเดียวกันมาหลายรุ่น ศิษย์เก่าจะไปเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยเดิมของตนเพื่อพบปะกับนักศึกษารุ่นน้องและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูดคุยสอบถามเกี่ยวกับบริษัทของรุ่นพี่ได้อย่างเป็นกันเองกว่าการถาม – ตอบในงานสัมมนา

3. การวิเคราะห์ตนเอง

สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำงานด้านไหน เว็บไซต์ต่างๆ ในญี่ปุ่นก็มักจะมีตัวช่วยในการวิเคราะห์ตนเองจากการตอบแบบสอบถาม ทำให้สามารถรู้ได้อย่างคร่าวๆ ว่าตนเองมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หรือมีอุปนิสัยที่เหมาะกับงานประเภทไหน ไว้สำหรับช่วยในการตัดสินใจ

การเริ่มต้นหางาน

บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นจะประกาศรับสมัครนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี วิธีการหางานในญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้

1. หางานโดยการแนะนำจากสถานศึกษา(学校推薦 Gakkou Suisen)

เป็นการหางานจากประกาศรับสมัครงานที่มักจะแจ้งผ่านศูนย์หางาน (Career Center) ของสถานศึกษา และสมัครโดยการยื่นจดหมายแนะนำตัว (推薦書 อ่านว่า ซุยเซ็นโช) ที่อาจารย์ที่ปรึกษาหรือมหาวิทยาลัยออกให้ไปด้วย วิธีนี้มีข้อดีคือ ขั้นตอนการสมัครและการสัมภาษณ์มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทที่รับสมัครนักศึกษาผ่านวิธีนี้มักจะเคยรับนักศึกษาในสถานศึกษาเดียวกันมาก่อนแล้ว จึงสนใจที่จะรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั้นอีก แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อได้รับการตอบตกลงรับเข้าทำงานแล้วก็อาจจะไม่สามารถปฏิเสธได้

2. หางานโดยการยื่นใบสมัครเองอย่างอิสระ (自由応募 Jiyuu Oubo)

การหางานอย่างอิสระนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้บริการเว็บไซต์หางาน (求人サイト อ่านว่า ซุยจินไซโตะ), ใช้บริการตัวกลางจัดหาบุคลากร (人材紹介サービス อ่านว่า จินไซโชไค ซาบิสุ), สมัครโดยตรงกับเว็บไซต์ของทางบริษัท, เข้าร่วม Job Fair เพื่อฟังงานสัมมนาอธิบายบริษัท เป็นต้น เมื่อบริษัทเปิดเผยรายละเอียดการรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมแล้วก็จะมีการรับใบสมัครหรือ Entry Sheet (ES) เพื่อคัดเลือกผู้สมัครมาสัมภาษณ์ โดยรอบแรกนั้นมักจะรับถึงปลายเดือนพฤษภาคม หลายบริษัทนิยมให้ผู้สมัครทำแบบทดสอบทางเว็บหรือเว็บเทสต์ด้วย แบบทดสอบที่นิยมคือ SPI ซึ่งคุณสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

บริการโดยทั่วไปนั้นมักไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนต่างชาติ ดังนั้นจึงอาจไม่ตอบโจทย์ผู้หางานชาวต่างชาติสักเท่าไร แต่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ประเทศญี่ปุ่นมีการเปิดรับแรงงานชาวต่างชาติกันมากขึ้น จึงมีบริการจัดหาบุคลากรชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ บริการตัวกลางจัดหาบุคลากรของ Tsunagu Local Jobs ซึ่งเป็นบริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการสนับสนุนการจ้างงานของชาวต่างชาติ รองรับหลายภาษารวมถึงภาษาไทย นอกจากนี้ ประกาศสมัครงานในเว็บไซต์ต่างๆ ก็เป็นงานที่ต้องการจ้างชาวต่างชาติอยู่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือในขั้นตอนต่างๆ ไปจนกว่าผู้ใช้บริการจะผ่านการสัมภาษณ์และได้งาน ทำให้การหางานในญี่ปุ่นง่ายดายและราบรื่นยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัคร

การคัดเลือกผู้สมัครของญี่ปุ่นนั้น จะคัดเลือกจากคนที่ส่งใบสมัคร (ES) เข้ามาสัมภาษณ์ และการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ก็มักจะมีจำนวน 2 รอบขึ้นไป (เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน) เนื่องจากสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นเคดันเร็น (経団連) มีนโยบายให้ออกเอกสารทำสัญญาการว่าจ้างอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป การประกาศผลว่าผู้สมัครได้รับคัดเลือกเข้าทำงานกับบริษัทในช่วงก่อนเดือนตุลาคมจึงเป็นลักษณะของสัญญาปากเปล่าหรือข้อความกึ่งทางการผ่านการส่งอีเมลที่เรียกว่าการได้รับ “ไนไนเท” (内々定)

เมื่อถึงเดือนตุลาคม บริษัทจะมีการส่งเอกสารสัญญามาให้นักศึกษาเซ็นตอบรับอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับเอกสารก็จะวางใจได้มากขึ้นว่าได้รับไนเท (内定) แล้ว และหากไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็จะไม่เกิดการยกเลิกสัญญาด้วย ดังนั้น นักศึกษาจึงสามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าตนได้งานทำหลังเรียนจบแล้ว และสามารถใช้เวลาเทอมสุดท้ายไปกับการทำวิทยานิพนธ์จบการศึกษาได้อย่างเต็มที่ นับเป็นการจบขั้นตอนการหางานของนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบในญี่ปุ่น

ส่งท้าย

จบกันไปแล้วสำหรับการแนะนำวิธีเตรียมตัวหางานของนักศึกษาใกล้จบ เห็นได้ชัดเลยว่าการจะหางานในประเทศญี่ปุ่นนั้นต้องอาศัยการวางแผนและเตรียมตัวล่วงหน้าพอสมควร ดังนั้น เราจึงอยากแนะนำให้ทุกคนเริ่มกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเร่งกันในภายหลัง หากใครไม่รู้ข้อมูลและไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ก็อย่าลืมใช้บทความนี้เป็นไกด์ไลน์ หรือลองติดต่อบริการตัวกลางจัดหาบุคลากรเพื่อขอคำแนะนำและให้พวกเขาช่วยให้คุณหางานได้อย่างราบรื่นขึ้นก็ได้!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: