ข้อควรรู้เพื่อระวัง “การล่วงละเมิดทางเพศ” (Chikan) ในญี่ปุ่น พร้อมคำแนะนำในการรับมือ

การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คำว่า Chikan ที่แปลว่า ผู้ลวนลามหรือคนโรคจิตในภาษาญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังการเคลื่อนไหวของ #MeeToo ที่ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการลวนลามในที่สาธารณะกล้าออกมาพูดมากขึ้น ในขณะที่เหล่านักกฎหมายก็พยายามหาทางรักษาความปลอดภัยให้ทุกคนมากขึ้นด้วยเช่นกัน บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับลักษณะทั่วไปของผู้ลวนลามและเหยื่อของสถานการณ์นี้ พร้อมแนะนำวิธีรับมือในกรณีที่ต้องสู้และข้อควรทำที่คุณอาจไม่เคยรู้
Oyraa
Chikan train molestor
PIXTA

“Chikan” คืออะไรและคนประเภทไหนที่มักจะตกเป็นเหยื่อ?

“Chikan” เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่าการลวนลามหรือการล่วงละเมิด มักจะหมายถึงบุคคลที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งครอบคลุมถึงการล่วงละเมิดและการถ่ายภาพถ้ำมองแต่ไม่รวมถึงการข่มขืน ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายโดยมีทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ “อากิโยชิ ไซโตะ” (Akiyoshi Saito) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและนักเขียนอธิบายปรากฏการณ์ Chikan นี้ว่ามักจะไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศ โดยในหนังสือ “เหตุผลที่ผู้ชายกลายเป็นพวกโรคจิต” (Otoko ga Chikan ni Naru Riyu) ของเขาก็ได้พูดถึงการลวนลามและการล่วงละเมิดในที่สาธารณะ และสิ่งที่ผลักดันผู้คนให้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศเอาไว้ด้วย

การล่วงละเมิดในที่สาธารณะเกิดขึ้นจากความต้องการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น ผู้กระทำยังซึบซับค่านิยมของสังคมชายเป็นใหญ่และการกดขี่ผู้หญิงเพื่อพิสูจน์การกระทำของพวกเขาเช่นกัน พวกชอบลูบคลำชาวญี่ปุ่นที่มักจะฉวยโอกาสจากสถานการณ์รอบตัวเพราะรู้ว่าเหยื่อกลัวที่จะเรียกร้องความสนใจ และด้วยลักษณะของระบบขนส่งสาธารณะที่หนาแน่นจนไม่อาจระบุตัวได้จึงทำให้เหยื่อร้องตะโกนหรือรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวได้ยาก

การล่วงละเมิดในญี่ปุ่นมีบ่อยแค่ไหน?

รถไฟและสถานีรถไฟตามเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซาก้า คานางาวะ (Kanagawa) ไซตามะ (Saitama) และโกเบเป็นพื้นที่ที่เกิดการล่วงละเมิดบ่อยเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แออัดในช่วงเวลาเร่งด่วน

ตามรายงานของกรมตำรวจแห่งกรุงโตเกียวปี 2019 พบว่ามีการรายงานการลวนลามหรือล่วงละเมิดถึง 1,780 คดีต่อปี ในจำนวนนี้ 45% เกิดขึ้นบนรถไฟในขณะที่ 19% เกิดขึ้นในสถานี สถานที่ที่เกิดการล่วงละเมิดอื่นๆ ได้แก่ บนถนน ย่านการค้า ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและห้องน้ำ แต่เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะหลบๆ ซ่อนๆ และความยากลำบากของเหยื่อในการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจำนวนเหตุล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นสูงกว่าที่รายงานเอาไว้มาก

Chikan cellphone picture

ใครที่มักจะตกเป็นเหยื่อ?

เชื่อกันว่าผู้กระทำการล่วงละเมิดมักมองหาคนที่ดูเงียบๆ และไม่น่าจะแจ้งตำรวจ นอกจากผู้หญิงแล้ว นักเรียนในทุกช่วงวัยก็มักตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากนักเรียนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะขึ้นรถไฟเพียงลำพังนั่นเอง

จากการสำรวจของ WeToo Japanในปี 2018 ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามอายุระหว่าง 15 – 49 ปีกว่า 12,000 คนระบุว่าผู้หญิง 70% และผู้ชาย 32% เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศบนรถไฟอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และกว่า 50% ของเด็กผู้หญิงที่ใส่ชุดนักเรียนยังบอกด้วยว่าเคยถูกล่วงละเมิดหรือโดนพูดข้อความที่ไม่เหมาะสมใส่ขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะด้วย รูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศนั้นจะรวมถึงการสัมผัสร่างกายของเหยื่อ, การบังคับให้เหยื่อสัมผัสอวัยวะเพศของผู้ก่อการ, การกระซิบด้วยถ้อยคำหยาบคาย, การใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้า, การแอบถ่ายภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย

มาตรการป้องกันการล่วงละเมิดในญี่ปุ่น

JR women-only car
Yuttapol Phetkong / Shutterstock.com

รถไฟสำหรับผู้หญิงเป็นตู้ในขบวนรถไฟที่อนุญาตให้ผู้หญิงเท่านั้นสามารถขึ้นได้ โดยญี่ปุ่นได้เริ่มใช้รถไฟนี้กันตั้งแต่ปี 2002 โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาในแต่ละวันไว้ ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนของเช้าวันธรรมดา ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ชายขึ้นตู้รถไฟเหล่านี้ แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ชายที่ขึ้นตู้สำหรับผู้หญิงจะถูกสาธารณชนเขม่นเอาได้

หากคุณไม่สามารถขึ้นรถไฟสำหรับผู้หญิงได้ เราขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการยืนใกล้ด้านข้างของประตูหรือมุมรถ เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่ผู้ก่อเหตุสามารถต้อนให้เหยื่อหลบเข้ามุมของพวกเขาในขณะที่รถไฟกำลังเคลื่อนที่ได้ง่ายเพราะจุดเหล่านี้มักมีผนังล้อมรอบ นอกจากนี้ เราขอแนะนำให้คุณยืนตรงหน้าที่นั่งผู้โดยสารคนอื่นด้วย เพราะมีโอกาสที่ผู้ก่อเหตุจะไม่ลงมือสูงเนื่องจากกลัวถูกจับได้ อีกทั้งยังเป็นตำแหน่งที่คุณสามารถเปลี่ยนย้ายหรือดึงความสนใจจากคนอื่นได้ง่ายกว่าด้วย ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือ เสียงชัตเตอร์บนรถไฟ เพราะโทรศัพท์ญี่ปุ่นทุกเครื่องจะถูกตั้งโปรแกรมให้มีเสียงชัตเตอร์ดังเมื่อถ่ายภาพ ถึงแม้ว่าโทรศัพท์จะอยู่ในโหมดปิดเสียงก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตือนให้ผู้อื่นรู้ว่าอาจมีคนกำลังทำการล่วงละเมิดอยู่นั่นเอง

Chikn Stamp preventive
Rammy_Rammy/ Shutterstock

แสตมป์ป้องกันกาารลวนลามถูกสร้างขึ้นในปี 2019 เพื่อตอบสนองต่อรายงานของการล่วงละเมิดจำนวนมาก แสตมป์ช่วยให้ผู้หญิงทำเครื่องหมายบนผู้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็วโดยใช้หมึกพิเศษที่จะปรากฏขึ้นภายใต้แสงแบล็คไลท์สีฟ้า

เป็นที่รู้กันดีว่ารถไฟสาย Saikyo ในไซตามะมีอัตราการก่ออาชญากรรม การลวนลาม และการล่วงละเมิดสูงที่สุดในญี่ปุ่น จนรถไฟสาย Saikyo ต้องทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดบนรถไฟในปี 2010 และหลายสถานีทั่วประเทศเองก็ได้ดำเนินการติดโปสเตอร์พร้อมข้อความเตือนเกี่ยวกับการลวนลามและการล่วงละเมิดรอบสถานีด้วย เนื่องจากผู้หญิง 1 ใน 4 คนในญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะประสบกับเหตุการล่วงละเมิดในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงมีการติดโปสเตอร์จำนวนมากเพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ส่งเสียงหากพวกเขาพบเห็นการล่วงละเมิดเพื่อขจัดความคิดของกลุ่มคนที่ “เพิกเฉย”

ผู้หญิงในพื้นที่คันโต (โดยเฉพาะโตเกียว) ยังดาวน์โหลดแอพฯ สมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า DigiPolice ที่สร้างโดยตำรวจนครบาลโตเกียวในปี 2018 เอาไว้ด้วย โดยแอพฯ นี้จะทำหน้าที่ดักจับผู้ลวนลาม เมื่อเปิดใช้งานแอพฯ นี้ก็จะตะโกนว่า “หยุด!” แล้วแจ้งตำแหน่งของคุณภายในพื้นที่โตเกียวให้ตำรวจทราบโดยอัตโนมัติ

ข้อควรทำหากคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

หากคุณพบว่าตัวเองถูกล่วงละเมิด สัญชาตญาณแรกของคุณอาจเป็นการใช้ความรุนแรงทางกายเพื่อยับยั้งการลงมือ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีกฎหมายหลายฉบับที่ต่อต้านความรุนแรงทางร่างกายและการใช้อาวุธ (รวมถึงสเปรย์พริกไทย) ดังนั้น หากคุณรู้สึกว่าถูกทำร้าย คุณก็ควรพยายามเอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นก่อน และหากผู้กระทำยังคงไม่หยุด ก็ให้สร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้คนรอบข้างโดยจับมือของบุคคลนั้นแล้วตะโกนว่า “ชิคัง” (Chikan) หรือ “เซคุฮาระ” (การล่วงละเมิดทางเพศ) และหากเป็นไปได้ก็ขอให้ถ่ายภาพหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปแจ้งตำรวจด้วย

แจ้งความกับตำรวจ

Tokyo Police
Mahathir Mohd Yasin/ Shutterstock

ในปัจจุบัน มีเหยื่อเพียง 14% เท่านั้นที่แจ้งความการล่วงละเมิดทางเพศต่อตำรวจ โดยสาเหตุน่าจะเป็นเพราะความอับอายหรือความกลัว อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่า การแจ้งความว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมักจะจบด้วยผลลัพธ์แบบ “เขาบอกว่า/เธอบอกว่า” อีกทั้งเหยื่อยังต้องยื่นฟ้องอย่างเป็นทางการเพื่อให้ตำรวจเข้าจับกุมผู้ถูกกล่าวหาด้วย ในปี 2018 ที่ผ่านมาได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดที่เข้มงวดขึ้นและมีบทลงโทษตามมาตรา 176 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ชื่อว่า “Kyouseiwaisetsu” (強制わいせつ การบังคับให้ทำอนาจาร) โดยมีโทษปรับ 50,000 เยนและอาจจำคุกอย่างน้อย 6 เดือน

เมื่อแจ้งความ เหยื่อจะได้รับความช่วยเหลือ โดยทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาจะถูกพาไปที่ “โคบัง” (Koban ป้อมตำรวจ) ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อสอบปากคำ หากคุณไม่สะดวกที่จะพูดภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ทางตำรวจก็จะจัดหาล่ามให้คุณ เพื่อให้แจ้งความได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเหยื่อยังควรนำหลักฐานดิจิทัล เช่น วิดีโอหรือภาพถ่ายของเหตุการณ์ไปด้วยหากเป็นไปได้ และหากคุณมีพยานคนอื่นๆ ที่เห็นเหตุการณ์มาให้ความร่วมมือด้วยก็จะดีมากๆ เช่นกัน

อยู่อย่างปลอดภัยในญี่ปุ่น

น่าเสียดายที่การล่วงละเมิดทางเพศในญี่ปุ่นยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้หญิงทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ ในขณะที่สื่อให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนต่างก็เริ่มอ่อนไหวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศบนรถไฟมากขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนตระหนักถึงเหตุการณ์เหล่านี้มากขึ้นแล้ว ระบบความปลอดภัยและการป้องกันจึงถูกสร้างขึ้นอย่างช้าๆ ทุกวัน ถึงแม้ว่าในภาพรวม ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ปลอดภัย แต่เราก็ควรจะระมัดระวังและตื่นตัวอยู่เสมอเมื่ออยู่ข้างนอก

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: