รวมวิธี “ยกเว้นภาษีญี่ปุ่น” แบบง่ายๆ สำหรับการลงทุนของบุคคลธรรมดา

ในหลายๆ ประเทศ บุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุนในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่ทราบไหมว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นมีระบบที่แตกต่างออกไป? เป็นระบบพิเศษที่เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้โดยไม่เสียภาษี มิหนำซ้ำ ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในบางกรณีด้วย หากคุณอยากทราบว่าอะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังระบบดังกล่าว และเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการลงทุนบ้าง ตามไปหาคำตอบกันในบทความนี้เลย!
Oyraa

โครงการ NISA: รับกำไรจากการลงทุนได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี

ใน ค.ศ. 2014 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดตัวโครงการ NISA (บัญชีออมทรัพย์บุคคลธรรมดาของญี่ปุ่น) เป็นโครงการยกเว้นภาษีรูปแบบใหม่สำหรับการลงทุนขนาดเล็กโดยบุคคลธรรมดาที่ได้แผนมาจากบัญชีออมทรัพย์ส่วนบุคคลของสหราชอาณาจักร สรุปง่ายๆ ก็คือ กำไรที่ได้จากการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมในบัญชี NISA จะสามารถแยกออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษีของบุคคลนั้นได้ โดยจำนวนเงินสูงสุดสำหรับบัญชี NISA แต่ละบัญชี คือ 1.2 ล้านเยนต่อปี

กล่าวคือ ตราบใดที่คุณซื้อหุ้นผ่านบัญชี NISA เงินปันผลที่คุณได้รับก็จะไม่ถูกเก็บภาษีนั่นเอง

ผู้ใหญ่ทุกคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายสามารถเปิดบัญชี NISA ได้ โดยบัญชีนี้จะค่อนข้างให้อิสระคุณในการลงทุน สามารถใช้ซื้อหุ้นเดี่ยว ETF หรือกองทุนรวมอื่นๆ ได้ทั้งหมด และสำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีก็มี Junior NISA ซึ่งเป็นวิธีการออมเงินสำหรับผู้เยาว์ โดยรวมแล้วก็จัดได้ว่า NISA เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่อยากเริ่มลงทุนแต่กังวลเรื่องการจ่ายภาษีนั่นเอง

บัญชี NISA มีอยู่ 2 ประเภท

นอกจากบัญชี NISA แบบปกติที่มีอายุ 5 ปี ซึ่งออกแบบมาสำหรับการลงทุนระยะสั้นแล้ว ยังมีบัญชี “Tsumitate NISA” ซึ่งออกแบบมาสำหรับการลงทุนระยะยาวด้วย

ในทางตรงกับข้ามกับเพดานการลงทุนที่ค่อนข้างสูงของบัญชี NISA แบบปกติ การลงทุนในบัญชี Tsumitate NISA นั้นจะมีการจำกัดเงินลงทุนไว้ที่ 400,000 เยนต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนยังจำกัดเฉพาะในขอบเขตที่ถูกเลือกไว้ด้วย นั่นหมายความว่าคุณจะไม่สามารถเลือกซื้อหุ้น หรือ ETF ได้อย่างอิสระเหมือนบัญชี NISA ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอยู่มากมาย แต่บัญชี Tsumitate NISA  นั้นมีระยะเวลาการยกเว้นภาษีนานถึง 20 ปี ทำให้เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่วางแผนจะลงทุนในระยะยาว

สิ่งหนึ่งที่ควรทราบไว้ คือ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะเปิดตัวบัญชี NISA ฉบับปรับปรุงใหม่ภายใน ค.ศ. 2024 ซึ่งจะทำให้บัญชี NISA แบบปกติมีความซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย แต่ข้อกำหนดส่วนใหญ่ของบัญชี Tsumitate NISA จะยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น หากคุณกำลังตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นลงทุนในบัญชีประเภทไหนดี Tsumitate NISA ก็อาจเป็นตัวเลือกที่มั่นคงกว่า

เครดิตภาษีต่างประเทศ: อย่าโดนเก็บภาษี 2 ครั้ง!

ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คุณสามารถซื้อหุ้นต่างประเทศ ลงทุนในตลาดต่างประเทศ หรือจัดการผลิตภัณฑ์การลงทุนที่คุณซื้อในประเทศบ้านเกิดโดยที่ตัวคุณยังอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้ ดังนั้น หากคุณทำกำไรได้มากพอจะถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีในประเทศเหล่านั้นแล้ว ก็อย่าลืมสมัคร “เครดิตาษีต่างประเทศ” เอาไว้ด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่อาศัยในญี่ปุ่นต้องจ่ายภาษีเงินได้ (Income Tax) ซ้ำกันถึง 2 ครั้ง คนที่ต้องเสียภาษีในต่างประเทศจะมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนภาษีได้ ลองนึกภาพดูว่าหากปีนี้คุณมีรายได้รวม 6 ล้านเยน โดยที่ 2 ล้านนั้นเกิดจากการลงทุนในต่างประเทศ หากคุณไม่มีเครดิตภาษีต่างประเทศก็จะต้องเสียภาษีเงินได้ถึงประมาณ 772,500 เยนเลยทีเดียว

แต่หากคุณสมัครเครดิตภาษีต่างประเทศ คุณจะสามารถลดหย่อนภาระภาษีของคุณได้ถึง 257,500 เยน! เงินจำนวนนี้จะคำนวณโดยการหารรายได้ต่างประเทศ (2 ล้านเยน) ด้วยรายได้รวม (6 ล้านเยน) แล้วคูณผลลัพธ์ด้วยจำนวนภาษีทั้งหมด (772,500) โปรดดูเว็บไซต์ทางการของ NTA สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม

แน่นอนว่าเครดิตภาษีต่างประเทศนั้นสามารถใช้ได้กับรายได้ที่ได้รับตามกฎหมายเท่านั้น และคุณก็จะต้องมีที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นเมื่อทำการลงทุนด้วย ดังนั้น หากคุณกำลังคิดที่จะลงทุนในตลาดต่างประเทศก็อย่าพลาดโอกาสที่จะประหยัดเงินจากการลดหย่อนภาษีนี้นะ!

ระบบภาษีนางฟ้า : ประหยัดมากขึ้นด้วยการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ

เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพกันมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ออก “ระบบภาษีนางฟ้า” (Angel Tax System) ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทสตาร์ทอัพบางแห่ง

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่าระบบภาษีนางฟ้าจะให้สิทธิประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน คือ อายุของบริษัท หากเป็นบริษัทที่อายุยังไม่ถึง 3 ปี นักลงทุนจะได้รับสิทธิ์ตามแบบแผน A ซึ่งการลงทุนทั้งหมดจะถูกหักจากรายได้ที่ต้องเสียภาษีของปีนั้นๆ หลังจากจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 2,000 เยน กล่าวคือ คุณจะได้รับส่วนลดภาษีเงินได้จำนวนมากโดยมีวงเงินสูงสุดอยู่ที่ 8 ล้านเยน

แต่หากบริษัทสตาร์ทอัพนั้นมีอายุมากกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี นักลงทุนสามารถรับสิทธิ์แบบแผน B ได้ โดยสามารถนำเงินลงทุนไปหักลดหย่อนกำไรจากการลงทุนอื่น ๆ โดยไม่มีขีดจำกัด การลดหย่อนภาษีนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ เนื่องจากในญี่ปุ่น รายได้จากการซื้อขายหุ้นและการลงทุนรูปแบบอื่นจะต้องถูกเก็บภาษีอีกหลายช่องทาง เช่น ภาษีเงินได้ (15%) ภาษีผู้อยู่อาศัย (5%) และอื่นๆ (เพิ่มอีก 15 – 55% ขึ้นอยู่กับกำไรที่ได้)

แต่หากบริษัทสตาร์ทอัพที่คุณลงทุนด้วยเกิดประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่หรือปิดตัวลงล่ะ จะทำอย่างไร? ตามไปอ่านต่อกันเลย!

เปลี่ยนการขาดทุนให้เป็นการลดหย่อนภาษี

เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะทำกำไรจากการลงทุนได้ตลอดเวลา เพราะนั่นคือวิถีแห่งการลงทุน ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ออก 2 มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดทุนจากการลงทุนมาให้ นั่นก็คือ การรวมกำไรและขาดทุน และการลดหย่อนภาษีสำหรับการยกยอดผลขาดทุน

สมมติว่าคุณซื้อหุ้น A และหุ้น B ในปีนี้ และทำกำไรได้ 100,000 เยนจากหุ้น A แต่ขาดทุนไป 40,000 เยนจากหุ้น B โดยปกติแล้ว 100,000 เยนที่คุณได้รับทั้งหมดจะต้องถูกหักภาษี แต่ด้วย “การรวมกำไรและขาดทุน” ดังกล่าว คุณจะสามารถหัก 40,000 เยนที่คุณสูญเสียไปกับหุ้น B ออกจากการกำไรของคุณได้เลย หมายความว่ารายได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งหมดของคุณจะลดลงมาเหลือเพียง 60,000 เยนเท่านั้น!

ในอีกกรณีหนึ่ง หากคุณขาดทุนกับหุ้น B ไป 150,000 เยน และถึงแม้จะนำกำไรขาดทุนมารวมกันแล้วก็ยังคงมียอดการขาดทุนสุทธิถึง 50,000 เยน ก็ถึงเวลาที่จะใช้ประโยชน์จาก “การลดหย่อนภาษีสำหรับการยกยอดผลขาดทุน” กัน มาตรการนี้อนุญาตให้มีการลดหย่อนภาษีจากการขาดทุนของคุณได้ไปอีก 3 ปีข้างหน้า ตราบใดที่คุณมีรายได้ในช่วงเวลานี้ คุณสามารถเปลี่ยนการขาดทุน 50,000 เยนมาเป็นเครดิตภาษีเพื่อชำระภาษีเงินได้ในราคาที่ถูกลง เห็นได้ชัดว่ามาตรการทั้ง 2 ข้อนี้สามารถช่วยลดผลกระทบจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เล็กน้อย

ลงทุนอย่างชาญฉลาดและลดหย่อนภาษีไปในตัว!

เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณได้แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีที่นักลงทุนในญี่ปุ่นใช้ในการลดหย่อน “ภาษี การลงทุน” (ที่กล่าวถึงในบทความนี้) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากเงินของคุณให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุดเท่านั้น และถึงแม้จะไม่สามารถรับประกันผลกำไรได้ แต่ระบบและกฎเกณฑ์บางอย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงและข้อเสียที่มาพร้อมกับการลงทุนแบบปกติได้ หากคุณพอจะมีเงินเก็บเหลืออยู่บ้าง ทำไมไม่ลองใช้ประโยชน์จากระบบการยกเว้นภาษีเหล่านี้ และลองลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณที่ดีขึ้นดูล่ะ?

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: