วิธีเขียน “Shokumukeirekisho” เรซูเม่ญี่ปุ่นสำหรับชาววิศวกรไอที

คุณกำลังมองหางานสายวิศวกรไอทีในประเทศญี่ปุ่นอยู่หรือเปล่า? รู้หรือไม่ว่าต้องเขียนเรซูเม่ 2 ฉบับสำหรับใช้ในการสมัครงานด้วย? วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูวิธีเขียนเรซูเม่ฉบับที่ 2 ที่เรียกว่า Shokumukeirekisho ดูว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และจะจัดรูปแบบอย่างไรให้ออกมาดีที่สุด!
Oyraa

หมายเหตุ: เนื้อหาในบทความนี้ถูกปรับให้เหมาะกับสายวิศวกรไอทีโดยเฉพาะ สำหรับสายงานอื่น สามารถเข้าไปอ่านที่บทความนี้ได้เลย!

เมื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ก็จำเป็นจะต้องทำตัวให้คุ้นเคยกับกำแพงภาษาและมารยาททางวัฒนธรรมทั้งหลายด้วย การเตรียมเรซูเม่สำหรับสมัครงานก็เป็นอีกหนึ่งกำแพงทางวัฒนธรรม เพราะไม่ใช่แค่การแปลเรซูเม่เก่าในภาษาไทยให้เป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น แต่คุณจะต้องเขียนเอกสารใหม่ถึง 2 ฉบับเลยทีเดียว!

แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเราจะมาช่วยให้คุณผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไปด้วยกัน

สมัครงานในญี่ปุ่นต้องใช้เรซูเม่ 2 แบบ!?

Japanese resume

เมื่อเริ่มหางานในประเทศญี่ปุ่น ก็จะต้องเตรียม Rirekisho (履歴書) หรือเรซูเม่ภาษาญี่ปุ่นที่มีแบบฟอร์มมาตรฐานด้วย ฟอร์มนี้จะมี 2 หน้า ให้กรอกข้อมูลของตัวเองลงไปตามลำดับที่กำหนดมา นอกจากข้อมูลส่วนตัวอย่าง ชื่อ อายุ เพศและรูปถ่ายแล้ว ยังต้องเขียนประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงานและทักษะ/ใบรับรองที่มีด้วย ซึ่งส่วนนี้เพียงแค่เขียนบอกสั้นๆ ว่าเคยเรียนหรือทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร และทำอยู่ที่นั่นมานานแค่ไหนแล้วก็พอ

ในหน้าที่ 2 จะมีพื้นที่เล็กๆ ให้คุณได้ทำการโฆษณาตัวเอง โดยเขียนถึงทักษะพิเศษต่างๆ หรือจุดแข็ง และแนะนำ/โฆษณาตัวเองแบบรวบรัดได้ใจความ โดยรวมแล้วจะมีลักษณะเป็นลิสต์ข้อๆ ซึ่งแตกต่างจากเรซูเม่ของประเทศฝั่งตะวันตกที่มักจะมีพื้นที่สำหรับการบรรยายแบบลงรายละเอียด

สำหรับเคล็ดลับการเขียน Rirekisho อย่างไรให้เข้าตาบริษัท สามารถอ่านต่อได้ ที่นี่

Shokumukeirekisho สำคัญอย่างไร?

Handing in your resume

ด้วยความที่เรซูเม่เป็นเหมือนลิสต์ข้อมูลพื้นฐาน Shokumukeirekisho (職務経歴書) จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้คุณสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยมีทั้งพาร์ทที่จำเป็นและควรเขียนตามหัวข้อนั้นเลย ไปจนถึงพาร์ทอื่นๆ ที่สามารถเขียนรวบเข้าด้วยกันหรือแยกหัวข้อออกจากกันได้ ขึ้นอยู่กับจุดที่ต้องการเน้น

จุดมุ่งหมายของเอกสารฉบับนี้ คือ ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวช่วยขยายความเรซูเม่ ซึ่งจะใกล้เคียงกับ CV ของตะวันตกมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีองค์ประกอบของจดหมายสมัครงานเพิ่มเข้ามาด้วย! โดยคุณจะต้องเอาประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องแต่ละอย่างที่เขียนไว้ในเรซูเม่มาขยายความลงรายละเอียดว่าหน้าที่แต่ละอย่างที่ทำนั้นมีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร และทำให้คุณเหมาะกับงานนี้อย่างไร หากต้องการแนบลิงก์แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) หรือผลงานอื่นๆ ที่เคยทำไว้ก็สามารถนำมาใส่ในส่วนนี้ได้เลย

เรียกได้ว่า Shokumukeirekisho มีไว้ให้อธิบายว่าประสบการณ์การทำงานในอดีตทำให้คุณเหมาะกับงานนี้แค่ไหนนั่นเอง

วิธีเขียน Shokumukeirekisho

Writing your shokumukeirekisho

ไม่มีการกำหนดรูปแบบการเขียนอย่างชัดเจนไว้ แต่ก็มีแนวทางสำหรับสิ่งที่ควรเขียนอยู่ เราจะพาคุณไล่ไปตามหัวข้อใหญ่ๆ รวมถึงตัวอย่างในการจัดวางรูปแบบ Shokumukeirekisho ด้วย สามารถหยิบตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อยแล้วนำไปประยุกต์สร้างรูปแบบที่เหมาะกับทักษะและประวัติการทำงานของคุณได้เลย

หัวเรื่องและข้อมูลส่วนตัว

เขียนหัวเรื่องว่า 職務経歴書 ที่ด้านบนสุดของกระดาษ จากนั้นก็ใส่วันที่ ชื่อนามสกุล และข้อมูลทั่วไปอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น ช่องทางการติดต่อ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มนี้แล้วเขียนไปพร้อมกับเรา ขณะที่อ่านบทความที่เหลือได้เลย!

ประวัติการทำงานโดยย่อ

career summary
แบบฟอร์มเวอร์ชั่นตัวอักษรสามารถดาวน์โหลดได้ด้านบน

โดยส่วนใหญ่แล้ว Shokumukeirekisho จะใช้เขียนประวัติการทำงานแบบย่อๆ ของคุณไว้ที่ด้านบนของหน้ากระดาษต่อจากข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนนี้ควรจะมีความยาวไม่เกิน 250 ตัวอักษร ถือเป็นการแนะนำตัวโดยสังเขปว่าคุณเป็นใครและเคยทำอาชีพอะไรบ้างจนถึงปัจจุบัน หมายเหตุเอาไว้ว่าส่วนนี้ยังไม่ใช่จุดที่จะลงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์และทักษะ ดังนั้น คิดเสียว่าเป็นสรุปประวัติการทำงานของคุณจะดีกว่า

ทักษะที่เกี่ยวข้อง

skills section

ในส่วนนี้ คุณควรใส่ทักษะและความสำเร็จ “ที่ดีที่สุด” ลิสต์มาสั้นๆ ว่าคุณมีอะไรที่จะให้กับทางบริษัทบ้าง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ตรงนี้ก็ได้ เพราะสามารถเขียนรวมไปกับพาร์ทที่พูดถึงทักษะอื่นๆ ได้เลย (อ่านต่อข้างล่าง) แต่หากยกมาไว้ด้านบนก็อาจจะสร้างความประทับใจที่ดีให้กับผู้อ่านได้เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับพาร์ททักษะที่จะพูดถึงต่อไปนี้ซึ่งเป็นลิสต์คร่าวๆ ว่าคุณทำอะไรได้และเคยทำอะไรมาบ้าง ส่วนนี้ถือว่าสามารถใช้ระบุถึงหัวข้อย่อยเหล่านี้ได้ตามต้องการ

ประวัติการทำงาน

career summary

พาร์ทนี้เป็นใจความสำคัญของ Shokumukeirekisho ที่สามารถใช้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละตำแหน่งที่เคยทำมา โดยจะระบุเนื้อหาของแต่ละงานลงไปกี่ข้อก็ได้ ตามที่คุณรู้สึกว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัครมากที่สุด โปรดจำไว้ว่าเอกสารตัวนี้จะใช้ในการกำหนดว่าคุณเหมาะสมกับบริษัทที่สมัครหรือไม่ ฉะนั้นจึงควรเน้นย้ำถึงประสบการณ์ที่คุณคิดว่าจะทำให้ดูเป็นผู้สมัครที่โดดเด่นกว่าใคร

นอกจากนี้ คุณยังสามารถใส่ข้อมูลของนายจ้างหรือบริษัทที่เคยทำงานแต่ละตำแหน่งลงไปได้ด้วย ในที่นี้รวมถึง:

  • ชื่อบริษัท
  • อยู่ในแวดวงอะไร
  • ก่อตั้งเมื่อไร
  • ทุนจดทะเบียนของบริษัท
  • จำนวนพนักงาน
  • กำไรต่อปี

ในส่วนนี้แค่รวบรวมข้อมูลที่สำคัญมานิดหน่อยก็พอ (หากคุณไม่ได้ทำงานในบริษัทมหาชนก็ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลหุ้นลงไป) นอกจากนี้ หากคิดว่าการก่อตั้งบริษัทไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญก็ไม่จำเป็นต้องเขียนลงไปเช่นกัน เพราะส่วนนี้ไม่ได้มีไว้เล่าเรื่องชื่อเสียงของบริษัทที่เคยทำงานด้วย แต่เป็นตัวบอกว่าคุณเคยทำงานในสถานที่แบบไหนมา เช่น เป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่, เคยรับหน้าที่จัดการกับภาคส่วนใดมา เป็นต้น

หลังจากที่ลงรายละเอียดนายจ้างแต่ละรายเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จะต้องบรรยายถึงตำแหน่งของคุณในแต่ละบริษัท ซึ่งตรงนี้คุณสามารถพูดถึง:

  • ชื่อตำแหน่งและแผนก
  • ระยะเวลาการทำงาน
  • โปรเจกต์ที่เคยมีส่วนร่วม
  • คุณมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรถึงขั้นไหน
  • ลิสต์ของโปรแกรม, ภาษา, ขอบเขตงาน ฯลฯ ที่เคยใช้
  • ความสำเร็จ/ผลการดำเนินการ

ความสำคัญของพาร์ทนี้ คือ เป็นการเน้นย้ำถึงประสบการณ์ในแต่ละตำแหน่ง ความสำเร็จและปัจจัยว่าสิ่งนั้นส่งผลให้คุณยื่นสมัครงานในตอนนี้อย่างไรบ้าง ไม่มีจำนวนคอลัมน์ที่ “ถูกต้อง” สำหรับการจัดข้อมูลทุกอย่างในพาร์ทนี้ และแน่นอนว่าจะเขียนเป็นลิสต์ยาวๆ ออกมาเลยก็ได้
แต่เรื่องที่เราอยากแนะนำ คือ ให้แยกคอลัมน์ “ระยะเวลาในการพัฒนาระบบ” และ “ภาษาคอมฯ ที่ใช้” ออกมา เพราะทางบริษัทมักมีความต้องการเฉพาะอย่างสำหรับ 2 หมวดนี้ ดังนั้น วิธีนี้จะช่วยให้บรรดานายจ้างสามารถอ่านทั้ง 2 ช่องนี้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อดูว่าคุณมีประสบการณ์ที่ต้องการหรือไม่

ขอย้ำอีกครั้งว่า แต่ละตำแหน่งที่คุณเคยทำงานมาจะแตกต่างกันไป ทำให้มีทักษะและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ขอให้คุณใช้พาร์ทนี้เล่าไปว่าแต่ละตำแหน่งทำให้คุณพร้อมสำหรับการสมัครงานในครั้งนี้ได้อย่างไรและเพราะเหตุใด นอกจากนี้ ยังสามารถใส่ลิงก์ผลงานของตนเอง (เช่น เว็บไซต์ที่ออกแบบ) ไปด้วย ซึ่งจะทำให้ Shokumukeirekisho ของคุณมีลักษณะคล้ายกับ Portfolio มากขึ้น

ทักษะต่างๆ

languages, skills, and certificates

หลังจากที่ลงรายละเอียดในประวัติการทำงานกันไปแล้ว คุณยังสามารถกล่าวถึงทักษะ ภาษาและโปรแกรมที่ถนัด รวมถึงทักษะเฉพาะทางอื่นๆ และใบรับรองหรือคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ลองเลือกจากทักษะที่ได้ใส่เอาไว้ในประวัติการทำงานข้างต้นว่ามีทักษะใดที่บริษัทนั้นกำลังให้ความสนใจอยู่เพื่อให้เข้ากับตำแหน่งงานที่กำลังจะสมัคร โดยในส่วนนี้จะสามารถไล่เรียงได้ตั้งแต่ทักษะที่พื้นฐานมากๆ ไปจนถึงทักษะพิเศษ

หากภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่ภาษาแม่ ก็ควรเขียนบอกเรื่องทักษะภาษา หรือระดับของ JLPT เอาไว้ด้วย ส่วน “ทักษะทางภาษา” (Language Skills) นั้นจะแยกออกมาหรือใส่รวมไปกับทักษะ/ใบรับรองก็ได้

นอกจากนี้ ยังสามารถลิสต์ประวัติการศึกษาและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องลงในพาร์ทนี้ได้อีกด้วย หากมีทักษะที่ได้จากการทำงานอาสา หรือประสบการณ์เข้าร่วมโครงการเรียนและฝึกงานที่ดูไม่เข้าพวกกับพาร์ทประวัติการทำงานก็นำมาใส่ไว้ในพาร์ทนี้ได้เลย

การโฆษณาตัวเอง “จิโกะ พีอารุ” (Jiko PR)

jiko PR

พาร์ทนี้จะเป็นพื้นที่ให้คุณเขียนได้อย่างอิสระว่าทำไมถึงยื่นสมัครตำแหน่งนี้ รวมถึงเป้าหมายในอนาคต ลองทบทวนประสบการณ์ในอดีตที่เขียนไว้ด้านบนกับทักษะที่ได้รับมา โดยเฉพาะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skills) ที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงในพาร์ทอื่น, อนาคตอยากไปในทิศทางไหน, ตำแหน่งนี้จะช่วยให้คุณทำสำเร็จได้อย่างไร
คุณสามารถเขียนถึงอะไรก็ได้ที่ต้องการ แค่ต้องให้ตรงประเด็นว่าทำไมถึงยื่นสมัครงานในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจะสนใจมากที่สุดว่าอะไรเป็นตัวชักนำให้คุณยื่นสมัครงานในตำแหน่งนี้และคุณจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับบริษัทได้บ้าง

ในส่วนนี้ควรเขียนให้ยาวพอๆ กับสรุปสายอาชีพการทำงานที่อยู่ด้านบนของหน้ากระดาษ ซึ่งก็คือ 250 ตัวอักษร ไม่ควรยาวเกินกว่านั้นเพราะเป้าหมายของคุณคือการกล่าวโดยสรุปว่าตำแหน่งใหม่นี้เหมาะกับสายอาชีพของคุณอย่างไร

ข้อควรระวังคือ มีพาร์ทที่เหมือนกับ Rirekisho อยู่ หากตัดสินใจว่าจะเขียนสิ่งเดียวกันในเอกสารทั้งคู่ ก็อย่าทำแค่คัดลอกแล้วนำมาวาง เพราะจุดประสงค์ของเอกสารทั้ง 2 ตัวนี้ไม่เหมือนกัน โดย Rirekisho จะเน้นการให้ข้อมูลทั่วไป ในขณะที่ Shokumukeirekisho จะเจาะลึกตรงประเด็นมากกว่า ซึ่งนอกจากข้อมูลต่างๆ แล้ว ทางบริษัทก็จะสังเกตด้วยว่าคุณได้ใส่ความพยายามลงไปหรือไม่

หมายเหตุทั่วไป

Taking notes for a resume

เราขอแนะนำเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเขียนทุกพาร์ทของ Shokumukeirekisho ได้

  • คุณสามารถเลือกเรียงลำดับประสบการณ์ของคุณได้ตามต้องการ วิธีที่คนนิยมใช้กันมากที่สุด คือ การเรียงตามลำดับเวลาก่อน – หลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะชอบมากกว่า อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเขียนไล่ย้อนกลับไปได้ในบางสถานการณ์ หรือเรียงตามลำดับขั้นของตำแหน่งเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในสายงานก็ได้เช่นกัน
  • หากเป็นไปได้ พยายามเขียน Shokumukeirekisho ให้จบภายใน 2 หน้ากระดาษ สามหน้ายังถือว่าพอรับได้ แต่จะถือว่าค่อนข้างยาว อย่าพยายามเขียนให้ยืดเยื้อเพื่อเพิ่มความยาว และหากคุณเพิ่งเริ่มทำงาน จะเขียนแค่หน้าเดียวก็ไม่เป็นไร
  • เขียนให้กระชับและเป็นรูปธรรม พยายามดึงจุดแข็งของตัวเองให้เด่นออกมา อย่าให้หลบอยู่ใต้ภาษาที่ประดิดประดอยสวยหรู เน้นการเขียนให้ตรงประเด็น และหากเป็นไปได้ให้ใช้ตัวเลขในการวัดผลต่างๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ
  • ระวังเรื่องรูปแบบของเอกสารให้มาก เช่น การเว้นบรรทัดต้องเว้นให้เท่าๆ กัน หรือการจัดแนวข้อความ จะชิดซ้ายหรือให้อยู่ตรงกลางก็ต้องจัดให้เหมือนกัน เพราะผู้จ้างชาวญี่ปุ่นนั้นจุกจิกเรื่องการนำเสนอเอามากๆ !

การหางานในญี่ปุ่นไม่ได้ยากเสมอไป

Interview in Japan

การหางานใหม่ย่อมมีความอึดอัดและกระอั่กกระอ่วนเล็กน้อย แต่ก็ไม่เสมอไป เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณได้ตรวจเช็คส่วนที่จำเป็นและเตรียม Shokumukeirekisho ให้พร้อมสำหรับการสมัครงาน!

นอกจากนี้ เรายังมี บทความรวมวิธีหางานแบบต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ให้คุณด้วย และหน้าเว็บฯ Tsunagu Local Jobs สำหรับหางานของเราก็เต็มไปด้วยข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยในเรื่องของการค้นหาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณเขียนใบสมัครงานที่ดีที่สุดขึ้นมาได้อีกด้วย

Header credit: PIXTA

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: