วลีญี่ปุ่นควรรู้ในการทำงานและสัมภาษณ์ – ตอน คำที่ไม่ควรใช้ผิด

Oyraa

แม้แต่ชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่มีปัญหา ก็ยังมีหลายคนที่รู้สึกว่าการใช้ภาษายกย่องหรือวิธีพูดอย่างถ่อมตัวนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นแล้วก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาสุภาพหรือภาษายกย่องกับผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือลูกค้าได้

เพื่อไม่ให้คุณตื่นตระหนกในเวลาที่จำเป็น ในบทความนี้เราจะมาแนะนำวลีที่มีประโยชน์ต่อการทำงานในญี่ปุ่น เช่น การสัมภาษณ์งาน รวมถึงวลีที่หากใช้ผิดแล้วจะเป็นการเสียมารยาทกัน

วลีที่มีประโยชน์ในการหางาน

画像提供:PIXTA

ในเวลาหางาน มีหลายครั้งที่คุณต้องโทรติดต่อหรือไม่ก็รับการติดต่อจากทางบริษัท เมื่อมองไม่เห็นหน้าของอีกฝ่าย ก็อาจจะประหม่าจนพูดผิดพูดถูกไปหมดได้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ลองมาดูกันว่ามีวลีอะไรบ้างที่ควรรู้เอาไว้ สำหรับใช้ในการพูดคุยผ่านโทรศัพท์

Oisogashii tokoro shitsurei shimasu (ขอรบกวนในขณะที่กำลังยุ่งอยู่)

วลีที่ควรจำไว้ในฐานะคำทักทายเวลาติดต่อทางโทรศัพท์กับบริษัท นอกจากจะเป็นคำทักทายแล้วยังสื่อให้เห็นว่าเราเคารพและคำนึงถึงเวลาของอีกฝ่ายด้วย แค่วลีที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจเพียงวลีเดียวก็ช่วยให้การสนทนาต่อจากนี้เป็นไปอย่างราบรื่นได้

ตัวอย่าง
お忙しいところ失礼します。▲▲の件でお電話させていただいた、〇〇(自分の名前)と申します。
Oisogashii tokoro shitsurei shimasu. ▲▲ no ken de odenwa sasete itadaita, 〇〇 to mou shimasu.
ขอรบกวนในขณะที่กำลังยุ่งครับ ผม 〇〇 (ชื่อตัวเอง) ที่ได้ติดต่อเรื่อง ▲▲ ไว้นะครับ

Osore irimasu ga (ขออภัยด้วย แต่)

วลีสำหรับใส่นำหน้าประโยคที่ช่วยให้การสื่อสารลื่นไหลขึ้น ใช้กับคนที่ต้องการแสดงความเคารพหรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางในหลายสถานการณ์ โดยทั่วไปจะใช้เวลาขอให้อีกฝ่ายทำอะไรบางอย่าง แค่พูดวลีนี้ออกไปก็จะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อสถานะของอีกฝ่าย

ตัวอย่าง
恐れ入りますが、もう一度おっしゃっていただいてもよろしいでしょうか?
Osore irimasu ga, Mou ichido oshatte itadaitemo yoroshii deshouka?
ขอโทษนะครับ แต่กรุณาพูดอีกครั้งได้ไหมครับ?

รู้จักแยกใช้ “Osewa ni natte orimasu”, “Otsukaresama desu”, “Gokurousama desu”

画像提供:PIXTA

การทำงานในบริษัทมักจะมีโอกาสให้ได้ติดต่อกับคนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนภายในหรือภายนอก ในสถานการณ์เช่นนี้การเลือกใช้คำพูดต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามสถานะของทั้งสองฝ่ายด้วย

ด้านล่างนี้เป็นคำอธิบายวิธีใช้ “Osewa ni natte orimasu”, “Otsukaresama desu”, และ “Gokurousama desu” ซึ่งเป็นวลีที่ใช้กันบ่อยในการติดต่อธุรกิจ

Osewa ni natte orimasu (ขอบคุณที่คอยเป็นธุระ)

お世話になっております。

“sewa” (世話) ในวลีนี้มีความหมายว่า เป็นธุระ ช่วยเหลือ หรือเป็นตัวกลาง เป็นวลีที่ใช้เพื่อแสดงความขอบคุณต่อการที่อีกฝ่ายคอยเป็นธุระให้กับเรา โดยทั่วไปจะใช้กับแขก ลูกค้า หรือคนที่กำลังทำธุรกิจด้วย และจะไม่ใช้กับคนในบริษัทเดียวกับหรือคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ในกรณีของคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน การใช้ Osewa ni natte orimasu จะดูไม่เป็นธรรมชาติ และอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเสียมารยาทได้ด้วย หากเพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกแต่มีแนวโน้มจะติดต่อกันอีกยาวนาน ก็ขอแนะนำให้ใช้ Osewa ni narimasu (ขอบคุณที่จะเป็นธุระ) จะดีกว่า

Otsukaresama desu (ขอบคุณที่เหนื่อย)

お疲れ様です。

วลีที่ใช้ได้บ่อยในหลายสถานการณ์ เช่น เวลาเลิกงาน เวลาที่พบกับเจ้านายหรือลูกค้า ในความหมายว่าคำนึงถึงหรือแสดงความขอบคุณต่ออีกฝ่าย เป็นคำที่ใช้กับคนในบริษัทเดียวกัน และสามารถใช้ได้กับทุกคนโดยไม่เกี่ยงตำแหน่ง

นอกจากนี้ยังนิยมใช้กันในฐานะคำทักทายเวลาเลิกงานและจะกลับบ้าน หรือเวลาที่เดินผ่านคนรู้จักภายในบริษัทด้วย

Gokurousama desu (ขอบคุณที่เหนื่อย)

ご苦労様です。

มีความหมายและลักษณะการใช้เหมือนกับ Otsukaresama desu แต่จะเป็นคำที่ใช้กับคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า หากใช้กับคนนอกบริษัทหรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าก็จะเป็นการเสียมารยาท จึงควรระวังเรื่องสถานะระหว่างตัวเองกับอีกฝ่ายให้ดีหากต้องการใช้

ความแตกต่างระหว่าง “Ryoukai shimashita”, “Shouchi shimashita”, “Kashikomarimashita”

画像提供:PIXTA

คำเหล่านี้ใช้เพื่อแสดงถึงความเข้าใจ รับทราบ หรือตอบรับต่อคำพูดหรือการกระทำของอีกฝ่าย แม้จะมีความหมายเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้แทนกันได้ หากใช้ผิดวิธีก็อาจเป็นการเสียมารยาทเช่นกัน จึงควรแยกใช้ให้ถูกต้องตามสถานการณ์

Ryoukai shimashita (รับทราบ)

了解しました。

“Ryoukai” (了解) แปลว่า “เข้าใจ” ใช้เพื่อยืนยันว่าเราเข้าใจความคิดหรือเรื่องราวของอีกฝ่าย เนื่องจากคำว่า Ryoukai ไม่มีนัยยะการยกย่อง จึงไม่ควรใช้กับเจ้านาย คนนอกบริษัท หรือลูกค้า แนะนำให้จำไว้ว่าเป็นคำสำหรับใช้กับเพื่อนร่วมงานหรือคนที่มีอายุน้อยกว่าจะเป็นการดีกว่า

Shouchi shimashita (รับทราบ)

承知しました。

“Shouchi” (承知) เป็นคำถ่อมตนที่มีความหมายว่า รู้ เข้าใจ หรือเห็นด้วยกับเรื่องราวของอีกฝ่าย ส่วนใหญ่จะใช้ตอนรับไหว้วานอะไรบางอย่าง หรือตอนที่ต้องการบอกให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราเข้าใจเรื่องของเขา เป็นคำที่เหมาะสำหรับใช้กับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือคนที่เราทำธุรกิจด้วย ในขณะเดียวกันก็ฟังดูไม่แปลกหากใช้กับเพื่อนร่วมงานหรือรุ่นน้องในบริษัท ในการทำงานก็ใช้ได้กับทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะทำให้ใครรู้สึกไม่ดี

Kashikomarimashita (รับทราบ)

かしこまりました。

“Kashikomaru” (かしこまります) เป็นการน้อมรับคำพูดของคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า ใช้เพื่อบอกลูกค้า คนที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรือเจ้านายว่าเราเข้าใจการไหว้วานหรือคำสั่งของเขา ทั่วไปแล้วจะใช้เมื่อรับคำสั่งจากคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าในที่ทำงาน และควรหลีกเลี่ยงการใช้กับเพื่อนร่วมงานหรือรุ่นน้อง เนื่องจากดูเป็นทางการไปและจะทำให้รู้สึกห่างเหิน

อีกด้านหนึ่ง คำว่า “Naruhodo” ที่มักใช้เพื่อเออออระหว่างสนทนาจะเป็นคำที่ใช้กับคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในขณะทำงาน

ความแตกต่างระหว่าง “Kisha / Onsha”, “Heisha”

画像提供:PIXTA

ทุกคำด้านบนเป็นคำที่ใช้พูดถึงบริษัท ควรจำวิธีใช้ที่ถูกต้องไว้ให้ดีเนื่องจากเป็นคำที่ใช้บ่อยเวลาทำงาน

Kisha / Onsha (บริษัทคุณ / บริษัทท่าน)

ทั้งสองคำเป็นคำที่ใช้กล่าวถึงบริษัทของอีกฝ่ายในเชิงยกย่อง ต่างกันตรงที่ Onsha (御社) จะใช้ในภาษาพูด เช่น เวลาคุยงานหรือต่อรองธุรกิจ ส่วน Kisha (貴社) จะใช้ในภาษาเขียนอย่างอีเมลหรือเอกสารต่างๆ ควรระวังไม่ให้เผลอใช้ Onsha ในอีเมล หรือใช้ Kisha ในระหว่างที่พูดคุยกับลูกค้า

Heisha (บริษัทเรา)

Heisha (弊社) เป็นคำที่ใช้กล่าวถึงบริษัทของตัวเอง มีนัยยะของการถ่อมตน แสดงให้เห็นว่าเรามองว่าบริษัทของอีกฝ่ายมีสถานะสูงกว่า ใช้ในสถานการณ์เช่นการต่อรองธุรกิจหรือการพูดคุยกับลูกค้า

แยกใช้ “Ohisashiburi desu”, “Gobusata shite orimasu”

画像提供:PIXTA

ทั้งสองคำเป็นคำที่ใช้ทักทายคนที่ไม่ได้เจอหรือไม่ได้ติดต่อกันนาน ใช้บ่อยแม้ในชีวิตประจำวัน และคงมีหลายคนที่เข้าใจว่าทั้งสองมีความหมายเดียวกัน แต่อันที่จริงแล้วสองคำนี้มีจุดต่างกันเล็กน้อย จึงจำเป็นต้องแยกใช้ให้ถูกต้องตามสถานการณ์และคู่สนทนา

Ohisashiburi desu (ไม่ได้เจอกันนาน)

Ohisashiburi (お久しぶり) ใช้ในกรณีที่ไม่ได้เจอกันนาน แต่มีการติดต่อกันอยู่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อีเมลหรือโทรศัพท์

คำนี้แสดงถึงความดีใจที่ได้พบโดยไม่ได้แฝงความรู้สึกผิด ปกติแล้วจะใช้กับเพื่อนร่วมงานหรือคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า แม้ว่าจะสามารถใช้กับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงจะดีกว่าเนื่องจากเป็นวิธีพูดที่ค่อนข้างไม่เป็นทางการ

ตัวอย่าง
お久しぶりです。〇〇の件ではお世話になりました。
Ohisashiburi desu. 〇〇 no ken de osewa ni narimashita.
ไม่ได้เจอกันนานนะ ขอบคุณมากสำหรับเรื่อง 〇〇

Gobusata shite orimasu (ขอโทษที่ห่างเหินไป)

“sata” (沙汰) ใน “Gobusata” (ご無沙汰) มีความหมายว่า “ส่งข่าวหรือแจ้งให้ทราบ” Gobusata ซึ่งเป็นคำตรงข้ามจึงมีความหมายว่า “ไม่ได้ส่งข่าวหรือแจ้งให้ทราบ”

Gobusata shite orimasu ใช้ในตอนที่ไม่ได้พบกับอีกฝ่ายเป็นระยะเวลานาน และไม่มีการติดต่อกันผ่านอีเมล จดหมาย หรือโทรศัพท์เลย เป็นวิธีพูดที่แสดงความเคารพต่ออีกฝ่าย แฝงไปด้วยความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ติดต่อไป จึงเป็นภาษาสุภาพที่สามารถใช้กับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือใช้ในการทำงานได้ไม่มีปัญหา

ตัวอย่าง
ご無沙汰してしまい、申し訳ありません。
Gobusata shite shimai, moshiwake arimasen.
ต้องขอโทษด้วยนะครับที่ห่างเหินไปนาน

大変長らくご無沙汰しております。
Taihen nagaraku gobusata shite orimasu.
ขอโทษที่ห่างเหินไปเป็นเวลานานมากนะครับ

วลีที่ใช้เวลาขอโทษ

画像提供:PIXTA

เมื่อทำงานอยู่ในบริษัท เป็นเรื่องปกติที่คุณจะพบกับสถานการณ์ที่ต้องขอโทษใครบางคน โดยทั่วไปเราจะใช้คำว่า “Gomennasai” ในการขอโทษ แต่คำนี้เป็นคำที่ใช้เพื่อขอการยกโทษจากอีกฝ่ายโดยคาดล่วงหน้าว่าจะได้รับการยกโทษ ทั่วไปจึงถูกมองว่าขัดต่อมารยาทในการทำงาน

คำขอโทษที่นิยมใช้กันในการทำงานมีอยู่ 2 คำดังนี้

Sumimasen (ขอโทษ)

นิยามดั้งเดิมของ “Sumimasen” คือ ล้มเหลวในการทำหน้าที่ให้กับใครสักคน มีความหมายว่าได้พลาดทำอะไรบางอย่างไปในระดับที่แค่การขอโทษไม่เพียงพอ ใช้แสดงถึงความรู้สึกผิดอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตามในการทำงานจริง คำๆ นี้ไม่เหมาะกับการขอโทษความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงขนาดนั้น แต่เป็นคำที่ใช้ในกรณีที่เราได้สร้างความลำบากหรือภาระให้กับอีกฝ่าย และสามารถยกโทษให้กันได้ไม่ยากนัก

ตัวอย่าง
ご迷惑をお掛けしてすみません。
Gomeiwaku wo okakete sumimasen.
ต้องขอโทษด้วยครับที่ทำให้ลำบาก

Moushi wake arimasen (ขอโทษโดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ)

“Moushi wake arimasen” เป็นคำที่ใช้ตอนที่ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ต่อการกระทำของตัวเอง เป็นคำที่แสดงความขอโทษได้หนักแน่นที่สุดและนิยมใช้มากที่สุดในการทำงาน หากเกิดทำผิดพลาดครั้งใหญ่ขึ้นมา ขอแนะนำให้ใช้ Moushi wake arimasen เพื่อแสดงถึงความรู้สึกขอโทษที่มาจากใจจริง

ตัวอย่าง
お待たせしてしまい、大変申し訳ありません。
Omatase shite shimai, taihen moushi wake arimasen.
ต้องขอโทษเป็นอย่างสูงครับที่ทำให้รอนาน

ควรใช้ “Yoroshiku onegai itashimasu” เมื่อไรดี?

“Yoroshiku onegai itashimasu” (よろしくお願いいたします) เป็นคำที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงานหรือชีวิตประจำวัน

“Yoroshiku” แฝงไปด้วยความรู้สึกที่ต้องการทำตามความสะดวกของอีกฝ่าย สามารถใช้ในฐานะคำส่งท้ายได้ทั้งในการพูดคุยและการเขียน ขอแนะนำให้ลองเพิ่มคำว่า “Yoroshiku onegai itashimasu” ลงไปตอนคุยธุรกิจกับลูกค้าเสร็จ หรือไม่ก็ตอนที่คุยโทรศัพท์เสร็จและกำลังจะวางสาย

เวลาที่ใช้ในรูปของการเขียน เช่น อีเมล ควรเขียนเป็น “よろしくお願いいたします” ไม่ใช่ “宜しくお願い致します” เนื่องจากอักษรคันจิ 宜 เดิมทีมีคำอ่านว่า gi เพียงอย่างเดียว จึงไม่มีความหมายของ “よろしく” ที่เป็นคำทักทาย ส่วน “いたします” ก็เป็นรูปถ่อมตัวของคำช่วย “〜ます” การเขียนด้วย “致します” จึงผิดเช่นกัน

ส่งท้าย

วลีที่เราได้นำเสนอไปในครั้งนี้เป็นวลีที่ใช้กันบ่อยมากในบริษัท เนื่องจากมีนัยยะคล้ายกัน จึงควรฝึกใช้ให้ชำนาญเพื่อที่จะไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้คู่สนทนารู้สึกไม่พอใจได้

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: