รวมเรื่องควรรู้ ในการเป็น “วิศวกรไอที” ที่ญี่ปุ่น!

ความต้องการวิศวกรไอทีเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก ด้วยโอกาสที่มากขึ้นก็ทำให้มีชาวต่างชาติหลายคนที่อยากมาทำงานเป็นวิศวกรไอทีที่ญี่ปุ่น ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติจำเป็นต้องรู้สำหรับการทำงานด้านวิศวกรรมไอทีในญี่ปุ่น ทั้งสถานภาพการพำนักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน วิธีขออนุญาตประกอบวิชาชีพ และตัวอย่างงานด้านวิศวกรรม
Oyraa

วิศวกรในญี่ปุ่นกับโอกาสที่มากขึ้น!

วิศวกร หมายถึง “บุคคลที่มีความรู้เฉพาะทางและมีทักษะด้านวิศวกรรม” ซึ่งในยุคที่สังคมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ คำว่า วิศวกรไอที จึงหมายถึง “บุคคลที่มีความรู้เฉพาะทางและทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ”

ต่อไปเราจะมาอธิบายเกี่ยวกับวิศวกรไอที หรือที่หลายๆ คนชอบเรียกว่า วิศวะคอม กัน

การใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายทำให้บริการด้านไอทีเพิ่มขึ้นอย่างมาก และบริษัทต่างๆ ก็ได้หันมาลงทุนในการพัฒนาและปรับปรุงระบบไอทีกันมากขึ้น ทำให้ตลาดไอทีในญี่ปุ่นเติบโตขึ้นทุกปี และไม่เพียงแค่บริษัทในอุตสาหกรรมไอทีเท่านั้น บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การรถไฟ การขนส่ง อาหาร และการเงิน ต่างก็เห็นความสำคัญของกระแสไอทีเช่นกัน จึงมีสาขาที่วิศวกรไอทีสามารถทำงานได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในอุตสาหกรรมไอที การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีมักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีวิศวกรที่มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ตอนนี้กลับมีวิศวกรไอทีน้อยกว่าความต้องการอยู่มาก หลายบริษัทจึงกำลังพยายามสรรหาและฝึกฝนอบรมวิศวกรอยู่

ดังนั้น หากคุณมีความรู้และคุณสมบัติในฐานะวิศวกร คุณก็จะยิ่งได้เปรียบในการหางาน!

รายได้ต่อปีและทักษะที่จำเป็น

เมื่อทำงานเป็นวิศวกรในญี่ปุ่น คุณอาจกังวลเกี่ยวกับเรื่องรายได้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็น ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือน ตลอดจนทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับอาชีพวิศวกรกัน

เนื่องจากอุตสาหกรรมไอทีกำลังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอย่างหนัก ทำให้เงินเดือนและสวัสดิการดีขึ้นเรื่อยๆ รายได้ของวิศวกรมืออาชีพจึงมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยทั่วไปในญี่ปุ่น

ในรายงานผลการสำรวจเงินเดือนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไอทีของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม รายได้เฉลี่ยสำหรับวิศวกรจะอยู่ที่ประมาณ 5.42 ล้านเยนต่อปี ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยรายปีของพนักงานประจำในบริษัททั่วไปซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 4.09 ล้านเยน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิศวกรมีหลายประเภท รายได้จึงมีความแตกต่างกันไปตามประเภทอุตสาหกรรม ทักษะและประสบการณ์ รวมถึงขนาดของบริษัทที่คุณทำงานด้วย

ประเภทของวิศวกรไอที

วิศวกรไอทีมีหลายประเภทและงานก็มีตั้งแต่การพัฒนา ซ่อมบำรุง ไปจนถึงการขาย แต่งานที่พบได้บ่อยจะมีดังนี้ :

・วิศวกรระบบ (System Engineer)
ในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ วิศวกรระบบจะทำตั้งแต่ขั้นตอนการนำเสนอ, ออกแบบ, พัฒนา และทดสอบระบบ

・โปรแกรมเมอร์ (Programmer)
มีหน้าที่เขียนโปรแกรมตามการออกแบบของวิศวกรระบบ และตรวจสอบการทำงานของโปรแกรมที่สร้างเสร็จ

・วิศวกรเว็บไซต์ (Web Engineer)
สร้างเว็บแอพพลิเคชันสำหรับใช้งานบนเว็บไซต์ ซึ่งต้องทำตั้งแต่การออกแบบ, เขียนเว็บฯ, บำรุงรักษา และควบคุมจัดการเว็บไซต์

・วิศวกรโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Engineer)
ออกแบบ, สร้าง, จัดการระบบ, บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานเกี่ยวกับไอที

หากคุณกำลังมองหางานด้านวิศวกรรม tsunagu Local Jobs ก็มีบริการจัดหางานสำหรับชาวต่างชาติที่มีงานให้เลือกมากมาย และมีพนักงานหลากหลายสัญชาติที่จะมาช่วยคุณในการหางานและให้คำปรึกษาในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ!

คำแนะนำสำหรับการหางานวิศวกรไอที

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงาน ซึ่งควรเริ่มจากการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีประโยชน์หรือมีความต้องการสูงในอุตสาหกรรมที่คุณต้องการทำงานก่อน นอกจากนี้ คุณจะลงเรียนการเขียนโปรแกรม หรือจะเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านทางเว็บไซต์หรือหนังสือก็ได้เช่นกัน การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่คุณไม่อยากเสียเงินแพงๆ

นอกจากนี้ การทำ “แฟ้มสะสมผลงาน” (ポートフォリオ Portfolio) ของระบบและแอพพลิเคชันที่คุณสร้างขึ้นก็มีประโยชน์มากเช่นกัน เพราะมันจะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงทักษะความสามารถของคุณในฐานะวิศวกร ทำให้ได้เปรียบในการหางาน

ข้อควรระวังในการหางานเป็นวิศวกร (สำหรับชาวต่างชาติ)

สำหรับชาวต่างชาติที่จะมาทำงานเป็นวิศวกรในญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องมีสถานภาพการพำนัก (在留資格) ที่อนุญาตให้ทำงานในฐานะวิศวกรได้ ※

สถานะการพำนักที่จำเป็นสำหรับการเป็นวิศวกรมีอยู่หลักๆ 2 ประเภท ได้แก่

・สถานภาพการพำนักแบบ “ผู้มีความรู้และทักษะระดับสูง” (高度専門職)
สถานภาพการพำนักแบบ “ผู้มีความรู้และทักษะระดับสูง (Highly Skilled Professional)” มีขึ้นเพื่อสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศ ผู้ที่ได้จะได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในญี่ปุ่นได้มากมาย เกณฑ์การให้คะแนนเพื่อรับสถานภาพการพำนักจะพิจารณาจากประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน อายุ รายได้ต่อปี และรายละเอียดอื่นๆ

・สถานภาพการพำนักแบบ “เทคโนโลยี” (技術) ในหมวดหมู่ “เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ งานระหว่างประเทศ”
ชาวต่างชาติจะสามารถทำงานเป็นวิศวกรได้หากมีสมบัติตรงตามข้อกำหนดเหล่านี้
(1) สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ (รวมถึงวิทยาลัยชั้นต้น วิทยาลัยเทคนิค และบัณฑิตวิทยาลัย) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รวมถึงผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ A, B, C หรือสูงกว่า ภายใต้ระบบ DOEACC ของประเทศอินเดีย
(2) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและได้รับ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ” (専門士) หรือ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง” (高度専門士)
(3) มีประสบการณ์การทำงาน 10 ปี และได้รับค่าจ้างเทียบเท่าหรือสูงกว่าคนญี่ปุ่นที่ทำงานในสายนี้

นอกจากนี้ หากผู้สมัครมีความสามารถด้านการประมวลผลข้อมูลตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด ก็อาจได้รับการยกเว้นข้อกำหนด (1) ถึง (3) เมื่อสมัครงานในสายพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และระบบประมวลผลข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ต่อให้คุณได้งานในฐานะวิศวกรแล้ว แต่หากงานนั้นไม่ได้รับอนุญาตภายใต้สถานภาพการพำนักของคุณก็อาจทำให้คุณถูกพิจารณาว่าทำงานอย่างผิดกฎหมายได้ ดังนั้นจึงควรระวังเมื่อมีการหางานหรือเปลี่ยนงาน และควรรีบยื่นขอสถานภาพการพำนักทันทีที่คุณได้รับการยืนยันว่าได้งานในฐานะวิศวกรแล้ว คุณควรทำเรื่องให้เสร็จก่อนที่สถานภาพการพำนักเดิมจะหมดอายุโดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวันเริ่มงาน

※ หากคุณมีสถานภาพการพำนักเป็น “ผู้พำนักถาวร” (永住者) “คู่สมรสของชาวญี่ปุ่น” (日本人の配偶者) “คู่สมรสของผู้พำนักถาวร” (永住者の配偶者) หรือ “ผู้พำนักระยะยาว” (定住者) ก็สามารถทำงานได้โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทงาน

ส่งท้าย

ในบทความนี้ เราได้แนะนำเกี่ยวกับวิศวกรไอทีอย่างคร่าวๆ กันไปแล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากทำงานสายวิศวกรรมในญี่ปุ่น เราก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการเตรียมพร้อมสำหรับการหางานครั้งต่อไปนะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: