ทำบัตรเครดิตในญี่ปุ่นไม่ยากอย่างที่คิด!

การทำบัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งเรื่องยุ่งยากสำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำบัตรเครดิตที่สมัครง่าย พร้อมคำแนะนำที่จะทำให้คุณมีโอกาสสมัครบัตรเครดิตได้สำเร็จมากขึ้นด้วย!
Oyraa

บัตรเครดิตญี่ปุ่น

บัตรเครดิตนับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันเพราะมันสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าทั่วไปที่รองรับระบบบัตรเครดิตได้

อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นมักประสบปัญหาความยุ่งยากของระบบธนาคารที่เข้มงวด ทำให้หลายคนยอมแพ้ที่จะสมัครบัตรเครดิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่อย่าเพิ่งถอดใจไป! แม้จะไม่มีวิธีที่รับประกันว่าได้ผล 100% แต่หากคุณมีการวางแผนอย่างรอบคอบ คำแนะนำที่ชัดเจนและความอดทนอีกสักหน่อย ก็จะมีโอกาสเป็นเจ้าของบัตรเครดิตได้มากขึ้น!

ทำไมบัตรเครดิตญี่ปุ่นจึงสมัครยาก?

ธนาคารและบริษัททางการเงินในญี่ปุ่นมักมีระบบและหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เข้มงวดและคลุมเครือ รวมถึงมีความระมัดระวังสูงตามแบบฉบับคนญี่ปุ่น ดังนั้น หากคุณเป็นชาวต่างชาติที่มาพำนักอาศัยในญี่ปุ่นชั่วคราวก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงโดยอัตโนมัติ และถึงแม้ว่าประวัติเครดิตของคุณก่อนย้ายมาญี่ปุ่นจะดีก็จะไม่ถูกนำมาใช้พิจารณาด้วยเช่นกัน

สมัครบัตรเครดิตที่ญี่ปุ่นต้องใช้อะไรบ้าง?

เอกสารต่อไปนี้เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับคนที่ต้องการสมัครบัตรเครดิต หากคุณยังไม่มีเอกสารบางตัว เราก็ขอแนะนำให้ใช้เวลาตั้งตัวสำหรับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นให้พร้อมกว่านี้ก่อนสมัครบัตรเครดิต

  • วีซ่าพำนัก (ยิ่งอยู่นานยิ่งดี)
  • บัญชีธนาคารญี่ปุ่น
  • ที่อยู่ที่ญี่ปุ่น
  • การจ้างงานในญี่ปุ่น (การจ้างงานนอกประเทศญี่ปุ่นก็อาจใช้ได้ แต่อาจมีผลให้สมัครยากขึ้น)
  • รายได้
  • เบอร์โทรศัพท์ญี่ปุ่น
  • อีเมล

คุณสมบัติที่จะทำให้ใบสมัครดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

หลักเกณฑ์ด้านบนเป็นเพียงสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการสมัครเท่านั้น ถึงแม้ว่าคุณจะมีครบทุกข้อ แต่หากไม่มีคุณสมบัติต่อไปนี้ร่วมด้วยก็มีโอกาสที่จะสมัครไม่ผ่านเช่นกัน:

  • เงินเดือนที่สูงหรือมั่นคง
  • วีซ่าคู่สมรสหรือวีซ่าพำนักถาวร
  • คู่สมรสชาวญี่ปุ่นที่มีการงานมั่นคง
  • สัญญาว่าจ้างเป็นพนักงานประจำ (Seishain)
  • ทำงานในบริษัทเดิมมามากกว่า 1 ปี
  • ทำงานในบริษัทใหญ่หรือบริษัทที่มีชื่อเสียง
  • มีเบอร์โทรศัพท์ที่ทำงาน
  • มีบ้านในประเทศญี่ปุ่น
  • ไม่มีหนี้สินจำนวนมาก
  • มีบันทึกเครดิตที่ดีในญี่ปุ่น
  • พูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่อง (กรณีที่สมัครด้วยตัวเอง)
  • มีเอกสารยืนยันตัวตนเป็นภาษาญี่ปุ่นจำนวนมาก (ใบขับขี่ บัตร My Number ฯลฯ)
  • อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลานาน
  • ไม่เคยถูกปฏิเสธการทำบัตรเครดิตในญี่ปุ่น (บริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้)
  • ไม่มีใบสมัครที่รอดำเนินการกับบริษัทบัตรเครดิตอื่น (บริษัทสามารถตรวจสอบได้และการสมัครพร้อมกันหลายๆ บริษัทก็จะทำให้คุณดูไม่ดีด้วย)

บัตรเครดิตญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติสมัครได้ง่ายๆ

PIXTA

หากคุณมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ว่ามาทั้งหมด ก็ถึงเวลาสมัครบัตรเครดิตกันแล้ว! ตรงนี้คุณสามารถเลือกได้เลยว่าจะสมัครผ่านเว็บไซต์ของทางบริษัทหรือเดินทางไปสมัครที่บริษัทด้วยตัวเอง เราขอให้ทราบไว้ล่วงหน้าว่าเว็บฯ สมัครบัตรเครดิตมักจะใช้งานยากและอ่อนไหวต่อการป้อนตัวอักษรซึ่งอาจทำให้คุณต้องหงุดหงิดกับข้อความแสดงข้อผิดพลาดที่เด้งขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าได้ (โดยเฉพาะตอนกรอกข้อมูลชื่อ) นอกจากนี้ เว็บไซต์เหล่านี้ก็มักจะไม่มีบริการหลายภาษา ดังนั้น หากคุณยังไม่คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่นก็ควรขอความช่วยเหลือจากคนที่คล่องภาษาญี่ปุ่นให้ช่วยสมัครออนไลน์ให้

บัตรเครดิตมีอยู่มากมายหลายประเภทสำหรับใช้บริการตามไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานแต่ละคน คุณสามารถเลือกบริการที่เหมาะกับคุณได้ไม่ยาก และต่อจากนี้เราก็จะมาแนะนำบัตรเครดิตที่ได้รับความนิยมกัน!

Rakuten Card

rakuten-card.co.jp

ข้อดี: เป็นบัตรเครดิตที่ได้รับความนิยมมาก มีระบบเก็บคะแนน Stellar ซึ่งสามารถนำไปชำระบิลค่าสาธารณูปโภคได้ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีตัวเลือกพิเศษสำหรับนักเรียน และสามารถสมัครออนไลน์ได้ ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี และมีประกันการเดินทางต่างประเทศฟรีด้วย

ข้อเสีย: เว็บไซต์ใช้งานยาก อ่านยาก

ระบบสะสมแต้ม: 1 คะแนน (= 1 เยน) ต่อค่าใช้จ่าย 100 เยน

เว็บไซต์: https://www.rakuten-card.co.jp/card/

SAISON INTERNATIONAL

saisoncard.co.jp

ข้อดี: ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ระบบคะแนนก็ไม่มีวันหมดอายุ เว็บไซต์สวยงามใช้งานง่าย แถมยังมีชื่อเสียงในเรื่องการเปิดรับลูกค้าชาวต่างชาติ คุณสามารถสมัครออนไลน์และให้บัตรมาส่งที่บ้าน หรือจะไปสมัครตามร้านค้าและบูธของบริษัทที่มีอยู่มากมายทั่วญี่ปุ่นก็ได้

ข้อเสีย: คะแนนที่ได้ต่ำกว่าบริษัทคู่แข่งบางราย

ระบบสะสมแต้ม: 1 คะแนน (= 5 เยน) ต่อค่าใช้จ่าย 1,000 เยน

เว็บไซต์: https://www.saisoncard.co.jp/

Orico Card

orico.co.jp

ข้อดี: ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี เว็บไซต์ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน มีระบบเก็บคะแนนที่ดี และสามารถเชื่อมกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของ iD หรือ QuicPay ได้

ข้อเสีย: เว็บไซต์กำหนดให้ลงทะเบียนธนาคารออนไลน์ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยุ่งยาก

ระบบสะสมแต้ม*: 1 คะแนน (= 1 เยน) ต่อค่าใช้จ่าย 100 เยน (Orico Point) หรือ 1 คะแนน (= 100 เยน) ต่อค่าใช้จ่าย 1,000 เยน (Classmile)

* ระบบสะสมคะแนนจะแตกต่างกันไปตามประเภทของบัตร

เว็บไซต์: https://www.orico.co.jp/

EPOS Card

eposcard.co.jp

ข้อดี: ไม่มีค่าธรรมเนียม มีประกันการเดินทางต่างประเทศให้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ บัตรยังมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งทางบริษัทได้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์หลายๆ ท่านในการออกแบบ

ข้อเสีย: สมัครทางออนไลน์ได้ แต่ข้อความบนเว็บไซต์จะมีขนาดเล็กและใช้งานยาก

ระบบสะสมแต้ม: 1 คะแนน ต่อค่าใช้จ่าย 200 เยน

เว็บไซต์: https://www.eposcard.co.jp/index.html

Aeon Card

aeon.co.jp

ข้อดี: ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี สามารถเก็บคะแนนได้เมื่อซื้อของที่ห้าง Aeon และร้านค้าอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีระบบการชำระเงินดิจิทัล WAON ที่มาพร้อมของจูงใจมากมาย

ข้อเสีย: เว็บไซต์มีหน้าข้อกำหนดและเงื่อนไขเพิ่มเติมซึ่งเข้าใจยาก แต่ตัวเว็บฯ ก็ยังถือว่าใช้งานง่ายอยู่

ระบบสะสมแต้ม: 1 คะแนน ต่อค่าใช้จ่าย 200 เยน (ได้คะแนน 2 เท่าเมื่อซื้อของจากห้าง Aeon)

เว็บไซต์: https://www.aeon.co.jp/

d-Card

d-card.jp

ข้อดี: เป็นบัตรของบริษัทชื่อดังอย่าง Docomo โดย d-Card จะไม่มีค่าธรรมเนียมสมาชิก แต่มาพร้อมประกันโทรศัพท์มือถือ และสามารถใช้สะสม dPoints จำนวนมากได้ บัตรใบนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วญี่ปุ่นและยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินดิจิทัล iD ได้อีกด้วย

ข้อเสีย: สามารถสมัครออนไลน์ได้ แต่ข้อความบนเว็บไซต์มีขนาดเล็กและใช้งานยาก

ระบบสะสมแต้ม: 1 คะแนน ต่อค่าใช้จ่าย 100 เยน (มีข้อยกเว้นสำหรับการใช้จ่ายบางประเภท)

เว็บไซต์: https://d-card.jp/st/

JCB Card

jcb.co.jp

ข้อดี: JCB เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากเพราะเป็นบัตรเครดิตญี่ปุ่นเพียงแบรนด์เดียวที่ใช้ชำระเงินระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ เว็บไซต์ก็ใช้งานง่าย และคุณยังสามารถรับคะแนนสะสมพิเศษจากการใช้จ่ายผ่านแบรนด์ร้านค้าใหญ่ๆ อย่าง Amazon และ 7-Eleven ได้ด้วย และสำหรับคนที่สมัครบัตร JCB W ไว้ตั้งแต่ตอนที่อายุต่ำกว่า 39 ปีก็จะไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี แถมยังจะได้รับคะแนนเป็น 2 เท่าอีกด้วย

ข้อเสีย: JCB ต่างจาก Visa และ Mastercard ตรงที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนอกประเทศญี่ปุ่น และในบางครั้ง เว็บไซต์ก็จะกำหนดให้คุณต้องลงทะเบียนธนาคารออนไลน์ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากด้วย

ระบบสะสมแต้ม: 1 คะแนน ต่อค่าใช้จ่าย 1,000 เยน

เว็บไซต์: https://www.jcb.co.jp/ordercard/kojin_card/os_card_w.html

ธนาคารของคุณเอง

หากคุณทำงานและได้เงินเดือนในญี่ปุ่น ก็แปลว่ามีธนาคารญี่ปุ่นแห่งใดแห่งหนึ่งรับรองคุณอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ลองสมัครบัตรเครดิตกับธนาคารเหล่านี้ดูล่ะ? ทางธนาคารจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและประวัติธนาคารของคุณได้ซึ่งจะทำให้กระบวนการทั้งหมดง่ายยิ่งขึ้น! แต่แน่นอนว่าการทำบัตรเครดิตจะเข้มงวดกว่าฝ่ายธนาคารมาก เราจึงไม่อยากให้คุณคาดหวังว่าการสมัครบัตรเครดิตกับธนาคารจะทำให้ผ่านได้แน่นอนเสมอไป

การใช้บัตรเครดิตในญี่ปุ่น

ในที่สุดคุณก็มีบัตรเครดิตของตัวเองแล้ว! ยินดีด้วย! ทีนี้ก็ได้เวลาฉลองความสำเร็จของคุณกัน ตรงนี้ขอให้ทราบไว้ว่าคุณจะใช้บัตรเครดิตได้ก็ต่อเมื่อร้านค้านั้นๆ มีบริการรองรับบัตรเครดิตเท่านั้น และเนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นยังคงใช้เงินสดกันอยู่ เราจึงขอแนะนำว่าอย่าพึ่งพาบัตรเครดิตมากเกินไปโดยเฉพาะกับร้านค้าสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม แต่สำหรับร้านที่ใช้บัตรเครดิตได้ก็จะมีกระบวนการดังต่อไปนี้:

จ่ายเป็นเงินก้อน

เมื่อคุณแสดงบัตรแล้วพนักงานก็อาจถามคุณว่าจะจ่ายเป็นเงินก้อนหรือไม่? การจ่ายเป็นเงินก้อนหมายความว่าคุณจะต้องจ่ายเงินคืนทั้งหมดในเดือนถัดไป

โดยทั่วไปพนักงานจะถามว่า “ 一括でよろしいですか?” (Ikkatsu de yoroshii desuka?) ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบว่า “はい” (Hai) จากนั้นก็กดรหัส PIN หรือเซ็นชื่อบนใบเสร็จซึ่งจะขึ้นอยู่กับเครื่องที่ทางร้านใช้

ในขณะที่บัตรเครดิตต่างประเทศใช้เป็นแผนการชำระเงินแบบรายเดือน หากคุณเลือกชำระเป็นเงินก้อน ที่ญี่ปุ่นจะกำหนดให้ชำระเงินเต็มจำนวนในเดือนถัดไป นั่นหมายความว่าการซื้อของราคาแพงโดยที่คุณไม่มีเงินในธนาคารนั้นจะเสี่ยงสุดๆ! ดังนั้น แทนที่จะคิดว่าใช้บัตรเครดิตซื้อของตอนที่ยังไม่มีเงิน ขอให้คิดว่าบัตรเครดิตเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการชำระเงินและสะสมคะแนนแทนดีกว่า

การแบ่งจ่าย

นอกจากการจ่ายทั้งหมดในครั้งเดียวแล้วคุณยังสามารถขอจ่ายแบบ “Bunkatsu barai” (分割払い) ได้ ซึ่งหมายถึง การแบ่งชำระเงินเป็นจำนวนยิบย่อยสำหรับผ่อนจ่ายหลายๆ เดือนนั่นเอง จำนวนครั้งที่แบ่งได้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการซึ่งจะมีตั้งแต่ 3 – 36 เดือน ถึงแม้จะฟังดูน่าสนใจ แต่การชำระเงินแต่ละครั้งจะมีดอกเบี้ยซึ่งทำให้ยอดจ่ายรวมสูงกว่าค่าสินค้าจริงด้วย ดังนั้นจึงควรตรวจสอบเงื่อนไขอย่างละเอียดก่อนจะใช้ตัวเลือกนี้

จ่ายแบบริโบ (Ribo Payment )

Ribo (リボ) ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า ‘Revolving’ ที่แปลว่า การหมุนเวียน เป็นรูปแบบการชำระแบบกำหนดแผนการชำระเงินรายเดือนซึ่งจะเหมือนระบบบัตรเครดิตในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้ว หากคุณจะใช้ตัวเลือกนี้ก็ต้องติดต่อผู้ให้บริการล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ จึงจำเป็นต้องทำความคุ้นเคยกับเว็บไซต์บัตรเครดิตของคุณเอาไว้ด้วย

ระบบสะสมคะแนนบัตรเครดิต

ระบบสะสมคะแนนเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจของบัตรเครดิตญี่ปุ่น แค่ซื้อของทั่วไปในชีวิตประจำวันหรือจ่ายบิลก็สามารถสะสมคะแนนมาใช้แทนเงินได้แล้ว แต่ละบริษัทจะมีระบบสะสมคะแนนที่แตกต่างกันไปซึ่งคะแนนบางประเภทก็สามารถนำไปใช้ได้ทันทีและใช้ได้ในวงกว้าง ในขณะที่บางประเภทจะต้องรอการดำเนินการและถูกจำกัดให้ใช้ได้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการบางประเภทเท่านั้น เราจึงอยากแนะนำให้คุณพิจารณาเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจเลือกบัตรเครดิตด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ร่วมมือกับร้านค้า แบรนด์สินค้า และบริการชั้นนำต่างๆ เพื่อให้คุณได้รับคะแนนสะสมและส่วนลดสำหรับแบรนด์โปรดของคุณด้วย! และบางครั้งก็มาพร้อมกับประกันการเดินทางฟรีและบัตร ETC สำหรับชำระเงินอัตโนมัติเมื่อขับรถบนทางด่วนญี่ปุ่นอีกต่างหาก

ทางเลือกอื่นนอกจากบัตรเครดิต

โอ้ คุณถูกปฏิเสธ อีกแล้ว… การถูกปฏิเสธเป็นเรื่องน่าเศร้าแต่บางครั้งก็ควรปล่อยวางแล้วเดินหน้าต่อ โชคดีที่ญี่ปุ่นยังมีทางเลือกอื่นที่คล้ายกับการใช้บัตรเครดิตไว้ให้บริการซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับขั้นตอนการสมัครอันแสนยุ่งยากด้วย!

บัตรเดบิต (Debit Cards)

PIXTA

แม้ว่าบัตรเดบิตจะไม่ใช่ตัวเลือกยอดนิยมในต่างประเทศ แต่มันกลับได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากบัตรเดบิตจะถูกเชื่อมเข้ากับบัญชีธนาคารโดยตรงทำให้คุณสามารถใช้เงินของคุณเองในการชำระเงินด้วยเครื่องบัตรเครดิตโดยผ่านผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง Mastercard และ Visa หากคุณสนใจ ขั้นแรกขอให้ตรวจสอบว่าธนาคารของคุณมีบริการบัตรเดบิตด้วยหรือไม่ หากมีก็สมัครได้เลย แต่หากไม่มี คุณก็สามารถหันไปหาตัวเลือกอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น Seven Bank ซึ่งมีแอพพลิเคชันออนไลน์ที่ใช้งานง่ายแถมยังมีบริการภาษาอังกฤษด้วย

บัตร Suica / Pasmo / IC

Terence Toh Chin Eng / Shutterstock.com

บัตร Suica, Pasmo หรือบัตร IC อื่นๆ ก็สามารถเติมเงินและใช้จ่ายกับร้านค้าทั่วญี่ปุ่นได้เช่นกัน บัตร IC ไม่จำเป็นต้องใช้ ID อะไรก็สามารถซื้อและเติมเงินได้ง่ายๆ ผ่านเครื่องจำหน่ายตั๋วที่สถานีรถไฟ นอกจากนี้ เนื่องจากคุณยังสามารถลงทะเบียนบัตร IC ได้ที่เครื่องจำหน่ายตั๋ว จึงสามารถยกเลิกยอดเงินคงเหลือในกรณีที่คุณทำบัตรหายได้ด้วย ในปี ค.ศ. 2019 มีร้านค้ากว่า 750,000 แห่งที่รับบัตร Suica ทำให้มันกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับใช้งานแทนบัตรเครดิต! อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่

แอพพลิเคชันชำระเงิน

slyellow / Shutterstock.com

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การใช้สมาร์ทโฟนและบริการชำระเงินดิจิทัลในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้ง PayPay, LINE Pay, dBarai, QUICPay, iD, Rakuten Pay, au Pay, Merpay, WAON และอีกมากมาย! คุณสามารถใช้บริการได้ง่ายๆ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพฯ ลงทะเบียน เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคาร และเติมเงินด้วยเงินสด ซึ่งต่อให้คุณไม่สามารถเชื่อมกับบัญชีธนาคารได้ คุณก็ยังสามารถเติมเงินผ่านตู้เอทีเอ็มได้!

คุณสามารถตรวจสอบว่าร้านค้ายอมรับแอพฯ การชำระเงินของคุณหรือไม่ โดยมองหาป้ายหรือสติ๊กเกอร์รอบๆ เคานท์เตอร์ หรือไม่ก็ลองถามพนักงานดู และหากคุณสามารถใช้บัตรได้ก็อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่าด้วยว่ามียอดเงินคงเหลือเพียงพอหรือไม่ จากนั้นก็เปิดแอพฯ และแสดงรหัส QR ให้พนักงานสแกน หรือแตะหน้าจอโทรศัพท์บนเครื่องสแกน แอพฯ เหล่านี้ส่วนมากจะมีแคมเปญพิเศษอย่างการแจกเงินเพื่อดึงดูดลูกค้า ลองตรวจสอบออนไลน์ดูว่ามีโปรโมชั่นพิเศษหรือไม่ หลังจากลองใช้แล้วคุณจะไม่ใช้บริการอีกก็ได้และจะไม่เสียค่าธรรมเนียมด้วย!

รูดปรื้ดๆ!

เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นความหวังให้คุณในการสมัครบัตรเครดิตในญี่ปุ่น แม้ว่าผลสุดท้ายจะไม่เป็นอย่างที่หวังก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะการสมัครบัตรเครดิตก็เหมือนการเสี่ยงโชค และคุณก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตจากบริษัทอื่นๆ หรือระบบชำระเงินดิจิทัลแบบต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าคุณจะได้เจอทางเลือกที่เหมาะกับคุณอย่างแน่นอน!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: