คู่มือการศึกษาระดับสูงในประเทศญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติ

การศึกษาไม่ได้มีไว้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้แสดงออกถึงจุดแข็งของแต่ละประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความสามารถให้เข้ามาอยู่ด้วย ระบบการศึกษามักจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ในบทความนี้ เราจะพาไปดูระบบการศึกษาทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นกัน โดยจะเน้นไปที่การศึกษาขั้นสูง หรือก็คือ การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง หากคุณสนใจจะมาศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นก็ลองอ่านบทความนี้ก่อนสมัครดูนะ!
Oyraa

ระบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น

東京大學校園內
MMpai / Shutterstock.com

ระบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้เป็น ระดับปฐมภูมิ (ประถมศึกษา 6 ปี) ทุติยภูมิ (มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปีและตอนปลาย 3 ปี) และตติยภูมิ (มหาวิทยาลัย) 

ถึงแม้จะมีโปรแกรมเรียนต่างประเทศสำหรับนักเรียนในระดับประถมและมัธยม แต่คนส่วนใหญ่ที่มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นและสัมผัสกับระบบการศึกษาของที่นี่เป็นครั้งแรกก็มักจะอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาระดับตติยภูมินี้มีหลายประเภท แต่วันนี้เราจะพาทุกคนไปดู 4 ประเภทยอดนิยม ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี และบัณฑิตวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก

วิทยาลัยอาชีวศึกษา

女子正在針對人形模特兒量尺寸裁縫

วิทยาลัยอาชีวศึกษา เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เซ็นชูกักโค” (Senshu Gakko) หรือ “เซ็นมงกักโค” (Senmon Gakko) หรือหากเป็นภาษาอังกฤษก็มักจะเรียกว่า “Specialized Training School” วิทยาลัยประเภทนี้จะเน้นการฝึกฝนทักษะและการปฏิบัติงานสายอาชีพ นักเรียนจะต้องจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยม หรือเรียนในโรงเรียนภาษามามากกว่าหนึ่งปีครึ่งก่อนจึงจะเข้าวิทยาลัยเช่นนี้ได้ และบางที่ก็จะมีการสอบเข้าด้วย

หลักสูตรของวิทยาลัยอาชีวศึกษาส่วนใหญ่จะยาว 2 ปี หากเรียนจบหลักสูตรที่ยาว 1 – 3 ปีแล้ว นักเรียนก็จะได้รับวุฒิที่เรียกว่า “เซ็นมงชิ” (Senmon-shi) ซึ่งสามารถนำไปใช้หางาน หรือเข้ามหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้ เนื่องจากวุฒิดังกล่าวเทียบเท่ากับการเป็นนักเรียนที่ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วจึงสามารถเข้าเรียนต่อได้ทันที นอกจากนี้ หากคุณจบการศึกษาในหลักสูตรระยะยาว 4 ปีซึ่งหาได้ค่อนข้างยาก ก็จะได้วุฒิระดับสูง หรือ “โคโดเซ็นมงชิ” (Kodo-senmon-shi) ซึ่งเทียบเท่ากับการจบปริญญาตรี และสามารถนำไปยื่นศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นได้

หลักสูตรของวิทยาลัยอาชีวศึกษาส่วนใหญ่จะมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตรอาชีวศึกษาและหลักสูตรทั่วไป

หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือโรงเรียนอาชีวศึกษา (Koto Senshu Gakko) จะสอนหลักสูตรอาชีวะให้แก่นักเรียนญี่ปุ่นที่เรียนจบจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นนักเรียนต่างชาติก็จะมีเงื่อนไขว่าจะต้องเรียนจบมัธยมปลาย (รวมเวลา 12 ปีในระบบการศึกษาหรือเทียบเท่า) ในประเทศของตนเองก่อนจึงจะสามารถเข้าศึกษาได้ ดังนั้น นักเรียนมัธยมปลายชาวต่างชาติส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ได้

หลักสูตรอาชีวศึกษา

หลักสูตรอาชีวศึกษา (Senmon Katei) มีไว้สำหรับผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสูงกว่า และต้องการประกาศนียบัตรสายวิชาชีพหรือต้องการเสริมสร้างทักษะอาชีพของตน ข้อกำหนดในการเข้าศึกษาต่อนี้เหมือนกันทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ เทียบกับหลักสูตรอีก 2 ประเภทแล้ว หลักสูตรนี้ถือว่าได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษาต่างชาติมากที่สุด เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเรียนในหลักสูตรอื่นได้นั่นเอง

หลักสูตรทั่วไป

หลักสูตรทั่วไป (Ippan Katei) มีไว้สำหรับนักเรียนที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะ หรือค้นหาตัวเองเป็นหลัก หลักสูตรของที่นี่มักจะเป็นเนื้อหาที่ไม่อยู่ในกลุ่มวิชาของหลักสูตรทั้ง 2 ประเภทข้างต้น อาทิเช่น โรงเรียนกวดวิชา คลาสเรียนกิโมโน หรือโรงเรียนสอนทำอาหารทั่วไป วิชาเหล่านี้ล้วนจัดอยู่ในประเภทหลักสูตรทั่วไปทั้งสิ้น ถึงแม้จะดูเป็นข้อดีเพราะไม่มีข้อจำกัดในด้านอายุหรือการรับเข้าศึกษา แต่นั่นก็หมายความว่าหลักสูตรทั่วไปเหล่านี้ไม่มีจุดประสงค์ในการฝึกฝนทักษะเฉพาะทางเช่นกัน ดังนั้น นักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่จึงไม่สามารถขอวีซ่านักเรียนเพื่อมาเรียนหลักสูตรนี้ได้

文化服裝學院的門口展示櫥窗
Morumotto / Shutterstock.com

ตามสถิติของกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MEXT) วิทยาลัยอาชีวศึกษามีหลักสูตรวิชาชีพมากกว่า 8,200 ประเภทให้เลือก ใครที่มีเป้าหมายอาชีพชัดเจน การมาเรียนวิทยาลัยประเภทนี้ก็น่าจะมีประโยชน์กับการจ้างงานและอาชีพมากขึ้น นอกจากนี้ วิทยาลัยหลายๆ แห่งก็มีชื่อเสียงมาก เช่น โรงเรียนสอนทำซูชิ Tokyo Sushi Academy สาขาสึคิจิ (Tsukiji) หรือ Mode Gakuen ที่มีชื่อเสียงด้านแฟชั่นและการแต่งหน้าในชินจูกุ คนที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยชื่อดังก็จะมีอัตราการจ้างงานที่สูงมาก รวมถึงยังสามารถขยายคอนเนคชั่นในสาขางานของตน และได้รับวุฒิบัตรที่ช่วยเสริมโปรไฟล์ของตนได้ด้วย ดังนั้นจึงขอแนะนำการศึกษาประเภทนี้ให้กับผู้ที่ต้องการทำงานในญี่ปุ่นหลังจบการศึกษา

มหาวิทยาลัยชุมชน

教室內排排坐低頭埋寫考卷的學生們

ข้อมูลจาก MEXT ระบุว่า มหาวิทยาลัยชุมชน (หรือ Junior College ในญี่ปุ่น) เป็นสถาบันการศึกษาที่มีทั้งหลักสูตรทั่วไปและหลักสูตรเฉพาะในเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นเหมือนการผสมผสานระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย คุณสามารถรับวุฒิอนุปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรได้ในระยะเวลาสั้นๆ แถมยังใช้เงินน้อยกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย!

หลักสูตรของวิทยาลัยชุมชนจะคล้ายกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาตรงที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี แต่บางโปรแกรมก็ใช้เวลา 3 ปี เช่น เทคโนโลยีการแพทย์ และพยาบาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักสูตรในวิทยาลัยชุมชนจะเน้นการทำวิจัยมากกว่าวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยชุมชนถือเป็นการศึกษาที่เทียบเท่าระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง

เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยชุมชนจะมีตารางที่แน่นกว่า เพราะนักเรียนต้องเก็บหน่วยกิตให้ครบ แถมอาจต้องหางานให้ได้ภายใน 2 ปีหากต้องการทำงานต่อ ดังนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยจึงมีเวลาในส่วนนี้มากกว่าถึง 2 เท่า อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยชุมชนจะมีโอกาสในเรื่องของการฝึกงานมากกว่า เพราะมีหลายโปรแกรมที่พยายามช่วยนักศึกษาให้หาโอกาสในการทำงานได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น หากคุณต้องการวุฒิในเวลาที่จำกัด เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และได้ทำงานทันทีหลังเรียนจบ มหาวิทยาลัยชุมชนก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ

大阪成蹊大學的入口

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับมหาวิทยาลัยชุมชน คือ ส่วนใหญ่เน้นไปที่การรับนักศึกษาหญิง! 42% ของมหาวิทยาลัยชุมชนในญี่ปุ่นจะรับเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากสมัยก่อนผู้หญิงมีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงน้อยกว่าผู้ชาย แต่เมื่อญี่ปุ่นพยายามทำให้ประเทศทันสมัยและเปิดโอกาสมากขึ้น พวกเขาก็พยายามให้การศึกษาผู้หญิงมากขึ้นเพื่อเป็นการยกระดับแรงงานและประเทศ ทำให้เกิดเป็นมหาวิทยาลัยชุมชนขึ้นมา ในปัจจุบันก็มีมหาวิทยาลัยชุมชนหลายแห่งที่เริ่มเปิดโอกาสให้นักศึกษาชายบ้างแล้ว และก็ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เห็นได้ชัดว่าญี่ปุ่นกำลังพยายามปรับตัวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเพศในสังคมมากขึ้น

มหาวิทยาลัย

大學教室內
Jsita / Shutterstock.com

มหาวิทยาลัย (Daigaku) ในญี่ปุ่นมักจะเป็นระบบหลักสูตร 4 ปี เพื่อให้ได้วุฒิระดับปริญญาตรี ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างแพงกว่าวิทยาลัยอาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัยชุมชน แต่นั่นก็หมายความว่ามีทุนการศึกษามากขึ้นด้วยเช่นกัน เกณฑ์การรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างเข้มงวดกว่าที่อื่นๆ เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานของมหาวิทยาลัยไว้ และหลายๆ ที่ก็รับเฉพาะนักเรียนต่างชาติที่ผ่านระดับ N1 ของการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT (Japanese-Language Proficiency Test) และผ่านการสอบข้อเขียน EJU (Examination for Japanese University Admission for International Students) มหาวิทยาเอกชนและมหาวิทยาลัยเปิดใหม่มักจะชอบเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ บางที่ถึงกับลดเกณฑ์การสอบเข้าเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาเรียนได้ด้วย

หากคุณไปต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศสักพัก แล้วค่อยกลับมาเอาวุฒิปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในประเทศบ้านเกิด หรือ หากคุณมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมและต้องการทำงานต่อหรือทำวิจัยในญี่ปุ่น การสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตาม ขอให้ระวังไว้ว่าคุณจะเจอข้อจำกัดว่าสามารถทำงานพิเศษได้ตามเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ หลักสูตรระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นภาษาญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีโปรแกรมภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

บัณฑิตวิทยาลัย (ระดับปริญญาโทและเอก)

男子正在圖書館內讀書

บัณฑิตวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก (Graduate School) จะมอบใบปริญญาโทหรือเอกให้แก่ผู้ที่จบการศึกษา หลักสูตรปริญญาโทจะต้องใช้เวลาเรียนหลักสูตร Pre-Doctoral เป็นเวลา 2 ปี ในขณะที่หลักสูตรปริญญาเอก (Doctoral Program) จะใช้เวลาเรียน 3 ปี โดยส่วนใหญ่แล้วหลักสูตรปริญญาโทจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่นักศึกษาเรียนมาในระดับปริญญาตรี มีเพียงบางหลักสูตรเท่านั้นที่สามารถเรียนข้ามหลักสูตรได้ และการจะได้รับการตอบรับเข้าเรียนก็ยากมากด้วย อย่างไรก็ตาม หลักสูตรปริญญาโทและเอกจะต่างจากปริญญาตรีตรงที่มีโปรแกรมให้เลือกเยอะกว่ามาก แถมยังสามารถเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดได้ด้วย ดังนั้น หากคุณไม่เจอสาขาวิชาที่สนใจในระดับปริญญาตรีในญี่ปุ่น ก็ยังสามารถมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นในระดับปริญญาโทและเอกได้เช่นกัน

นอกจากนักเรียนปริญญาโทและเอกทั่วไปแล้ว ญี่ปุ่นยังมีระบบที่เรียกว่า “นักศึกษาวิจัย” (Research Student) ซึ่งใช้เวลาเรียนเพียง 1 เทอมหรือ 1 ปีการศึกษาเท่านั้น และผู้เรียนก็จะไม่ได้รับใบปริญญาด้วย มหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเกียวโต รวมถึงมหาวิทยาลัยโอซาก้า มีกฎที่ไม่ได้เขียนไว้ว่า คุณจะต้องเป็นนักศึกษาวิจัยอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ก่อนจึงจะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกเต็มเวลาได้ ดังนั้นจึงควรหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่ตนเองอยากไปให้ดีก่อน เช่น สอบถามนักศึกษาต่างชาติรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพื่อเรียนรู้วิธีที่จะทำให้พวกเขาสอบติดนั่นเอง ข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับปริญญาโทและเอกได้

ไปเรียนต่อญี่ปุ่นกัน!

หวังว่าตอนนี้คุณจะมีไอเดียเกี่ยวกับระบบการศึกษาขั้นสูงในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นแล้ว และก็น่าจะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้นด้วยว่าควรจะมาศึกษาต่อในญี่ปุ่นหรือไม่ การเรียนต่อในต่างประเทศเป็นประสบการณ์ที่ดีในการไปอาศัยอยู่ในที่ใหม่ๆ และเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ดังนั้นหากคุณมีโอกาสก็ลองเก็บประเทศญี่ปุ่นไว้เป็นตัวเลือกของคุณดูนะ!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: