Zero Waste ไลฟ์สไตล์ไร้ขยะง่ายๆ ในญี่ปุ่น

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีระบบรวบรวมและรีไซเคิลขยะที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่กำลังเผชิญอยู่ได้ พูดไปอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด ถ้าอย่างนั้นคุณเคยรู้สึกเหนื่อยกับการที่ต้องเจียดพื้นที่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ เพื่อทิ้งและแยกขยะบ้างหรือเปล่า? หากคำตอบคือเคย เราขอเสนอวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงการสร้างขยะ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ฟุ่มเฟือย และแทนที่ด้วยสิ่งที่ดีกว่า!
Oyraa

เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก จึงดูเป็นเรื่องยากที่จะใช้ชีวิตแบบไร้ขยะในญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปที่จะลดการสร้างขยะ ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำวิธีใช้ชีวิตให้มีขยะน้อยที่สุดอย่างถูกสุขอนามัยและเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ของคุณ!

ร้านค้า

ถุงผ้า

Resuable shopping bags

ตั้งแต่กฎเรื่องการเก็บค่าถุงพลาสติกมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2020 ผู้คนก็เริ่มนำถุงผ้ามาใช้กันมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องชินตาที่จะเห็นคนเก็บถุงผ้าเล็กๆ ไว้ในกระเป๋าถือหรือแขวนไว้ที่ลูกบิดประตูเพื่อไม่ให้ลืมที่จะพกถุงผ้าก่อนออกจากบ้าน

พูดถึงพฤติกรรมการงดใช้ถุงพลาสติกแล้ว เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเคยเล่าว่าเธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและเมื่อพนักงานแคชเชียร์เริ่มใส่ผลไม้สดลงในถุงพลาสติกใสใบเล็ก นอกจากเธอจะบอกว่าไม่ต้องการถุงแล้ว เธอยังอธิบายด้วยว่าต้องการลดขยะพลาสติก แม้ว่าการทำแบบนี้จะไม่สามารถทำให้พนักงานเลิกใส่ถุงพลาสติกให้กับลูกค้ารายอื่นได้เนื่องจากกฎของร้าน แต่อย่างน้อยนี่ก็จะได้ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของพนักงานคนนั้นได้

ตลาดเกษตร (Farmers’ Market)

Farmer's Market at UNU
Farmers Market @ UNU / MAHATHIR MOHD YASIN / Shutterstock.com

หากอยากหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากซูเปอร์มาร์เก็ต เราขอแนะนำให้มาลองซื้อสินค้าจากตลาดเกษตรแทน! เพราะนอกจากจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกแล้ว คุณยังสามารถซื้อของราคาถูกจากเกษตรกรได้โดยตรง แถมยังจะได้พบปะเหล่าเกษตรกรเจ้าของผักผลไม้ที่จะมาเสิร์ฟเป็นอาหารของคุณด้วย!

หนึ่งในตลาดที่เราอยากแนะนำ คือ Farmers Market @ UNU ที่ไม่เพียงขายผลผลิตจากฟาร์มที่ปลูกในท้องถิ่นตามฤดูกาลเท่านั้น แต่ยังมีของจากร้านเบเกอรี่และโรงเบียร์ขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น งานศิลปะและงานฝีมือจากผู้ผลิตอิสระ ร้านดอกไม้และไม้กระถาง และยังมีการรวม Food Truck (ร้านขายอาหารเคลื่อนที่) ที่อร่อยที่สุดในโตเกียวทั้งหมดมาไว้ที่นี่ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุก 2 – 3 สัปดาห์ เช่น งานกาแฟ งานขนมปัง ตลาดนัดสำหรับเสื้อผ้า งานฝีมือสไตล์วินเทจ และมุมขายลูกสุนัขด้วย!

คุณสามารถดูรายชื่อตลาดเกษตรกรในพื้นที่โตเกียวและโยโกฮาม่าที่นี่ หรือค้นหาคำว่า ファーマーズマーケット ตามด้วยพื้นที่ที่อาศัยอยู่ก็ได้

ร้านค้าแบบเติม (Bulk Store)

Buying pasta in bulk store

ร้านค้าแบบเติม เป็นร้านขายสินค้าแห้งที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์โดยจะขายสินค้าตามน้ำหนัก ซึ่งคุณสามารถนำภาชนะของคุณมาตวงของเองได้เพื่อหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์พลาสติก วิธีนี้สามารถช่วยลดการสร้างขยะและประหยัดเงินไปพร้อมๆ กันได้

อันที่จริงวิธีปฏิบัตินี้ก็มีมาหลายศตวรรษแล้วในชื่อ “ฮาคาริ – อุริ” (Hakari-uri) ซึ่งหมายถึงการขายแบบชั่งตวง การขายแบบนี้เคยเป็นวิธีทั่วไปในการซื้อข้าวและเครื่องปรุงต่างๆ เช่น มิโซะ ซอสถั่วเหลือง และน้ำส้มสายชู ก่อนที่ซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการขายเป็นแบบบรรจุล่วงหน้า

Nue เป็นร้านค้าแบบเติมในโตเกียว โดยจะขายพวกถั่ว แป้ง พาสต้า ชาสมุนไพร ช็อคโกแลต ผลไม้แห้งและอื่นๆ ของในร้านทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจากแหล่งผลิตคุณภาพสูง และรับประกันการบรรจุหีบห่อที่น้อยที่สุดในกระบวนการขนส่ง

อีกร้านที่น่าสนใจ คือ Far East Bazaar ซึ่งมีหลายสาขาทั่วญี่ปุ่น คุณสามารถนำภาชนะมาเองเพื่อซื้อถั่ว น้ำตาล ผลไม้แห้งและสินค้าอื่นๆ ได้โดยร้านจะขายตามน้ำหนักซึ่งเริ่มตั้งแต่ 50 กรัมขึ้นไป นอกจากนี้ สินค้าที่นี่ยังไร้สารเติมแต่งและปลอดยาฆ่าแมลงอีกด้วย

คุณสามารถดูรายชื่อร้านค้าแบบเติมในโตเกียวได้ที่นี่ (ภาษาญี่ปุ่น) ร้านเหล่านี้เป็นที่ที่คุณสามารถหาซื้อซีอิ๊วและมิโซะแบบไม่มีแพ็คเกจได้ นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อร้านค้าแบบเติมทั่วญี่ปุ่น (ภาษาญี่ปุ่น) ที่มีขายตั้งแต่สินค้าแห้ง มิโซะ เนื้อสัตว์ ไปจนถึงอาหารทะเล!

ปลูกผักสวนครัวที่บ้านคุณ

Tomatoes on balcony

เคล็ดลับการใช้ชีวิตแบบไร้ขยะและปลอดสารพิษที่ดีที่สุด คือ การปลูกผักกินเอง! ซึ่งคุณสามารถหาซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นได้จาก Tokyu Hands และถึงแม้อพาร์ตเมนต์สไตล์ญี่ปุ่นจะไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับการปลูกเป็นแปลงผัก คุณก็สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการปลูกสมุนไพร เช่น โหระพา ต้นหอมจีน และพาร์สลีย์ ในอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลมากมายเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีดูแลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผักของคุณ แม้กระทั่งวิธีการหมักเศษอาหารที่ทั้งช่วยปรับสภาพดินและลดขยะจากเศษอาหารได้ด้วย

การปลูกผักเองที่บ้านนอกจากจะช่วยประหยัดเงินและรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว สีเขียวสดใสและรสชาติหวานอร่อยจากความพยายามยังจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับคุณอีกด้วย!

ในบ้าน

การทำความสะอาด

Baking soda and lemons

ความจริงแล้วหากคุณไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นสารเคมีเพื่อทำความสะอาดบ้าน และสามารถใช้เบกกิ้งโซดา (重曹) แทนได้ เบกกิ้งโซดาเป็นส่วนผสมมหัศจรรย์ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการในการทำความสะอาดได้ ทั้งขจัดคราบ ดับกลิ่น ฆ่าเชื้อ และล้างคราบมัน ในราคาเพียงเสี้ยวเดียวของน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป! และยังทำไม่ยากด้วย เพียงผสมเบกกิ้งโซดา 2 ช้อนโต๊ะเข้ากับน้ำอุ่น 500 มล. ก็เรียบร้อย

น้ำส้มสายชูเป็นอีกหนึ่งส่วนผสมที่เหมาะกับการทำความสะอาด เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นกรดทำให้ขจัดคราบสกปรกและฆ่าเชื้อได้ดี การผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำส้มสายชูสามารถสลายสิ่งอุดตันในท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นอันตรายต่อปอดและท่อน้ำเหมือนน้ำยาล้างท่อทั่วไปด้วย

สุดท้ายนี้ ก็อย่าเพิ่งทิ้งมะนาวใช้แล้วด้วย! เพราะกรดซิตริกในมะนาวสามารถใช้ฆ่าเชื้อและกำจัดกลิ่นได้ดีมากทีเดียว

หากคุณไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราขอแนะนำให้ค้นอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลและสูตรการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติราคาไม่แพงเหล่านี้ดู!

Refilling cleaning products at a bulk store

หากการทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของตัวเองเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป คุณก็สามารถนำภาชนะของคุณไปที่ Eco Store ในชิบูย่าเพื่อเติมน้ำยาทำความสะอาดได้ ผลิตภัณฑ์ของ Eco Store ปราศจากการใช้แรงงานเด็ก และรับประกันความพึงพอใจของผู้ใช้

ห้องครัว

Beeswax wrap

เชื่อว่าทุกบ้านต้องใช้แรปพลาสติกห่ออาหาร แต่น่าเสียดายที่แรปเหล่านี้ใช้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้งแล้ว ต่างจากแรปขี้ผึ้งและแรปซิลิโคนที่สามารถใช้ซ้ำได้ แรปขี้ผึ้งทำจากวัสดุธรรมชาติ สามารถล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่แรปซิลิโคนมีข้อดีเพิ่มมา คือ สามารถใช้ในไมโครเวฟได้ อีกทางเลือกสำหรับการเก็บอาหารเหลือ คือ ใช้ภาชนะพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้ซึ่งคุณอาจมีอยู่แล้วหรือหาซื้อได้ง่ายๆ จากร้านขายของใช้ในบ้านหรือร้าน 100 เยนใกล้บ้าน

สุขอนามัย

ผ้าอนามัย

Reusable period products

อย่าได้หลงกลภาพสวยๆ ของผ้าฝ้ายนุ่มๆ บนบรรจุภัณฑ์ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งเชียว เพราะผ้าอนามัยเหล่านี้มีส่วนประกอบของพลาสติกและสารอื่นๆ เช่น สารฟอกขาว ผ้าเทียม และสารเคมี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คุณไม่ต้องการให้มีในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับจุดบอบบางของร่างกาย นอกจากนี้ การใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งต่อรอบเดือนต่อคนนั้นยังเทียบเท่ากับการใช้ถุงพลาสติก 80 ใบอีกด้วย

การเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยประจำเดือน ผ้าอนามัยซักได้ และกางเกงในอนามัย จะช่วยให้คุณลดขยะและประหยัดเงินได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน คุณสามารถหาซื้อได้ง่ายๆ ทาง Amazon และ Rakuten โดยค้นหาคำว่า “月経カップ (Gekkei kappu)” หรือ “生理カップ (Seiri kappu)” สำหรับถ้วยประจำเดือน หรือ “布ナプキン (Nuno napukin)” สำหรับผ้าอนามัยซักได้ นอกจากนี้ร้านค้าบางแห่ง เช่น Cosme Kitchen ก็เริ่มมีถ้วยประจำเดือนวางขายแล้วเช่นกัน

ห้องอาบน้ำ

Soaps

แชมพูบรรจุขวดโดยเฉลี่ยประกอบด้วยน้ำมากถึง 80% และครีมนวดผมก็มากถึง 95% ดังนั้นทางเลือกที่ดีกว่าจึงเป็น แชมพูและครีมนวดแบบก้อนและสบู่ก้อนซึ่งมีความเข้มข้นกว่าและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า Lush เป็นแบรนด์ที่มีสบู่ก้อนสำหรับสระผมและอาบน้ำให้เลือกมากมาย ทั้งหมดทำจากส่วนผสมธรรมชาติและสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์

Home-made deodorant

นอกจากการเปลี่ยนมาใช้สบู่ก้อนแล้ว ไม่นานมานี้ผู้เขียนเองก็ได้ลองทำผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายของตัวเองโดยใช้เชียบัตเตอร์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ และเบกกิ้งโซดา รวมถึงทำสครับผิวเองจากกากกาแฟ และน้ำมันมะพร้าว ซึ่งนอกจากจะหอมมากแล้วยังปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย ไมโครพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อีกด้วย ที่สำคัญแต่ละชิ้นใช้ทำไม่ถึง 5 นาทีเท่านั้น!

นอกบ้าน

น้ำ

หยุดเปลืองเงินไปกับค่าน้ำและเพิ่มขวดน้ำที่มีมากกว่า 23 พันล้านขวดในญี่ปุ่นต่อปีได้แล้ว! และหันมาเติมน้ำในภาชนะส่วนตัวของคุณได้ทุกที่โดยใช้ mymizu แอพฯ ฟรีที่ช่วยให้คุณค้นหาสถานีเติมน้ำฟรีซึ่งใช้ง่ายมากๆ เพียง 1) เปิดแอพฯ 2) เลือกตู้กดน้ำที่ใกล้คุณที่สุด 3) ไปเติมน้ำฟรี

Mymizu app
The mymizu app shows you stores and drinking fountains where you can refill your water container for free

กาแฟ

บางคนอาจจะคิดว่าแก้วกระดาษในร้านกาแฟสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเพราะทำมาจากกระดาษ แต่บอกเลยว่าผิดมหันต์! เพราะแก้วกระดาษส่วนใหญ่จะมีชั้นพลาสติกบางๆ บุอยู่ด้านในถ้วย และขยะที่เป็นวัสดุผสมเหล่านี้ก็ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ข่าวดีคือร้านกาแฟอย่าง Starbucks และ Tully’s หรือแม้แต่ Lawson’s Machi Cafe เริ่มกระตุ้นให้ลูกค้านำแก้วของตัวเองมามากขึ้นโดยมีส่วนลดให้สูงสุดถึง 50 เยน ซึ่งตีได้ว่าทุกการซื้อกาแฟ 6 แก้วเราจะได้กาแฟฟรี 1 แก้วนั่นเอง!

My tumbler

ซื้อกลับบ้าน

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคมกัน ทำให้ความต้องการในอาหารเดลิเวอรี่และบริการซื้อกลับบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการใช้ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกันมากขึ้น วิธีลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์นั้นนอกจากการทำอาหารเองแล้ว ยังสามารถทำได้ด้วยการนำภาชนะของคุณไปที่ร้านเอง โชคดีที่มีร้านอาหารหลายแห่งยอมให้ลูกค้าเอาภาชนะมาใส่เองได้ แต่ก่อนจะไปที่ร้านก็ควรสอบถามทางร้านก่อนด้วยว่าทำได้หรือไม่

พูดถึงการพกช้อนส้อมของตัวเองแล้ว ก็ขอแนะนำการพกตะเกียบของตัวเองไปด้วยเมื่อซื้อข้าวกล่อง รวมถึงพกหลอดใช้ซ้ำได้สำหรับชานมไข่มุขที่แสนเย้ายวน!

Chef packaging bento

แอพฯ ช่วยเหลืออาหาร

Packaging take out

อีกปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ คือ ขยะอาหาร (Food Waste) ญี่ปุ่นมีอาหารเหลือทิ้งกว่า 6 ล้านตันในแต่ละปี ขยะอาหารมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและมีรายงานว่าขยะอาหารเป็นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 8% ต่อปี

วิธีหนึ่งในการช่วยลดขยะอาหารในร้านอาหารของญี่ปุ่นก็คือ การใช้แอพฯ ช่วยเหลืออาหาร เช่น TABETE และ No Food Loss แอพฯ เหล่านี้เป็นตัวกลางระหว่างผู้บริโภคกับร้านอาหาร โดยลูกค้าสามารถ “ช่วย” ซื้ออาหารที่ยังกินได้แต่กำลังจะถูกทิ้งหลังร้านอาหารปิดได้ในราคาส่วนลด ตัวอย่างเช่น การใช้แอพฯ TABETE คุณก็เพียงกดสมัคร ค้นหาร้านใกล้บ้านหรือที่ทำงาน เลือกเมนูที่ต้องการและเวลารับ จากนั้นก็ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เท่านี้คุณก็ช่วยอาหารไม่ให้กลายเป็นขยะได้แล้ว!

สินค้าแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์

ถึงแม้ว่าสินค้าแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์จะไม่ใช่สิ่งที่ทิ้งให้เห็นเป็นกองพะเนินในถังขยะบ่อยๆ แต่เมื่อต้องซื้อหรือกำจัดทิ้งก็มีวิธีลดผลกระทบได้ในต้นทุนต่ำเช่นกัน

สินค้าแฟชั่น

Second hand clothing shop
StreetVJ / Shutterstock.com

เป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเฉพาะ Fast Fashion (สินค้าแฟชั่นที่เน้นการซื้อง่ายขายเร็วและราคาถูก) ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนกว่า 10% ของมนุษยชาติทั้งหมดซึ่งมากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งทางทะเลรวมกันเสียอีก ดังนั้น การลดหรือเปลี่ยนวิธีการซื้อเสื้อผ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วิธีที่ยั่งยืนกว่าในการซื้อสินค้า คือ ซื้อจำนวนน้อยแต่ลงทุนกับสินค้าคุณภาพสูงซึ่งคงทนต่อการใช้งานและใช้ได้ในหลายโอกาส แทนที่การซื้อแฟชั่นใหม่เรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการซื้อของออนไลน์ตอนอารมณ์ไม่ดีหรือตอนดึกด้วย เพราะอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและซื้อของเกินจำเป็นได้

อีกทางเลือกที่ทั้งประหยัดเงินและยังคงสไตล์นำสมัยได้ คือ ร้านขายของมือสอง ลืมภาพร้านเสื้อผ้ามือสองที่เต็มไปด้วยชุดเดรสเก่าๆ หรือคาร์ดิแกนเชยๆ ออกไปได้เลย เพราะร้านขายของมือสองที่ญี่ปุ่นนี้เรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ที่รอให้มาค้นหาเลยทีเดียว ผู้คนในประเทศที่ใส่ใจแฟชั่นนี้มีพื้นที่ใช้สอยและตู้เสื้อผ้าขนาดเล็กจึงนำเสื้อผ้าสวยๆ มาขายต่อให้ร้านขายเสื้อผ้ามือสองจำนวนมาก

Shimokitazawa ในโตเกียวเป็นย่านที่บรรดานักช้อปของมือสองและแฟนวินเทจมารวมตัวกันเพื่อซื้อสินค้าวินเทจที่ไม่ซ้ำใครจากศตวรรษที่ 19 และ 20 ซึ่งถูกคัดสรรมาอย่างดีจากในประเทศและต่างประเทศ มีให้เลือกตั้งแต่ของราคาถูก ไปจนถึงสินค้าระดับไฮเอนด์

นอกจากนี้ ยังมีตลาดออนไลน์อย่าง Mercari, Jimoty, ZozoUsed ที่มีเสื้อผ้ามือสองให้เลือกมากมายหลายหมวดหมู่ด้วย

เฟอร์นิเจอร์

Minimalist living room

การทิ้งเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่นอาจเป็นเรื่องน่าปวดหัวเพราะเฟอร์นิเจอร์ถือเป็นขยะขนาดใหญ่ที่คุณต้องเรียกหน่วยงานในพื้นที่มาเก็บให้พร้อมเสียค่าบริการ

สำหรับคนที่ต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ เราขอแนะนำให้ซื้อเฟอร์นิเจอร์มือสองซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นการให้บ้านใหม่กับเฟอร์นิเจอร์เก่าด้วย ที่ที่ดีที่สุดสำหรับการหาเฟอร์นิเจอร์มือสอง คือ Sayonara Sale ซึ่งเป็นการขายโดยชาวต่างชาติที่กำลังจะออกจากโตเกียวและต้องขายของก่อนย้ายออกให้เร็วที่สุด จึงสามารถหาเฟอร์นิเจอร์ดีๆ ในราคาถูกหรือฟรีได้ ตรวจสอบการซื้อขายได้ทาง Tokyo Craigslist หรือค้นหากลุ่ม Sayonara Sale บน Facebook วิธีนี้จะทำให้คุณประหยัดเงินได้เท่าๆ กับค่าเช่ารถตู้รายวันเลยทีเดียว นอกจากนี้ เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักจะดูแลข้าวของของตัวเองเป็นอย่างดีจึงทำให้มีสินค้ามือสองสภาพดีในราคาประหยัดให้เลือกซื้อผ่าน Jimoty และ Mercari อีกด้วย

ตอนที่ผู้เขียนย้ายไปโตเกียวครั้งแรกก็ได้ไปรับโซฟามือสองจาก Sayonara Sale และยังได้รับหม้อหุงข้าว ชุดช้อนส้อมถ้วยชาม และเครื่องใช้ในครัวทั้งหมดของเขามาฟรีๆ อีกด้วย

Vintage lighting shop

แต่หากคุณชอบไปที่ร้านค้าเพื่อเลือกของมากกว่า ก็มีร้านเฟอร์นิเจอร์มือสองอยู่ 2 ประเภท คือ ร้านขายสินค้าแนววินเทจที่เน้นความสวยงาม และร้านที่เน้นขายสินค้าเพื่อการใช้งานในราคาย่อมเยา

IKEA Japan เข้าร่วมการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเปิดบริการซื้อคืนและขายต่อ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกระเป๋าสตางค์ของคุณ นอกจากนี้ยังใช้งานง่ายมาก เพียงกรอกแบบฟอร์มออนไลน์เพื่อรับใบเสนอราคาของเฟอร์นิเจอร์ IKEA เก่าของคุณ จากนั้นก็นำเฟอร์นิเจอร์ไปที่อิเกียใกล้บ้านหรือขอใช้บริการให้มารับเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านก็ได้ โดยจะมีการตรวจสอบเงื่อนไขและยืนยันการประเมินราคาขั้นสุดท้ายซึ่งอาจสูงถึง 40% ของมูลค่าเดิม และคุณก็จะได้รับเครดิตพิเศษเพื่อใช้จ่ายในร้าน IKEA ด้วย

เริ่มตั้งแต่วันนี้!

Refilling water

การใช้ชีวิตไร้ขยะในญี่ปุ่นไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก การทำสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดอาจดูน่าปวดหัวในตอนแรก แต่ไม่มีใครจะทำได้ทันที ต้องเริ่มไปทีละขั้นและค่อยๆ สร้างนิสัย อย่างเริ่มด้วยการพกกระติกน้ำของตัวเองไปที่ทำงานหรือโรงเรียน นอกจากจะเอาไว้เติมน้ำไปไหนมาไหนแล้วยังสามารถใช้เป็นแก้วน้ำไปด้วยในตัวได้ด้วย เมื่อความพยายามเล็กๆ น้อยๆ จากทุกคนมารวมกันก็จะสามารถช่วยลดขยะและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ บ่อยครั้งที่คุณมีเครื่องมือสำหรับการใช้ชีวิตไร้ขยะอยู่แล้ว ดังนั้นแทนที่จะต้องออกไปซื้อของใหม่ก็ลองมองไปรอบๆ เพื่อดูว่าคุณสามารถใช้อะไรได้บ้างแล้วนำสิ่งที่มีอยู่แล้วกลับมาใช้ใหม่ดู เช่น ใช้ผ้าเช็ดหน้าเก่าห่อตะเกียบและหลอดใช้ซ้ำเมื่อต้องพกไปนอกบ้าน ใช้ทัปเปอร์แวร์ที่มีอยู่เพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าแบบเติม นำเสื้อยืดเก่าหรือผ้าปูโต๊ะมาเย็บทำถุงช้อปปิ้งและหน้ากากอนามัย แค่ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์เล็กหน่อยก็ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นมาได้แล้ว!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย!

รูปปกจาก Bogdan Sonjachnyj / Shutterstock.com

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: