เจาะลึก “ใบรับรองสถานภาพการทำงาน” ช่วยให้คุณเปลี่ยนงานอย่างราบรื่น!

สถานภาพการพำนัก (在留資格) ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่นก็จริง แต่หากคุณขอ “ใบรับรองสถานภาพการทำงาน” ไว้ด้วย ก็จะทำให้สามารถเปลี่ยนงานได้ราบรื่นขึ้นไปอีก ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับข้อดีและวิธีขอใบรับรองสถานภาพการทำงาน หากใครกำลังคิดจะเปลี่ยนงานก็อย่ารอช้า ตามไปอ่านกันเลย!
Oyraa

ใบรับรองสถานภาพการทำงานคืออะไร?

ใบรับรองสถานภาพการทำงาน (就労資格証明書) คือ เอกสารที่รับรองว่าชาวต่างชาติที่จะทำงานในญี่ปุ่นได้ครอบครองสถานภาพการพำนัก (หรือสถานะทางกฎหมาย) ที่อนุญาตให้ประกอบอาชีพ หรือทำงานตามเนื้อหาที่ระบุเอาไว้ได้

ใบรับรองนี้เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะออกให้ตามสถานภาพการพำนักที่ชาวต่างชาติแต่ละคนมีอยู่ ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีสถานภาพการพำนักก็จะไม่สามารถขอได้เลย

กรณีที่ต้องใช้ใบรับรองสถานภาพการทำงานที่คนอยากเปลี่ยนงานต้องรู้!

คุณอาจคิดว่า “แค่มีสถานภาพการพำนัก (วีซ่าทำงาน) ก็พอแล้ว ไม่เห็นต้องใช้ใบรับรองสถานภาพการทำงานเลย”

ที่จริงแล้วความคิดนี้ก็ไม่ผิดเสียทีเดียวเพราะเมื่อมาถึงญี่ปุ่นและยื่นขอสถานภาพการพำนัก คุณก็จำเป็นต้องยื่นเอกสารจำพวกหนังสือสัญญาว่าจ้างที่ได้ทำไว้กับบริษัทหรือองค์กรที่ทำงานเพื่อขอรับสถานะอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สถานภาพการพำนักนี้เป็นเพียงสิ่งที่ได้รับหลังผ่านการพิจารณาของบริษัทดังกล่าวเท่านั้น แต่หากคุณเปลี่ยนที่ทำงาน ก็ไม่มีอะไรมารับประกันว่าบริษัทใหม่ที่ยื่นเรื่องไปจะช่วยรับรองสถานะให้คุณด้วย

กล่าวคือ ในกรณีที่คุณต้องการเปลี่ยนงานจากบริษัทที่ทำงานอยู่ขณะขอสถานภาพการพำนัก ก็จำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองสถานภาพการทำงานด้วยนั่นเอง

ข้อดีของใบรับรองสถานภาพการทำงานต่อชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น

หากมีใบรับรองสถานภาพการทำงาน คุณก็จะสามารถพิจารณาได้ว่างานใหม่ที่จะทำนั้นอยู่ในขอบเขตของสถานภาพการพำนักที่มีอยู่หรือไม่ หากตอนขอต่อสถานภาพการพำนักได้รับการตัดสินว่าไม่อยู่ในขอบเขต คุณก็อาจถูกบังคับให้กลับประเทศไป นอกจากนี้ การมีใบรับรองยังสามารถช่วยให้การเปลี่ยนงานราบรื่นยิ่งขึ้น และคุณก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเดินเรื่องไม่ทันก่อนสถานภาพการพำนักปัจจุบันจะหมดอายุด้วย

เรื่องหนึ่งที่ควรทราบไว้ คือ ใบรับรองสถานภาพการทำงานสามารถใช้กับการเปลี่ยนงานได้ในกรณีที่เนื้อหางานเหมือนเดิมเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา (เช่น ชาวต่างชาติที่มีวีซ่า “เทคโนโลยี, ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์, งานระหว่างประเทศ” จะเปลี่ยนไปทำงานกลุ่ม “การศึกษา”) ก็จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตเปลี่ยนสถานภาพการพำนักก่อนเปลี่ยนงาน

ถึงแม้คุณจะสามารถขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนักเมื่อไรก็ได้ในระยะเวลาพำนัก แต่หากคุณย้ายงานก่อนผ่านการอนุมัติคำร้องก็อาจจะทำให้คุณขอต่อสถานภาพการพำนักไม่ได้ หรือที่แย่กว่านั้นก็อาจถูกยกเลิกสถานภาพไปเลย เราจึงอยากให้คุณระวังในจุดนี้ด้วย

ข้อดีของใบรับรองสถานภาพการทำงานต่อบริษัทที่จะย้ายไป

แม้ชาวต่างชาติจะไม่ได้ยื่นใบรับรองสถานภาพการทำงาน แต่หากบริษัทปลายทางฉวยโอกาสปฏิบัติต่อเราอย่างไม่เป็นธรรมก็ถือว่าเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเช่นกัน นอกจากนี้ หากหลังเข้าทำงานมีการตรวจพบว่าสถานภาพการพำนักของชาวต่างชาติไม่ตรงกับเนื้อหางาน บริษัทปลายทางก็อาจถูกแจ้งข้อหาส่งเสริมการจ้างงานโดยผิดกฎหมายได้ (กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองมาตราที่ 73 วรรค 2 หัวข้อ 1) โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3,000,000 เยน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้วยเหตุนี้ การยื่นใบรับรองสถานภาพการทำงานจึงเป็นการป้องกันการจ้างงานอย่างผิดกฎหมายไปในตัว

เวลาพำนักเหลือไม่มากแต่อยากเปลี่ยนงาน ทำอย่างไรดี?

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนงาน ระยะเวลาเดินเรื่องขอใบรับรองสถานภาพการทำงานจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 3 เดือน หากสถานภาพการพำนักมีอายุเหลือไม่ถึง 6 เดือนก็อาจเกิดกรณีที่ใบรับรองมาไม่ทันก่อนต่ออายุถึงแม้จะยื่นเรื่องไปแล้วก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ ขอให้คุณต่อสถานภาพการพำนักโดยระบุไปด้วยว่า “มีการเปลี่ยนงาน (転職有り)”

วิธีขอใบรับรองสถานภาพการทำงาน

– คุณสมบัติของผู้ยื่นเรื่อง (ตรงกับข้อใดข้อหนึ่ง)
1.ตัวผู้ยื่นเอง

2.ผู้ที่ได้รับการรับรองจากเจ้าตัวให้ทำหน้าที่แทน
・พนักงานขององค์กรที่เจ้าตัวบริหารหรือได้รับการว่าจ้างอยู่
・พนักงานขององค์กรที่เจ้าตัวเข้ารับการฝึกฝนหรือเข้าศึกษาอยู่
・พนักงานของสมาคมที่ดูแลกิจกรรมเรียนรู้ทักษะ เทคโนโลยี หรือความรู้ ที่ดำเนินการโดยชาวต่างชาติ
・พนักงานของหน่วยงานเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายช่วยให้การรองรับชาวต่างชาติราบรื่นยิ่งขึ้น

3.นักกฎหมายหรือนักรับรองเอกสารที่เจ้าตัวว่าจ้าง โดยต้องเป็นบุคคลที่รายงานตัวกับหัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

4.ตัวแทนตามกฎหมาย

– เอกสารที่จำเป็นต่อการยื่นเรื่อง
・แบบฟอร์มขอใบรับรองสถานภาพการทำงาน (就労資格証明書交付申請書)
・ใบอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกสถานภาพ (資格外活動許可書) (สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว)
・บัตรประจำตัวผู้พำนัก (在留カード) หรือใบรับรองผู้พำนักถาวรกรณีพิเศษ (特別永住者証明書)
・หนังสือเดินทางหรือใบรับรองสถานภาพการพำนัก (在留資格証明書)
・ในกรณีที่ไม่สามารถแสดงหนังสือเดินทางหรือใบรับรองสถานภาพการพำนักได้ จำเป็นต้องยื่นเอกสารระบุเหตุผล
・แสดงเอกสารรับรองสถานะทางสังคม (ในกรณีที่ยื่นเรื่องโดยตัวแทน)

・ใบรับรองภาษีเงินได้ (源泉徴収票) ที่ออกโดยบริษัทเดิมก่อนเปลี่ยนงาน
・ใบรับรองการออกจากงาน (退職証明書)
・เอกสารแสดงข้อมูลโดยสังเขปของบริษัทปลายทาง
  - สำเนาใบอนุญาตประกอบการค้าหรือธุรกิจ (商業・法人登記簿謄本) ที่ออกภายใน 3 เดือน
  - สำเนางบการเงินล่าสุด (กรณีบริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ ให้แทนด้วยแผนธุรกิจ 1 ปีหลังจากนี้)
  - เอกสารแนะนำบริษัท
・เอกสารที่ระบุถึงเนื้อหา ระยะเวลา ตำแหน่ง และค่าตอบแทนของงานใหม่
  - สำเนาสัญญาจ้างงาน
  - สำเนาเอกสารการเลื่อนตำแหน่งหรือคำสั่งโยกย้ายจากทางบริษัท
  - สำเนาเอกสารรับแจ้งเข้าทำงาน
・บางกรณีอาจมีเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกสารเหตุผลในการเปลี่ยนงาน หรือ เอกสารเหตุผลการจ้างงาน

– สถานที่ยื่นเรื่อง
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเขตที่ผู้ยื่นเรื่องอาศัยอยู่

ส่งท้าย

หากคุณคิดอยากจะเปลี่ยนงาน เราขอแนะนำให้มีใบรับรองสถานภาพการทำงานเอาไว้ และหากคุณไม่อยากพลาดโอกาสย้ายไปทำงานที่บริษัทในฝันของคุณแล้วล่ะก็ ควรเดินเรื่องเอาไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างราบรื่นนั่นเอง

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: