สอดส่องกิจกรรมช่วงปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น! ทำอะไรกันบ้าง??

แต่ละประเทศก็มีธรรมเนียมปฏิบัติและวิธีใช้เวลาในช่วงปีใหม่ที่ต่างกันไป แล้วที่ญี่ปุ่นล่ะเป็นอย่างไรบ้าง? ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับวิธีทักทาย ธรรมเนียมปฏิบัติ และอาหารการกินประจำช่วงปีใหม่ของแดนปลาดิบแบบเน้นๆ มาลองสัมผัสกับวัฒนธรรมในช่วงปีใหม่ที่ไม่เหมือนใครของญี่ปุ่นกันดีกว่า
Oyraa
PJ_Photography / Shutterstock.com

เทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่นคือช่วงไหน?

เมื่อพูดถึงช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงช่วง 29 ธันวาคมถึง 3 มกราคม บริษัทหลายแห่งจะกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคมเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของปี โดยอาจมีการทำความสะอาดใหญ่ หรือไม่ก็จัดโนไค (納会 / งานเลี้ยงส่งท้ายปีงบประมาณหรือปีตามปฏิทิน) นอกจากนี้ คนจำนวนมากยังใช้โอกาสในช่วงปีใหม่นี้เพื่อกลับบ้านเกิด จึงมีผู้ใช้งานรถไฟชินคันเซ็นและเครื่องบินอย่างหนาแน่น

บริษัทหลายแห่งยังนิยมจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ที่เรียกว่า โบเนนไค (忘年会) ขึ้นในเดือนธันวาคม เป็นงานเลี้ยงส่งท้ายปีที่ทุกคนจะดื่มเหล้าและรับประทานอาหารด้วยกันเมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม ร้านอาหารต่างๆ จึงมักถูกจองเพื่อจัดโบเนนไคเต็มไปหมด หากใครต้องการรับประทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในช่วงนี้ก็ขอแนะนำให้ทำการจองไว้แต่เนิ่นๆ

ช่วงสิ้นปีในญี่ปุ่นเขาทำกันแบบนี้!

◆ คำทักทายในช่วงสิ้นปี

“Yoi otoshi wo” (よいお年を。)

ประโยคนี้คือคำทักทายที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในวันสิ้นปี โดยย่อมาจาก “Yoi otoshi wo omukae kudasai” (良いお年をお迎えください。) ซึ่งแปลว่า “ขอให้พบกับปีที่ดี” แฝงไปด้วยความปรารถนาที่อยากให้ปีที่กำลังจะมาถึงเป็นปีที่ดี สามารถใช้ได้ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมถึง 30 ธันวาคม

หากเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือรุ่นน้อง ก็สามารถกล่าวสั้นๆ ได้ว่า “Yoi otoshi wo” แต่ในกรณีของลูกค้าหรือคนที่มีสถานะสูงกว่าก็ควรกล่าวเต็มๆ ไปว่า “Yoi otoshi wo omukae kudasai” มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทราบว่าอีกฝ่ายอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ (ช่วง 1 ปีหลังจากที่คนใกล้ชิดเสียชีวิต) ก็ให้เปลี่ยนจากคำทักทายนี้เป็น “Rainen mo yoroshiku onegaishimasu” (来年もよろしくお願いします。) ซึ่งมีความหมายว่า “ปีหน้าก็ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย” แทนจะเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้ ในวันที่ 31 ธันวาคมซึ่งมีการเตรียมตัวฉลองปีใหม่แล้วก็จะไม่พูดว่า “Yoi otoshi wo” และหันมาทักทายด้วยประโยคอื่นๆ เช่น “Rainen mo yoroshiku onegaishimasu”

画像素材:PIXTA

◆ ธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงสิ้นปี
・เขียนเนนกะโจ
เนนกะโจ (年賀状) คือ โปสการ์ดที่จะส่งให้กับผู้คนที่มีคุณกับเรา เพื่อเป็นการฉลองปีใหม่และแสดงความต้องการว่าอยากคบหากันเหมือนเดิมแม้ว่าปีจะเปลี่ยนไป คล้ายกับส.ค.ส. ของไทย การ์ดนี้สามารถหาซื้อได้ตามที่ทำการไปรษณีย์และร้านสะดวกซื้อ หากต้องการให้ส่งถึงทันวันปีใหม่ ก็ควรนำไปหยอดตู้ไปรษณีย์ในช่วง 15-25 ธันวาคม (ยกเว้นในกรณีของหมู่เกาะห่างไกล)

・ทำความสะอาดครั้งใหญ่
ทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม รวมถึงบริเวณที่ปกติไม่เคยทำ เพื่อเป็นการขจัดสิ่งสกปรกที่สะสมมาตลอดปี หากที่ทำงานของคุณมีจัดทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็ไม่ควรพลาด นอกจากนี้ เนื่องจากปกติแล้ววันสิ้นปีจะถูกจัดให้เป็นวันเก็บขยะ หากจะทำความสะอาดบ้านจึงควรทำก่อนวันเก็บขยะวันสุดท้ายของปีปัจจุบัน

・เตรียมของตกแต่งปีใหม่
เมื่อสิ้นสุดวันคริสต์มาสไป เราก็จะเริ่มเห็นของตกแต่งปีใหม่ หรือ โชกัตสึคาซาริ (正月飾り) ได้ในทุกๆ ส่วนของเมืองแม้แต่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นการตกแต่งเพื่อต้อนรับเทพเจ้าแห่งปีใหม่โทชิงามิ (Toshigami) นั่นเอง

ของตกแต่งที่หาซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้ง่ายและนำมาประดับตามอพาร์ตเม้นต์ได้สะดวกก็คือ
ชิเมะคาซาริ (しめ飾り / ของตกแต่งเพื่อบอกว่าที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และพร้อมที่จะต้อนรับการมาเยือนของเทพประจำปี) และ
คากามิโมจิ (鏡餅 / โมจิตกแต่งเพื่อขอให้พืชผลของปีนั้นอุดมสมบูรณ์ และฉลองการเริ่มต้นใหม่)

โดยชิเมะคาซาริจะใช้ประดับตามหน้าประตูด้านนอก ส่วนคากามิโมจิจะใช้ประดับในบ้าน เวลาประดับของแต่ละพื้นที่อาจต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วก็จะประดับในช่วง 28 ธันวาคมถึง 7 มกราคม

วันรับประทานคากามิโมจิมีชื่อเรียกว่า คากามิบิราคิ (鏡開き) ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวันที่ 11 มกราคมสำหรับภูมิภาคคันโต และวันที่ 15 มกราคมสำหรับภูมิภาคคันไซ ส่วนชิเมะคาซาริจะมีการปัดเป่าด้วยเกลือ ห่อด้วยกระดาษ ใส่ในถุงขยะแยกกับขยะอื่นๆ และนำไปทิ้งในวันเก็บขยะเผาได้

◆ ธรรมเนียมปฏิบัติในวันโอมิโซกะ (大晦日 / 31 ธันวาคม)
・เตรียมอาหารปีใหม่
อาหารปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า โอเซจิเรียวริ (おせち料理) เป็นการนำกับข้าว 20-30 รายการมารวมกัน โดยแต่ละรายการจะมีความหมายแฝงดีๆ ของตัวเอง ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

กุ้ง: เมื่อผ่านไฟแล้วหลังจะขดกลม จึงเปรียบเป็นการขอให้มีอายุยืนยาวจนแก่หลังค่อม
ถั่วดำ: เชื่อกันว่าสีดำมีพลังในการป้องกันสิ่งชั่วร้าย นอกจากนี้ คำว่าถั่วในญี่ปุ่นยังไปพ้องเสียงกับคำว่า “มาเมะ” ที่มีความหมายว่าขยัน มีเรี่ยวแรง อีกด้วย
คาซุโนโกะ (数の子): ไข่ของปลาเฮอร์ริ่ง มีจำนวนเม็ดเยอะ จึงเปรียบเหมือนการขอให้มีลูกหลานมากมายหรือมีลูกที่น่าภาคภูมิใจ

・สั่นจายะโนะคาเนะ
จายะโนะคาเนะ (除夜の鐘) คือ พิธีกรรมในศาสนาพุทธของญี่ปุ่นที่จะสั่นระฆัง 108 ครั้ง จากคืนวันโอมิโซกะข้ามไปยังวันกันตัน (元旦 / 1 มกราคม) โดยตัวเลขเป็นตัวแทนของกิเลสมนุษย์ 108 ประเภท วัดบางแห่งจะอนุญาตให้คนทั่วไปเข้าร่วมสั่นระฆังได้

・รับประทานโทชิโคชิโซบะ
โทชิโคชิโซบะ (年越しそば) หมายถึงโซบะที่รับประทานในมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำของวันที่ 31 ธันวาคม เปรียบกับการขอให้มีอายุยืนยาวเหมือนอย่างเส้นโซบะ นอกจากนี้ เนื่องจากแป้งโซบะมีลักษณะที่ตัดง่าย จึงเปรียบเหมือนการตัดขาดจากความลำบากและโชคร้ายในปีนี้และต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

・ชมรายการโทรทัศน์เฉพาะช่วงสิ้นปี
ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมถึง 1 มกราคม จะมีการถ่ายทอดรายการพิเศษมากมายไปจนถึงแม้กระทั่งกลางดึก ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษจะเป็นการประชันเพลงแดงขาว (紅白歌合戦) รายการเฉพาะช่วงสิ้นปีของ NHK ซึ่งนักร้องชื่อดังหลากอายุหลากแนวเพลงจะถูกแบ่งเป็นฝ่ายแดง (ผู้หญิง) และฝ่ายขาว (ผู้ชาย) ร้องเพลง หรือแสดงดนตรีประชันกันให้เราได้รับชม

ช่วงต้นปีในญี่ปุ่นเขาทำกันแบบนี้!

◆ คำทักทายในช่วงต้นปี
“Akemashite omedetou gozaimasu” (明けましておめでとうございます。)
มีความหมายว่า “สุขสันต์ปีใหม่” เป็นคำทักทายปีใหม่ที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย
หากเป็นในที่ทำงานจะนิยมกล่าวกันแบบยาวๆ ว่า
“Akemashite omedetou gozaimasu. Kotoshi mo yoroshiku onegaiitaishimasu” (明けましておめでとうございます。今年もよろしくお願いいたします。)
ที่แปลว่า “สุขสันต์ปีใหม่ ปีนี้ก็ขอฝากตัวด้วย” โดยสามารถใช้ได้จนถึง 7 มกราคม แต่ก็อาจคลาดเคลื่อนกันบ้างในแต่ละพื้นที่

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันกันตัน (元旦 / 1 มกราคม)
・ชมฮัตสึฮิโนะเดะ
ฮัตสึฮิโนะเดะ (初日の出) หมายถึง ภาพของพระอาทิตย์ที่ขึ้นเหนือผิวน้ำหรือแผ่นดินในตอนเช้าของวันที่ 1 มกราคม ที่ญี่ปุ่นถือกันว่าพระทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปีเป็นสิ่งที่น่ายินดี คนที่ลงทุนเดินไปทางรับชมในจุดที่ทิวทัศน์สวยงามอย่างทะเลและภูเขาก็มีไม่น้อย

・รับประทานโอเซจิเรียวริหรือโอโซนิ
โอโซนิ (お雑煮) คือ ซุปที่ใส่โมจิ โดยเครื่องที่ใส่ รูปทรงของโมจิ และการปรุงรสจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตามแต่ละท้องถิ่น จะลองหาข้อมูลโอโซนิในพื้นที่ของคุณและลองทำกินเอง หรือขอสูตรโอโซนิบ้านเกิดของเพื่อนชาวญี่ปุ่นมาลองทำดูก็น่าสนใจไม่น้อย

・ออกไปฮัตสึโมเดะ
ฮัตสึโมเดะ (初詣) หมายถึง การสักการะศาลเจ้าครั้งแรกของปี หลายคนจะออกไปฮัตสึโมเดะกันตั้งแต่กลางดึกของวันโอมิโซกะจึงมักมีผู้คนหนาแน่นในศาลเจ้าและวัดชื่อดัง แต่ถ้าอย่างไรคุณก็สามารถไปฮัตสึโมเดะที่วัดหรือศาลเจ้าใกล้ๆ บ้านได้เช่นกัน หลังจากสักการะเรียบร้อยแล้ว บางคนก็นิยมดึงโอมิคุจิทำนายดวงประจำปี หรือไม่ก็ซื้อเครื่องรางเก็บไว้ด้วย

สรุปส่งท้าย และสุขสันต์วันปีใหม่

อาหารการกินและธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีจุดเด่นที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ถ้าลองถามเกี่ยวกับธรรมเนียมที่บ้านเกิดของเพื่อนหรือแฟนชาวญี่ปุ่นของคุณดูก็อาจได้ฟังเรื่องราวที่น่าสนใจ วัตถุดิบและของตกแต่งต่างๆ เองก็สามารถหาซื้อได้ไม่ยากตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป หากมีโอกาสจึงไม่ควรพลาดที่จะลองสัมผัสช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบญี่ปุ่นดูสักครั้ง!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: