โรงเรียนอนุบาล – สถานรับเลี้ยงเด็กกับ ECEC ต่างกันอย่างไร? เลือกที่ไหนดี?

แม้ว่าระบบการศึกษาภาคบังคับในญี่ปุ่นจะเริ่มต้นที่ระดับประถมศึกษา แต่เด็กก่อนวัยเรียนจำนวนมากก็มักจะเคยผ่านโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ ECEC อย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับประถม บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับความแตกต่างและเงื่อนไขของแต่ละที่ รวมถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นจะต้องตรวจสอบก่อนตัดสินใจใช้บริการ
Oyraa

นโยบายดูแลและให้การศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนฟรี! (เริ่มปี 2019)

ก่อนจะไปรู้จักสถานที่แต่ละแบบ เรามาทำความรู้จักกับนโยบายดูแลและให้การศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนฟรี ที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2019 กันก่อน ซึ่งรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายครอบคลุมกรณีต่อไปนี้

  • โรงเรียนอนุบาลที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่เกิน 25,700 เยน
  • สถานเลี้ยงดูที่อยู่นอกเหนือการรับรองของรัฐ* ที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 37,000 เยน / เดือน
  • การฝากเลี้ยงที่โรงเรียนอนุบาล* ที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 11,300 เยน / เดือน

ในขณะที่สถานรับเลี้ยงเด็กที่รัฐรับรองซึ่งเรียกว่า “Early Childhood Education and Care” (ECEC) และโปรแกรมช่วยพัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะได้รับเงินช่วยเหลือเต็มจำนวนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองยังจำเป็นต้องรับผิดชอบเรื่องค่ารับ-ส่ง ค่าอาหาร และค่ากิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าสถานที่แต่ละแห่งมีค่าใช้จ่ายจริงๆ เท่าไร

* สำหรับครอบครัวที่ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานเขตที่ตนอาศัยอยู่ แล้วได้รับการรับรองว่ามีความจำเป็นต้องให้เด็กเข้ารับการเลี้ยงดูเท่านั้น

โรงเรียนอนุบาล (幼稚園)

ข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และ ECEC คือ ผู้ปกครองสามารถให้เด็กเข้าโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กได้แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ทำงานนั่นเอง โรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่มีเวลารับฝากสั้นๆ ประมาณ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง และอาจมีกิจกรรมในวันธรรมดาที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าร่วม นอกจากนี้ ในช่วงวันหยุดฤดูร้อน (ประมาณ 21 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม) วันหยุดฤดูหนาว (ประมาณ 20 ธันวาคม – 7 มกราคม) และวันหยุดฤดูใบไม้ผลิ (ประมาณ 20 มีนาคม – 7 เมษายน) ก็จะไม่รับฝากเด็กด้วย ดังนั้นจึงลำบากสำหรับผู้ปกครองที่มีงานทำพอสมควร

ในส่วนของอาหารกลางวัน ถึงแม้จะต่างกันไปในโรงเรียนแต่ละแห่ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทางผู้ปกครองก็ต้องเตรียมข้าวกล่องให้เด็กกันเอง หากต้องการเลี่ยงอาหารกลางวันโรงเรียนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ข้อห้ามทางศาสนา หรือเด็กไม่ชอบอาหารญี่ปุ่น เราขอแนะนำให้เลือกโรงเรียนที่ต้องนำข้าวกล่องไปเองจะดีกว่า

โรงเรียนแต่ละแห่งจะมีนโยบายการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน มีทั้งโรงเรียนที่สอนวิชาการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นฮิรากานะ, คาตาคานะ, คิดเลข, พละ, ภาษาอังกฤษ, ดนตรี หรือโรงเรียนที่เน้นการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นหลัก เราขอแนะนำให้พิจารณาตามลักษณะนิสัยของเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูของแต่ละบ้านก่อนตัดสินใจเลือกโรงเรียน

[ ข้อมูลโดยสังเขปของโรงเรียนอนุบาล ]
วัตถุประสงค์ : ให้การศึกษาในช่วงก่อนวัยเรียน
หน่วยงานที่ดูแล : กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ช่วงอายุที่ครอบคลุม : ส่วนใหญ่รับดูแลเป็นเวลา 3 ปี ช่วงอายุ 3 – 5 ขวบ
เวลารับดูแลโดยเฉลี่ย : 9:00 – 14:00 น. บางโรงเรียนอาจมีการขยายเวลาได้

ปฏิทินการสมัครเข้าเรียนโดยทั่วไป
มิถุนายน – : เยี่ยมชมโรงเรียน
กันยายน – : Orientation แจกใบสมัคร
ตุลาคม – : ยื่นใบสมัคร สัมภาษณ์
พฤศจิกายน – : แจกใบสมัคร ส่งใบสมัคร สุ่มคัดเลือก
ธันวาคม – มกราคม : ปฐมนิเทศเข้าเรียน
เมษายน : เปิดเรียน

สถานรับเลี้ยงเด็ก (保育園)

ผู้ปกครองที่ทำงานส่วนใหญ่จะนิยมให้บุตรหลานเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งมีเวลารับฝากที่นานกว่าโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กมีทั้งแบบที่ได้รับการรับรองจากรัฐและแบบที่อยู่นอกการรับรอง อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าสถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองจะไม่ดี ดังนั้น คุณจึงควรทำความเข้าใจจุดเด่นของสถานทั้ง 2 แบบ และเลือกให้เข้ากับสถานการณ์ของแต่ละบ้าน

จุดเด่นของแต่ละแบบมีดังนี้

[ สถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรองจากรัฐ (認可保育園) ]
หมายถึง สถานรับเลี้ยงเด็กที่ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายสวัสดิการเด็ก และได้รับการรับรองจากรัฐ จำนวนของเด็กที่แต่ละแห่งสามารถดูแลได้จะถูกกำหนดตามจำนวนพี่เลี้ยง ความกว้างของสถานที่ อุปกรณ์ และเงื่อนไขอื่นๆ ตามกฎหมาย ทางหน่วยงานในพื้นที่จะประเมินคะแนนว่าเด็กมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลมากแค่ไหน และนำตัวเลขดังกล่าวไปใช้ในการคัดเลือกว่าเด็กจะสามารถเข้ารับการดูแลที่นี่ได้หรือไม่

[ สถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองของรัฐ (認可外保育園) ]
หมายถึง สถานรับเลี้ยงเด็กที่ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงเกณฑ์การรับรองจากรัฐ แต่ก็ผ่านเกณฑ์ที่แต่ละจังหวัดกำหนดไว้และได้รับการรับรองจากผู้ว่าราชการประจำจังหวัดนั้นๆ ในกรณีของโตเกียว สถานที่รับเลี้ยงเด็กที่ผ่านเกณฑ์ของโตเกียวจะถูกเรียกว่า สถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการยืนยัน (認証保育園) ในส่วนของการเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กรูปแบบนี้ ผู้ปกครองจำเป็นต้องไปสมัครกับสถานที่รับเลี้ยงนั้นโดยตรง

・สามารถสมัครทั้ง 2 แบบพร้อมกันได้
สถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรองจากรัฐจะถูกคัดเลือกโดยหน่วยงานในพื้นที่ ส่วนสถานรับเลี้ยงนอกการรับรองบางแห่งก็จะใช้ระบบมาก่อนได้ก่อน ทำให้รับเด็กได้ในจำนวนจำกัด และในบางพื้นที่ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะทำงานทั้งคู่และปู่ย่าตายายอยู่ไกล ไม่สามารถช่วยดูแลได้ ก็ยังมีกรณีที่เด็กไม่ผ่านการคัดเลือก ดังนั้น ในกรณีที่อยากให้เด็กเข้าสถานรับเลี้ยงได้จริงๆ ก็ควรสมัครทั้งแบบที่ได้รับการรับรองและอยู่นอกเหนือการรับรองไว้ สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตรวจสอบวันจัดงาน Orientation บนเว็บไซต์ของสถานรับเลี้ยงแต่ละแห่ง โทรศัพท์ไปเพื่อขอเข้าทัศนศึกษาเป็นการส่วนตัว และเลือกสถานที่ที่สนใจให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ คุณยังต้องไม่ลืมว่าการสมัครเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรอง จะต้องทำที่หน่วยงานภาคพื้นที่ ในขณะที่การสมัครเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองนั้นจะต้องทำที่สถานรับเลี้ยงนั้นๆ

[ ข้อมูลโดยสังเขปของสถานรับเลี้ยงเด็ก ]
วัตถุประสงค์ : เลี้ยงดูเด็กแทนผู้ปกครองที่ต้องทำงาน
หน่วยงานที่ดูแล : กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ
ช่วงอายุที่ครอบคลุม : 0 – 5 ขวบ บางแห่งอาจรับเฉพาะ 0, 1, และ 2 ขวบเท่านั้น
เวลารับดูแลโดยเฉลี่ย : ประมาณ 7:30 – 18:00 น. บางแห่งอาจขยายเวลาได้ บางแห่งอาจมีอาหารเย็นให้

ปฏิทินการสมัครเข้าเรียนโดยทั่วไป
ตุลาคม – : เริ่มแจกใบสมัคร
พฤศจิกายน – ธันวาคม : ยื่นใบสมัคร (ที่หน่วยงานของรัฐหรือสถานรับเลี้ยง)
มกราคม – : ยื่นรายงานเกี่ยวกับสภาพการทำงานของผู้ปกครอง
กุมภาพันธ์ – มีนาคม : หากได้รับเลือกจะมีการแจ้งผลทางโทรศัพท์ สัมภาษณ์ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ตรวจสุขภาพ
เมษายน : เปิดเรียน

* หากเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองของรัฐบาล จะต้องเดินเรื่องผ่านสถานรับเลี้ยงนั้นๆ โดยตรง

ECEC (認定こども園)

画像素材:PIXTA

ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็ก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงาน ดังนั้น ในปี 2006 จึงมีการก่อตั้ง ECEC (Early Childhood Education and Care) ซึ่งเป็นการรวมระบบของโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กไว้ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของผู้ปกครองที่ทำงานได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมี ECEC อยู่น้อย หรือในบางพื้นที่ก็อาจจะไม่มีเลย เมื่อเปรียบเทียบกับสถานรับเลี้ยงเด็กที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องพาเด็กออกจากสถานรับเลี้ยงหลังลาออกจากงาน ข้อดีของ ECEC คือ ถึงแม้ผู้ปกครองจะเปลี่ยนลักษณะการทำงานแต่ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายสถานที่ดูแลเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กก็ยังสามารถเข้า ECEC ได้อยู่ แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้ทำงานแล้วก็ตาม รวมถึงกรณีอย่าง “ปัจจุบันทำงานในขณะที่ตั้งครรภ์ (ลูกคนถัดไป) อยู่ หากคลอดแล้วจะลาออก” ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ดูแลเด็ก แล้วตัวเด็กเองก็ไม่ต้องรับภาระที่ตามมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ECEC มีกิจกรรมในวันธรรมดาที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าร่วมมากกว่าสถานรับเลี้ยงเด็ก หากผู้ปกครองทำงานเต็มเวลาและขอลาหยุดได้ยาก สถานรับเลี้ยงเด็กก็อาจเป็นตัวเลือกที่สะดวกกว่า

[ ข้อมูลโดยสังเขปของ ECEC ]
วัตถุประสงค์ : เลี้ยงดูและให้การศึกษาในช่วงก่อนวัยเรียน
หน่วยงานที่ดูแล : สำนักงานคณะรัฐมนตรี (ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ)
ช่วงอายุที่ครอบคลุม : 0 – 5 ขวบ*
เวลารับดูแลโดยเฉลี่ย : 9:00 – 18:00 น. บางแห่งอาจขอยืดเวลาได้ บางแห่งอาจมีอาหารเย็นให้

* เด็กที่ครอบคลุมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามด้านล่าง โดย ECEC แต่ละแห่งก็จะรองรับเด็กที่มีอายุแตกต่างกันไป
・ประเภทที่ 1 (เด็กอายุ 3 – 5 ขวบที่ไม่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแล)
・ประเภทที่ 2 (เด็กอายุ 3 – 5 ขวบที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแล)
・ประเภทที่ 3 (เด็กอายุ 0 – 2 ขวบที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแล)

ปฏิทินการสมัครเข้าเรียนโดยทั่วไป (แบ่งตามประเภท)
・ประเภทที่ 1
กันยายน – ตุลาคม : แจกใบสมัคร
ตุลาคม – พฤศจิกายน : ยื่นใบสมัคร สัมภาษณ์หรือสุ่มคัดเลือก
พฤศจิกายน : เดินเรื่องเข้าเรียน
ธันวาคม – กุมภาพันธ์ : ปฐมนิเทศ เริ่มจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน
กุมภาพันธ์ – มีนาคม : เรียนเตรียมความพร้อม
เมษายน : เปิดเรียน

・ประเภทที่ 2 และ 3
ยื่นใบสมัครที่หน่วยงานภาคพื้นที่
ต้นธันวาคม – ต้นมกราคม : สัมภาษณ์ที่ ECEC อันดับ 1 ที่เลือกไว้
กลางกุมภาพันธ์ – ต้นมีนาคม : ส่งใบแจ้งผลการสมัครและใบรับรองเงินช่วยเหลือ
ต้นมีนาคม – กลางมีนาคม : ปฐมนิเทศ เริ่มจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน
เมษายน : เปิดเรียน

เลือกอย่างไรดี? ลองดูตัวอย่างจาก 3 กรณีนี้

① พ่อหรือแม่สามารถดูแลเด็กในช่วงกลางวันได้
・โรงเรียนอนุบาล
หากผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันธรรมดาได้ก็ขอแนะนำให้เข้าโรงเรียนอนุบาล เนื่องจากผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียนได้ คุณจึงสามารถติดตามบุคลิกและการเจริญเติบโตของเด็ก นอกจากนี้ คุณยังมีโอกาสได้พบกับผู้ปกครองคนอื่นมากกว่าในกรณีของสถานรับเลี้ยงเด็ก จึงสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ปกครองในพื้นที่เพื่อเตรียมตัวเข้าระดับประถมศึกษาได้ด้วย

・ECEC
สามารถสมัครได้ในกรณีที่เด็กอยู่ในประเภท 1 ซึ่งมีเวลารับฝากสั้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะให้สิทธิ์กับผู้ปกครองที่ทำงานก่อน หากปัจจุบัน ผู้ปกครองไม่ได้ทำงาน แต่วางแผนจะทำงานหลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับการไปโรงเรียนแล้ว ก็ขอแนะนำให้เลือก ECEC


② พ่อหรือแม่ทำงานเต็มเวลา ในขณะที่อีกฝ่ายทำงานพาร์ทไทม์ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
・โรงเรียนอนุบาล
หากงานพาร์ทไทม์มีเวลาสั้นและสามารถยืดหยุ่นเรื่องวันทำงานได้ คุณก็จะสามารถให้เด็กเข้าโรงเรียนอนุบาลได้ เราขอแนะนำให้เลือกโรงเรียนที่มีระบบรับฝากเด็กและมีกิจกรรมที่ผู้ปกครองต้องเข้าร่วมน้อย

・สถานรับเลี้ยงเด็ก
หากเป็นพื้นที่ที่มีเด็กสมัครเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กน้อย ผู้ปกครองที่ทำงานพาร์ทไทม์จะสามารถสมัครให้ลูกได้ หากใกล้ๆ บ้านมีสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเวลารับฝากสั้นๆ อย่าง 9:00-17:00 น. ก็น่าพิจารณามาก เนื่องจากมีคนสมัครน้อยและเข้าได้ง่ายกว่าสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วไป

・ECEC
เหมาะสำหรับผู้ที่อยากได้ข้อดีทั้งของโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก แม้ว่าหลังเข้าแล้วผู้ปกครองจะเปลี่ยนไปทำงานเต็มเวลา หรือจะลาออกจากงาน เด็กก็ยังสามารถเรียนต่อได้โดยไม่ต้องลาออก

③ ทั้งพ่อและแม่ทำงานเต็มเวลา ไม่มีคนเลี้ยงดูเด็กในช่วงกลางวัน
・สถานรับเลี้ยงเด็ก

หากทั้งพ่อและแม่ทำงานเต็มเวลา ตัวเลือกแรกที่เราอยากแนะนำก็คือ สถานรับเลี้ยงเด็ก นอกจากจะแทบไม่มีกิจกรรมในวันธรรมดาแล้ว ยังมีเวลารับฝากที่นาน จึงสามารถฝากเด็กได้อย่างสบายใจ ในกรณีที่ทุกวันจะมารับเด็กได้หลัง 19:00 น. เป็นต้นไป ก็ควรเลือกสถานรับเลี้ยงที่เปิดรอผู้ปกครองนานและมีอาหารเย็นให้เด็กด้วย

・ECEC
สามารถสมัครได้หากเด็กอยู่ในกลุ่มประเภท 2 หรือ 3 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาจมีกิจกรรมในวันธรรมดา หากผู้ปกครองทำงานที่ขอลายาก ก็ควรเน้นการสมัครสถานรับเลี้ยงเด็กไว้ก่อน

พ่อแม่ทำงานแต่เข้าสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรองจากรัฐไม่ได้! ทำอย่างไรดี?

ณ วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2020 จำนวนของ “เด็กที่อยู่ในการรอคิว (待機児童)” หรือเด็กที่สมัครไปแล้วแต่ยังเข้าสถานรับเลี้ยงไม่ได้นั้น อยู่ที่ 12,439 คน ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหาสำคัญในญี่ปุ่น ในกรณีที่ผู้ปกครองทั้ง 2 คนทำงานเต็มเวลา แต่ยังไม่สามารถหาสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรองจากรัฐให้ลูกได้ เราขอเสนอทางออกให้ 2 วิธี ดังนี้

① เลือกโรงเรียนอนุบาลที่เน้นเรื่องการรับฝากเด็ก
โรงเรียนอนุบาลบางแห่งมีบริการรับฝากเด็กเป็นระยะเวลานานๆ เช่นกัน เนื่องจากมีกระทั่งโรงเรียนที่สามารถดูแลเด็กได้ถึง 18:30 น. เพื่อรองรับผู้ปกครองที่ทำงานเต็มเวลา จึงขอแนะนำให้ลองหาดูว่า มีโรงเรียนเช่นนี้ในพื้นที่ของคุณหรือไม่ และควรตรวจสอบด้วยว่าโรงเรียนดังกล่าวมีบริการรับฝากในช่วงวันหยุดฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูหนาวด้วยหรือไม่

② ให้เด็กเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองไปก่อน และสมัครสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรองใหม่ทุกเดือน
หากสามารถเข้าได้ก็ให้เด็กเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองไปก่อน และรอให้สถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการรับรองว่าง บางพื้นที่จะแจ้งสถานะของสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้การรับรองผ่านเว็บไซต์ หากพบว่ามีตำแหน่งว่างก็ให้ลองสมัครไปอีกครั้ง

ในกรณีที่สมัครสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้การรับรองไปอย่างเดียวและตกการสุ่มคัดเลือก ให้รีบไปสมัครสถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองที่สมัครได้ให้เร็วที่สุด เนื่องจากจะมีคนสละสิทธิ์สถานรับเลี้ยงเด็กนอกการรับรองเมื่อรู้ว่าสามารถเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้การรับรองได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีจำนวนจำกัดจึงควรทำเรื่องให้เร็วที่สุดเข้าไว้

ส่งท้าย

ความแตกต่างของโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และ ECEC ที่เราได้นำเสนอไปในบทความนี้เป็นเพียงแค่จุดเด่นในภาพกว้างๆ ในความเป็นจริงนั้น สถานที่ที่อยู่ในหมวดเดียวกันแต่ละแห่ง ก็อาจมีข้อแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับจุดเด่นและนโยบายของสถานที่ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ก็ยังมีสถานที่ที่รองรับหลายภาษา หรือแม้แต่โรงเรียนนานาชาติก็มีเช่นกัน

การเลือกสถานที่ให้บุตรหลานนั้น นอกจากเรื่องเวลารับฝากแล้ว การดูว่าลักษณะนิสัยของเด็กเข้ากันกับนโยบายของสถานที่นั้นๆ ได้ไหมก็สำคัญไม่แพ้กัน คุณจึงควรตรวจสอบจุดเด่นและนโยบายของสถานที่ใกล้บ้านผ่านทางเว็บไซต์ และอย่าลืมเข้าร่วมทัศนศึกษาและ Orientation ด้วย

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: