เจาะลึก “วีซ่าทำงาน” สิ่งจำเป็นก่อนเริ่มทำงานในญี่ปุ่น!

วีซ่าทำงาน เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติทุกคนจำเป็นต้องมีหากต้องการทำงานในญี่ปุ่น สถานภาพการพำนักนั้นมีอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทก็มีการกำหนดสิทธิในการประกอบอาชีพ กล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจสถานภาพการพำนักนั้นเป็นก้าวแรกของการหางานทำในญี่ปุ่น!
Oyraa

สถานภาพการพำนักที่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือที่เรียกกันติดปากว่าวีซ่าทำงาน เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติทุกคนจำเป็นต้องมีหากต้องการทำงานในญี่ปุ่น สถานภาพการพำนักนั้นมีอยู่หลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่มาเข้าพักในญี่ปุ่น แต่ละประเภทก็มีการกำหนดสิทธิในการประกอบอาชีพ ขอบเขตของงานที่สามารถทำได้ ระยะเวลาที่อนุญาตให้พำนัก และสิทธิในการขอต่อระยะเวลาพำนักไว้อย่างละเอียด กล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจสถานภาพการพำนักนั้นเป็นก้าวแรกของการหางานทำในญี่ปุ่น!

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวีซ่าทำงาน (สถานภาพการพำนักที่สามารถประกอบอาชีพได้)

การที่ชาวต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้ามาพำนักในญี่ปุ่นแบบระยะยาวเพื่อจุดประสงค์บางอย่างได้นั้น จำเป็นต้องมี “สถานภาพการพำนัก” (在留資格) ที่ตรงกับจุดประสงค์นั้นๆ หากเป็นการทำงาน ก็จำเป็นต้องมีสถานภาพการพำนักที่ตรงกับเนื้อหางานที่ทำ คนทั่วไปในญี่ปุ่นนิยมเรียกสถานภาพการพำนักที่อนุญาตให้ทำงานได้นี้ว่า “วีซ่าทำงาน” (就労ビザ) หากคุณเป็นชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานในญี่ปุ่น คุณจำเป็นต้องมีสถานภาพดังกล่าวอยู่หนึ่งประเภท

ประเภทของสถานภาพการพำนัก

สถานภาพการพำนักสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ สถานภาพการพำนักที่สามารถประกอบอาชีพได้ สถานภาพการพำนักตามสถานะทางสังคม สถานภาพการพำนักที่ประกอบอาชีพไม่ได้ และสถานภาพการพำนักที่สามารถประกอบอาชีพได้เฉพาะในกิจกรรมที่กำหนด สถานภาพการพำนักแต่ละประเภทจะถูกกำหนดขอบเขตของกิจกรรมที่สามารถทำได้ในญี่ปุ่นไว้ต่างกัน สิทธิ์ในการประกอบอาชีพและระยะเวลาพำนักก็ต่างกันด้วย

1. สถานภาพการพำนักที่สามารถประกอบอาชีพได้ (ภายในขอบเขตที่กำหนด)

สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการหางานทำในญี่ปุ่น สถานภาพการพำนักที่สามารถขอรับได้จะจำกัดไว้เพียงในสายงานเฉพาะทางที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตามตารางด้านล่างนี้เท่านั้น โดยสถานภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ “เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ งานระหว่างประเทศ (技術・人文知識・国際業務)” หรือที่เรียกกันอย่างย่อๆ ว่า “กิจินโคคุ (技人国)” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 272,000 คน (ไม่นับรวมคนที่อยู่ในสถานภาพแบบฝึกฝนทักษะ)

ในส่วนของสถานภาพการพำนักแบบ “ฝึกฝนทักษะ” (技能実習) นั้น เป็นสถานภาพการพำนักสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่นผ่านระบบฝึกฝนทักษะ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้รับชาวต่างชาติเข้ามาในบริษัทของญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลดังกล่าวนำความรู้และทักษะที่ได้ระหว่างทำงานมาช่วยพัฒนาญี่ปุ่น ปัจจุบันผู้ที่ถือครองสถานภาพการพำนักนี้มีอยู่ประมาณ 411,000 คน มีระยะเวลาพำนักสูงสุดอยู่ที่ 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีสถานภาพการพำนัก “ทักษะพิเศษ 1, 2” (特定技能1号・2号) ที่เพิ่งกำหนดขึ้นใหม่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2019 ที่ผ่านมา จัดเป็นสถานภาพสำหรับชาวต่างชาติที่สามารถเริ่มงานได้ทันทีใน 14 สายงานที่ขาดแคลนบุคลากร โดยประเภททักษะพิเศษ 1 มีระยะเวลาพำนัก 1 ปี, 6 เดือน, หรือ 4 เดือน และสามารถต่ออายุได้จนถึง 5 ปี ในขณะที่ประเภททักษะพิเศษ 2 มีระยะเวลาพำนัก 3 ปี, 1 ปี, หรือ 6 เดือน และสามารถต่ออายุได้อย่างไม่จำกัด

2. สถานภาพการพำนักตามสถานะทางสังคม

สถานภาพการพำนักตามสถานะทางสังคมให้สิทธิ์ในการหางานทำได้อย่างอิสระเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นทั่วๆ ไป สถานภาพนี้มีไว้สำหรับผู้อยู่อาศัยระยะยาว (定住者) ที่ส่วนใหญ่แล้วมีเชื้อสายญี่ปุ่น ผู้อยู่อาศัยถาวร (永住者) ผู้อยู่อาศัยถาวรกรณีพิเศษ (特別永住者) ตามที่กำหนดไว้ใน “กฎหมายพิเศษว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองบุคคลที่สละสัญชาติญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาสันติภาพที่ทำไว้กับญี่ปุ่น” รวมถึงผู้ที่มีคู่สมรสเป็นคนญี่ปุ่นหรือผู้อยู่อาศัยถาวร ในส่วนของระยะเวลาพำนัก ผู้อยู่อาศัยถาวรจะได้รับอนุญาตให้พำนักได้โดยไม่มีกำหนด ในขณะที่แบบอื่นๆ จะสามารถต่ออายุได้สูงสุด 5 ปี

3. สถานภาพการพำนักที่สามารถประกอบอาชีพได้เฉพาะในกิจกรรมที่กำหนด

สถานภาพการพำนักประเภทนี้ ได้แก่ สถานภาพการพำนักเพื่อรองรับกิจกรรมพิเศษ 46 รายการ เช่น คนดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ หรือพยาบาลฝึกหัดชาวต่างชาติตามวีซ่า Working Holiday หรือ EPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ) รวมถึงสถานภาพการพำนักสำหรับ “กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46” (特定活動46号) (กิจกรรมประกอบอาชีพแบบยืดหยุ่นโดยชาวต่างชาติที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น และผ่านการสอบ JLPT ระดับ N1 หรือมีคะแนน BJT สูงกว่า 480 คะแนน) ถือเป็นสถานภาพการพำนักที่เพิ่งกำหนดขึ้นใหม่ในปี 2019

4. สถานภาพการพำนักที่ประกอบอาชีพไม่ได้

ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในญี่ปุ่นด้วยจุดประสงค์อื่นนอกจากการหางาน เช่น กิจกรรมทางวัฒนธรรม ศึกษาต่อ ฝึกงาน หรือพำนักร่วมกับครอบครัว ตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม หากทำเรื่องขอ “ใบอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพ” (資格外活動許可) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ และได้รับการอนุมัติ ก็จะสามารถประกอบอาชีพได้ภายในขอบเขตที่กำหนด นักเรียนแลกเปลี่ยนชาวต่างชาตินิยมใช้วิธีนี้เพื่อขออนุญาตทำงานล่วงเวลา โดยจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่องานนั้นอยู่ภายในขอบเขตที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อจุดประสงค์หลักของสถานภาพการพำนักที่มีอยู่ ในกรณีของนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มีจุดประสงค์หลักเป็นการศึกษา จะต้องเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางเพศ และมีเวลาทำงานไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

▼ ที่มา: “ข้อมูลจำนวนผู้พำนักชาวต่างชาติ ณ ปลายปีเรวะที่ 1” โดยกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง เผยแพร่เมื่อ 27 มีนาคม 2020
http://www.moj.go.jp/nyuukokukanri/kouhou/nyuukokukanri04_00003.html

สถานภาพการพำนักแต่ละประเภทมีเนื้อหางานที่แตกต่างกันไป

สถานภาพการพำนักแต่ละประเภทมีขอบเขตและเนื้อหาของงานที่รองรับแตกต่างกันไป ตัวแปรสำคัญในการอนุมัติสถานภาพการพำนักแต่ละประเภทจึงประกอบไปด้วย เนื้อหางานที่สถานภาพการพำนักนั้นๆ รองรับ เนื้อหางานที่เราจะทำจริงๆ รวมถึงประสบการณ์และทักษะของผู้ยื่นเรื่อง เดิมทีญี่ปุ่นรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงานแค่เพียง 2 กรณี คือ หากไม่เป็นบุคลากรคุณภาพสูงที่มีความรู้เฉพาะทาง ก็ต้องเป็นนักศึกษาฝึกหัดในสายงานด้านเทคโนโลยี แต่ในปัจจุบัน ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้เริ่มมีการเตรียมระบบต่างๆ เพื่อเปิดรับบุคลากรชาวต่างชาติในเงื่อนไขที่หลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเลยเราควรมาดูกันว่าสถานภาพการพำนักแต่ละประเภทนั้นมีเนื้อหางานและประเภทงานที่ครอบคลุมแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ งานระหว่างประเทศ

“เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ งานระหว่างประเทศ” หรือ “กิจินโคคุ” เป็นสถานภาพการพำนักที่ใช้ประโยชน์จากความรู้เฉพาะตัวของชาวต่างชาติหรือความรู้ที่ผ่านการศึกษามาอย่างเป็นระบบ ประกอบไปด้วยเนื้อหางาน 3 ประเภทด้วยกัน ตัวอย่างของอาชีพภายใต้สถานภาพการพำนักนี้ก็ได้แก่ วิศกร นักบัญชี และนักการเงินในสายงานคอมพิวเตอร์ พนักงานทั่วไปที่มีความรู้ด้านมนุษยศาสตร์หรือการให้คำปรึกษา และอาชีพที่ใช้ประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างชาติ เช่น ล่ามหรือธุรกิจระหว่างประเทศ

เงื่อนไขการขอสถานภาพการพำนักประเภทนี้ คือ จำเป็นต้องมีประวัติการศึกษาหรือประสบการณ์ในสายงานนั้นๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ในกรณีของประวัติการศึกษา จำเป็นต้องจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย (หรือมหาวิทยาลัยระยะสั้น) นอกญี่ปุ่น หรือไม่ก็โรงเรียนอาชีวศึกษาในญี่ปุ่น โดยจะมีการขอให้ยื่นปริญญาบัตรหรือทรานสคริปต์เพื่อแสดงเป็นหลักฐาน ในส่วนของประสบการณ์การทำงาน มีเงื่อนไข คือ จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในสายงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือมนุษยศาสตร์มากกว่า 10 ปี และจำเป็นต้องแสดงเอกสารต่างๆ เช่น เอกสารยืนยันการจ้างงานในระยะเวลาดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐาน ด้วยเหตุนี้เอง ประสบการณ์ในงานที่ไม่ต้องการความรู้เชิงวิชาการแต่อาศัยเพียงทักษะที่ได้จากการทำซ้ำไปซ้ำมา เช่น กรรมกร แรงงานในสายการผลิต และพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร จึงไม่สามารถใช้ขอสถานภาพการพำนักชนิดนี้ได้

กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46

“กิจกรรมพิเศษ” (特定活動) เป็นประเภทของสถานภาพการพำนักแบบพิเศษที่ไม่สามารถจัดให้อยู่ในประเภทอื่นๆ โดยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดขอบเขตของกิจกรรมให้ชาวต่างชาติเป็นกรณีๆ ไป ในทางปฏิบัติแล้วกิจกรรมพิเศษนี้มีขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมใหม่ๆ ตามความต้องการของสังคมที่การจ้างงานชาวต่างชาติมีความหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ

ส่วน “กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46” ที่เพิ่งกำหนดขึ้นมาใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 นั้น มีไว้เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหรือบัณฑิตวิทยาลัยในญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ ถึงแม้นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติจะจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น แต่ก็มีขอบเขตของงานที่สามารถทำได้ค่อนข้างแคบ ทำให้หลายๆ คนไม่ได้รับอนุมัติสถานภาพการพำนัก ด้วยเหตุนี้เอง “กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46” จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ให้สามารถทำงานต่อหลังจบการศึกษาในญี่ปุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องทำงานที่ต้องการ “ความรู้ชั้นสูงหรือทักษะภาษาต่างประเทศ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขของสถานภาพการพำนักกิจินโคคุ

เงื่อนไขด้านประวัติการศึกษาของสถานภาพการพำนักประเภทนี้ ได้แก่ ต้องจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือบัณฑิตวิทยาลัยในญี่ปุ่น ได้รับปริญญา และผ่านการสอบ JLPT ระดับ N1 หรือได้คะแนน BJT เกินกว่า 480 คะแนน (ไม่จำเป็นต้องจบเอกภาษาญี่ปุ่น) ส่วนเงื่อนไขด้านรายละเอียดงาน ได้แก่ ต้องเป็นการจ้างงานเต็มเวลา (พนักงานล่วงเวลา พนักงานพาร์ทไทม์ และพนักงานจัดหาไม่สามารถขอได้) ได้รับเงินค่าตอบแทนเท่าเทียมหรือสูงกว่าคนญี่ปุ่น เป็นงานที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นสื่อสาร และเป็นงานที่ใช้ความรู้ที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยหรือบัณฑิตวิทยาลัยในญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ แต่ก็ไม่ได้มีการจำกัดอาชีพเหมือนอย่างสถานภาพการพำนักประเภททักษะพิเศษ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งของสถานภาพนี้ จึงไม่ครอบคลุมไปถึงงานที่ใช้แต่แรงงานเพียงอย่างเดียว

ระยะเวลาพำนักของสถานภาพนี้ คือ ไม่เกิน 5 ปี เนื่องจากสามารถต่ออายุได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังได้รับการจ้างงานอยู่ และอนุญาตให้นำครอบครัวเข้ามาพำนักด้วย ทำให้สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวในสายงานนั้นๆ และตั้งเป้าสู่ตำแหน่งสูงๆ ได้ในอนาคต สถานภาพการพำนักนี้จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลานานๆ

ทักษะพิเศษประเภทที่ 1, 2

Photo: PIXTA

“ทักษะพิเศษประเภทที่ 1, 2” เป็นสถานภาพการพำนักที่เพิ่งถูกกำหนดขึ้นใหม่เมื่อเดือนเมษายนปี 2019 เพื่อรองรับการประกอบอาชีพของชาวต่างชาติในงาน 14 ประเภทที่ญี่ปุ่นขาดแคลนบุคลากร ทักษะพิเศษประเภทที่ 2 ต้องการความเชี่ยวชาญที่มากกว่าประเภทที่ 1 จึงทำให้การขออนุมัติก็ยากกว่ากันด้วย ประเภทงานที่ทักษะพิเศษประเภทที่ 1 รองรับนั้นประกอบไปด้วย งานดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ, งานทำความสะอาด, อาคาร, เกษตรกรรม, ประมง, ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม, อาหารเทคโฮม, หลอมและขึ้นรูป, ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม, กิจการเกี่ยวกับไฟฟ้าและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, ก่อสร้าง, ต่อเรือ, ซ่อมบำรุงรถยนต์, การบิน, ที่พัก ปัจจุบันมีเพียงแค่ก่อสร้างกับต่อเรือเท่านั้นที่สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอเลื่อนระดับเป็น “ทักษะพิเศษประเภทที่ 2” ได้

เงื่อนไขของสถานภาพการพำนักนี้ ได้แก่ ต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปี ผ่านการทดสอบทักษะในประเภทงานนั้นๆ และผ่านการสอบ JLPT ระดับ N4 ขึ้นไป * และไม่ได้พำนักอยู่ในสถานภาพทักษะพิเศษประเภทที่ 1 มาเกินกว่า 5 ปี ทักษะพิเศษประเภทที่ 1 มีระยะเวลาพำนักสูงสุด 5 ปี และเมื่อเกินไปแล้วจะไม่สามารถต่อใหม่ได้ ในขณะที่ทักษะพิเศษประเภทที่ 2 ไม่มีกำหนดระยะเวลาพำนัก และสามารถต่อใหม่ได้ตลอด ทักษะพิเศษประเภทที่ 1 แตกต่างกับสถานภาพกิจินโคคุตรงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ใช้ความรู้ขั้นสูงหรือความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ทำให้สามารถประกอบอาชีพอย่างแรงงานทั่วไปได้ คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติที่จบการศึกษาในญี่ปุ่นยกเว้นสำหรับชาวต่างชาติที่ผ่านสถานภาพ “ฝึกฝนทักษะ 2” (技能実習2)

* ยกเว้นสำหรับชาวต่างชาติที่ผ่านสถานภาพ “ฝึกฝนทักษะ 2” (技能実習2)

งานล่วงเวลาต่างๆ

สิทธิ์ในการทำงานล่วงเวลานั้นแตกต่างไปตามขอบเขตของสถานภาพการพำนักแต่ละประเภท แม้แต่ในกรณีที่สามารถทำได้ หากมีเนื้อหางานที่ต่างไปจากกิจกรรมของสถานภาพการพำนักเดิม ก็จำเป็นต้องขอ “คำอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพ” ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของ “กิจินโคคุ” ซึ่งเป็นสถานภาพที่อนุญาตให้ทำงานล่วงเวลาได้ หากรับสถานภาพนี้โดยระบุรายละเอียดกิจกรรมเป็นล่ามหรือแปลภาษา แม้ว่าจะสามารถทำงานล่วงเวลาด้านการแปลภาษาได้ แต่จะไม่สามารถทำงานล่วงเวลาอื่นๆ เช่น วิทยากรพิเศษตามมหาวิทยาลัยหรือนางแบบโฆษณา หากต้องการทำงานล่วงเวลาอื่นๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องขอ “คำอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพ” แยกต่างหากอยู่เสมอ

ในกรณีของสถานภาพการพำนักอื่นๆ เช่น “ศึกษาต่อ” (留学) หรือ “พำนักร่วมกับครอบครัว” (家族滞在) ก็สามารถทำงานล่วงเวลาได้เช่นกัน แต่เนื่องจากขอบเขตกิจกรรมของสถานภาพเหล่านี้ไม่ครอบคลุมไปถึงการประกอบอาชีพ จึงจำเป็นต้องขอ “ใบอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพ” อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นงานล่วงเวลาแบบใดก็ตาม เงื่อนไขการอนุมัติ “คำอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพ” ประกอบไปด้วย ต้องมีเวลาทำงานไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางเพศ โดยผู้ขอคำอนุญาตจำเป็นต้องเดินทางไปยื่นเรื่องด้วยตัวเองที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนในการเดินเรื่อง การทำงานก่อนได้รับคำอนุญาตนั้นถือเป็นความผิดที่ทั้งฝ่ายผู้ทำงานและผู้ว่าจ้างต้องรับโทษ จึงควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ข้อแตกต่างหลักๆ ของบุคลากรต่างชาติแต่ละประเภท

▼ อ้างอิง
“ระบบฝึกฝนทักษะ: งานและประเภทงานที่รองรับ” โดย กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ
https://www.mhlw.go.jp/stf/seisakunitsuite/bunya/koyou_roudou/jinzaikaihatsu/global_cooperation/index.html
“การจ้างงานชาวต่างชาติสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้มาก่อน” โดย Takeuchi Kouichi

เอกสารที่จำเป็นและวิธีขอวีซ่าประกอบอาชีพ

Photo: PIXTA

เอกสารที่จำเป็นต่อการขอวีซ่าประกอบอาชีพนั้นจะแตกต่างไปตามสถานการณ์ของผู้ยื่นเรื่องแต่ละคน ในที่นี้เราขอยกกรณีทำงานในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก กรณีเปลี่ยนงาน และกรณียื่นเรื่องจากต่างประเทศมาให้ได้ทราบกัน อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีควรสอบถามรายละเอียดจากบริษัทปลายทางของเราให้ชัดเจนอีกครั้งด้วย

1. กรณีหางานทำหลังจบการศึกษาในญี่ปุ่น

เนื่องจากสถานภาพการพำนัก “ศึกษาต่อ” นั้นเป็นสถานภาพที่ไม่รองรับการประกอบอาชีพ ชาวต่างชาติที่จบการศึกษาในญี่ปุ่นและอยากหางานทำต่อจึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก

ในกรณีนี้จำเป็นต้องยื่น “เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก” “เอกสารรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่ (ในกรณีนี้คือโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย)” และเอกสารที่จำเป็นอื่นๆ ผู้ยื่นเรื่องต้องเดินทางไปติดต่อกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ด้วยตัวเอง และยื่นเอกสารที่จัดเตรียมมาด้วยตัวเองหรือจ้างวานให้ทนายความหรือบริษัทรับรองเอกสารจัดเตรียมให้ เนื่องจากเอกสารที่จำเป็นมีทั้งแบบที่ผู้ยื่นเรื่องสามารถทำขึ้นได้เอง และเอกสารที่ต้องให้ทางบริษัทที่เราจะเข้าทำงานทำขึ้น จึงไม่ควรลืมที่จะขอรับเอกสารดังกล่าวจากบริษัทของเรา นอกจากนี้ เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนักยังจำเป็นต้องได้รับการประทับตรารับรองจากทางบริษัทอีกด้วย

<เอกสารที่ผู้ยื่นเรื่องต้องเตรียม>
・พาสปอร์ต (หรือเอกสารรับรองการเดินทาง) และบัตรผู้พำนัก (ไซริวการ์ด)
 * ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าพาสปอร์ตยังไม่หมดอายุ
・ประวัติส่วนตัว
・เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก (รูปแบบต่างกันไปตามสถานภาพที่ขอ)
* จำเป็นต้องใช้รูปถ่ายยืนยันตัวตน (สูง 4 ซม. x กว้าง 3 ซม. พื้นหลังขาวหรือสีเรียบ และถ่ายภายใน 3 เดือนที่แล้ว)
・เอกสารชี้แจงเหตุผล (เลือกส่งหรือไม่ก็ได้ ไม่มีกำหนดรูปแบบตายตัว อาจช่วยในการตัดสินหากเขียนอธิบายสาเหตุของการหางาน และความเกี่ยวข้องกันระหว่างสายวิชาที่เรียนมากับงานที่จะทำ)

<เอกสารที่บริษัทผู้ว่าจ้างต้องเตรียม>
・สำเนาสัญญาจ้างงาน
・สำเนาใบรับรองประกอบกิจการและสำเนางบการเงิน
・ตารางระเบียนสุทธิ (法定調書合計表)
・เอกสารแนะนำตัวของบริษัท (แผ่นพับหรือเว็บไซต์ก็ได้เช่นกัน)
・เอกสารชี้แจงเหตุผลการจ้าง (เลือกส่งหรือไม่ก็ได้ ไม่มีกำหนดรูปแบบตายตัว มีไว้สำหรับระบุเนื้อหาของงาน เหตุผลและที่มาที่ไปในการจ้างงาน)

<เอกสารที่รับจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย>
・ประกาศนียบัตรหรือเอกสารรับรองว่าจะจบการศึกษาในอนาคต
・ใบทรานสคริปต์ (กรณีที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะทำ)

โดยพื้นฐานแล้วเอกสารที่จำเป็นก็มีดังที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปกติแล้วทางบริษัทจะมีผู้รับผิดชอบที่เชี่ยวชาญเรื่องขั้นตอนต่างๆ อยู่ หากทำตามคำแนะนำของบริษัทก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การยื่นขออนุญาตใช้เวลาประมาณ 1 – 2 เดือน เนื่องจากในช่วงฤดูสำเร็จการศึกษา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะคึกคักเป็นประจำทุกปี จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมไว้ตั้งแต่ 3 – 4 เดือนก่อนจบการศึกษา

2. กรณีที่ทำงานอยู่แล้ว และต้องการย้ายงานไปบริษัทอื่น

หากชาวต่างชาติที่มีวีซ่าประกอบอาชีพทำการเปลี่ยนงาน สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำก็คือ ยื่น “เอกสารรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่” โดยต้องนำไปยื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายใน 13 วันหลังจากเปลี่ยนงาน หากละเลยจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 200,000 เยน และอาจส่งผลต่อการพิจารณาต่ออายุสถานภาพการพำนักครั้งต่อไป

เนื่องจากความจำเป็นในการเปลี่ยนสถานภาพการพำนักขึ้นอยู่กับเนื้อหางานของที่ทำงานเก่าและใหม่ เราจึงขอยกตัวอย่างกรณีหลักๆ มาให้รู้จักกัน ดังนี้

กรณีที่เนื้อหางานไม่เปลี่ยน (เปลี่ยนเฉพาะบริษัทที่ทำงาน)

กรณีที่เปลี่ยนเพียงสถานที่ทำงานแต่ไม่เปลี่ยนเนื้อหางาน เนื่องจากสามารถทำกิจกรรมโดยใช้สถานภาพการพำนักเดิมได้ จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก แค่ยื่น “เอกสารรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่” ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สถานภาพการพำนักที่ถือครองอยู่ได้รับอนุญาตมาเพื่อเข้าทำงานในบริษัทเดิม ก็จะไม่สามารถนำไปใช้กับบริษัทใหม่ได้ จึงส่งผลให้การขอต่อสถานภาพการพำนักครั้งต่อไปอาจไม่ได้รับการอนุมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ หากยื่นขอ “เอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน” (就労資格証明書) (เอกสารที่ช่วยยืนยันว่าเนื้อหางานที่ทำตรงกับสถานภาพการพำนักที่มี ซึ่งสามารถขอได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาต่ออายุสถานภาพการพำนัก) ไว้ก่อนก็จะสบายใจขึ้นมาก แม้ว่าเอกสารนี้จะไม่ถือว่าเป็นเอกสารจำเป็น แต่หากมีแล้วก็จะช่วยให้ความเสี่ยงที่สถานภาพการพำนักจะต่ออายุไม่ผ่านลดน้อยลงไปมาก นอกจากนี้ ในกรณีที่มีระยะเวลาพำนักไม่เกิน 3 เดือน ก็สามารถยื่นรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่ และขอต่ออายุสถานภาพการพำนักได้เลย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขอไม่ผ่านแม้ไม่มีเอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน

<เอกสารที่ผู้ยื่นเรื่องต้องเตรียม>
・บัตรผู้พำนัก (ไซริวการ์ด)
・เอกสารรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่
・(เอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน)

○ กรณีที่เนื้อหางานเปลี่ยน แต่อยู่ภายในขอบเขตของสถานภาพการพำนักเดิม

กรณีที่เปลี่ยนทั้งที่ทำงานและเนื้อหางาน แต่กิจกรรมที่ทำยังอยู่ภายในขอบเขตของสถานภาพการพำนักเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนงานจากล่ามเป็นวิศกรไอที แม้เนื้อหางานจะไม่เหมือนกัน แต่ทั้งสองงานก็ยังอยู่ในขอบเขตของสถานภาพการพำนักแบบ “เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ งานระหว่างประเทศ” ในกรณีนี้แค่ยื่นรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม หากขอ “เอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน” ไว้ด้วย ก็จะช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเนื้อหางานยังอยู่ในขอบเขตสถานภาพการพำนักของเราหรือไม่ แม้ว่าเอกสารนี้จะไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่หากมีไว้ก็จะช่วยให้ต่อสถานภาพการพำนักได้ง่ายขึ้น

เช่นเดียวกับกรณีที่แล้ว หากมีระยะเวลาพำนักเหลือไม่ถึง 3 เดือน ก็สามารถยื่นรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่ และขอต่ออายุสถานภาพการพำนักได้เลย

<เอกสารที่ผู้ยื่นเรื่องต้องเตรียม>
・บัตรผู้พำนัก
・รายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่
・(เอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน)

○ กรณีที่เนื้อหางานเปลี่ยน และอยู่นอกเหนือขอบเขตของสถานภาพการพำนักเดิม

ในกรณีที่เนื้อหาของงานใหม่อยู่นอกขอบเขตของสถานภาพการพำนักที่มีอยู่ จำเป็นต้องขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนักไว้ล่วงหน้า ตัวอย่างของกรณีนี้ก็เช่น ผู้ที่ทำงานเป็นครูอยู่ในโรงเรียน (สถานภาพการพำนัก “การศึกษา”) เปลี่ยนไปทำงานล่าม (สถานภาพการพำนัก “เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ งานระหว่างประเทศ”) ในการเปลี่ยนสถานภาพ ผู้ยื่นเรื่องต้องเดินทางไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในพื้นที่ และยื่น “เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก” (在留資格変更許可申請) พร้อมเอกสารที่จำเป็นอื่นๆ ในกระบวนการตัดสินจะมีการตรวจสอบความเกี่ยวข้องระหว่างเนื้อหางานใหม่กับประวัติและทักษะของผู้ยื่นเรื่องเช่นเดียวกับการขอสถานภาพการพำนักครั้งแรก หากมีความเกี่ยวข้องน้อย ก็อาจไม่สามารถต่ออายุสถานภาพการพำนักได้

<เอกสารที่ผู้ยื่นเรื่องต้องเตรียม>
・บัตรผู้พำนัก (ไซริวการ์ด)
・รายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่
・เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก และเอกสารที่จำเป็นอื่นๆ

○ กรณีที่เปลี่ยนงานภายใต้สถานภาพการพำนัก “กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46”

เนื่องจาก “กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46” เป็นสถานภาพที่มอบให้โดยผูกขาดกับองค์กรที่สังกัด ส่งผลให้แม้ว่าบริษัทปลายทางจะมีเนื้อหางานเดียวกัน ก็จำเป็นต้องขอสถานภาพการพำนักใหม่ ในกรณีนี้ให้ทำการยื่น “เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก” และขอรับสถานภาพ “กิจกรรมพิเศษประเภทที่ 46” ที่ผูกเข้ากับบริษัทใหม่ของเรา

<เอกสารที่ผู้ยื่นเรื่องต้องเตรียม>
・บัตรผู้พำนัก (ไซริวการ์ด)
・เอกสารรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่
・เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก

○ เอกสารที่จำเป็นในการขอเอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน

・ใบขอรับเอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน (就労資格証明交付申請書)
・ใบอนุญาตประกอบกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพ (เฉพาะผู้ที่มี)
・บัตรผู้พำนัก หรือ เอกสารยืนยันผู้อยู่อาศัยถาวรกรณีพิเศษ (特別永住者証明書)
・พาสปอร์ต หรือ เอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก (在留資格証明書)
・ใบยืนยันการหักภาษี ณ ที่จ่าย (源泉徴収票) (ขอรับจากบริษัทเดิม)
・เอกสารยืนยันการลาออก (退職証明書) (ขอรับจากบริษัทเดิม)
・เอกสารแสดงเค้าโครงของบริษัทใหม่ (สำเนาใบรับรองประกอบกิจการ สำเนางบการเงิน หรือเอกสารแนะนำตัวของบริษัท)
・สัญญาจ้างงาน จดหมายเสนองาน หรือใบแจ้งเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทใหม่

3. กรณีที่ได้รับการจ้างงานขณะอยู่ในต่างประเทศ (ขอรับสถานภาพการพำนักครั้งแรก)

ในกรณีของชาวต่างชาติที่กำลังอยู่ในต่างประเทศได้รับการจ้างงานในญี่ปุ่น จำเป็นต้องเดินเรื่อง “ขอรับเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก” (在留資格認定証明書交付申請) ก่อนเข้าญี่ปุ่น ซึ่งจำเป็นต้องเดินเรื่องโดยเจ้าตัวหรือตัวแทน แต่เนื่องจากเจ้าตัวอยู่ในต่างประเทศ ปกติแล้วขั้นตอนนี้จึงทำโดยตัวแทนจากบริษัทที่จะรับเราเข้าทำงานเสียส่วนใหญ่

กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากที่ได้รับเอกสารแล้ว ให้ผู้ยื่นเรื่องนำเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก เอกสารขอวีซ่า และเอกสารที่จำเป็นอื่นๆ ไปที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลในประเทศไทย และยื่นขอวีซ่า หลังจากได้รับวีซ่าแล้วก็จะสามารถเดินทางมาญี่ปุ่นได้ (วีซ่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสถานภาพการพำนัก แต่หมายถึงวีซ่าเพื่อขอเข้าประเทศญี่ปุ่น) หลังจากเดินทางมาถึงญี่ปุ่น ให้แสดงวีซ่าเพื่อเข้าขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นก็จะได้รับสถานภาพการพำนักและระยะเวลาพำนักที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเข้าพำนักของเรา สนามบินส่วนใหญ่ เช่น สนามบินนาริตะ จะสามารถออกบัตรผู้พำนักให้เราได้เลย ทำให้สามารถเริ่มงานได้ทันทีในวันนั้น

การขอสถานภาพการพำนักครั้งแรกอาจเต็มไปด้วยเรื่องที่ไม่คุ้นชิน ขั้นตอนต่างๆ ก็มีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องเดินเรื่องอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ให้หมั่นติดต่อกับผู้รับผิดชอบจากบริษัทปลายทางของเรา เตรียมเอกสารให้พร้อม และตรวจสอบตารางเวลาให้ดี

<เอกสารที่ผู้ยื่นเรื่องต้องเตรียม>
・พาสปอร์ต
・รูปถ่ายยืนยันตัวตน (สูง 4 ซม. x กว้าง 3 ซม. พื้นหลังขาวหรือสีเรียบ และถ่ายภายใน 3 เดือนที่แล้ว) จำนวน 2 ใบ
・ประกาศนียบัตร เอกสารรับรองว่าจะจบการศึกษาในอนาคต หรือประวัติการทำงาน
・เอกสารยืนยันการสอบผ่าน JLPT (เลือกส่งหรือไม่ก็ได้)

<เอกสารที่บริษัทผู้ว่าจ้างต้องเตรียม>
・ใบขอรับเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก
・สำเนาสัญญาจ้างงาน
・สำเนาใบรับรองประกอบกิจการและสำเนางบการเงิน
・ตารางระเบียนสุทธิ
・เอกสารแนะนำตัวของบริษัท (แผ่นพับหรือเว็บไซต์ก็ได้เช่นกัน)
・เอกสารชี้แจงเหตุผลการจ้าง (เลือกส่งหรือไม่ก็ได้ ไม่มีกำหนดรูปแบบตายตัว มีไว้สำหรับระบุเนื้อหาของงาน เหตุผลและที่มาที่ไปในการจ้างงาน)

4. กรณีที่ได้รับการเสนองาน แต่เหลือระยะเวลาพำนักไม่ถึง 3 เดือน

หากเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะเกิดการย้ายงาน แต่มีระยะเวลาพำนักเหลือไม่ถึง 3 เดือน หลังรายงานเกี่ยวกับการย้ายงานเสร็จสิ้นแล้ว จำเป็นต้องยื่น “เอกสารขอต่ออายุสถานภาพการพำนัก” (在留期間更新許可申請) เสมอ โดยสามารถเดินเรื่องได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ โดยทั่วไปจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน ตามกฎหมายแล้วจำเป็นต้องต่ออายุสถานภาพการพำนักก่อนที่ระยะเวลาพำนักจะหมดอายุ หากไม่ทำการต่อจะถือว่าเป็นผู้อยู่อาศัยที่ไม่ชอบตามกฎหมาย มีโทษหนักกับทั้งฝ่ายชาวต่างชาติและผู้ว่าจ้าง จึงควรระมัดระวังไว้เป็นพิเศษ

เอกสารที่กล่าวไปทั้งหมดสามารถขอรับได้จากเคาน์เตอร์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือจะดาวน์โหลดจากลิงก์ด้านล่างนี้ก็ได้

▼ ขั้นตอนเกี่ยวกับกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและการรับรองผู้อพยพ (เว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรม)
http://www.moj.go.jp/tetsuduki_shutsunyukoku.html
▼ เอกสารขอรับเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก
http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-1.html
▼ เอกสารขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก
http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-2-1.html
▼ เอกสารขอต่ออายุสถานภาพการพำนัก
http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-3.html
▼ เอกสารขอรับสถานภาพการพำนัก
http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-10.html
▼ เอกสารขออนุญาตทำกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพการพำนัก
http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-8.html
▼ เอกสารขอรับเอกสารรับรองสถานภาพการทำงาน
http://www.moj.go.jp/ONLINE/IMMIGRATION/16-9.html
▼ เอกสารรายงานเกี่ยวกับองค์กรที่สังกัดอยู่
http://www.moj.go.jp/nyuukokukanri/kouhou/nyuukokukanri10_00015.html

วิธีตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ

บัตรผู้พำนัก (หน้า)
บัตรผู้พำนัก (หลัง)

ในกรณีที่ต้องยืนยันสิทธิ์ในการประกอบอาชีพหรือขอบเขตที่สามารถประกอบอาชีพได้ให้กับบริษัทที่เราจะเข้าทำงาน ขอแนะนำให้แสดงบัตรผู้พำนักให้อีกฝ่ายดู อันดับแรก คือ ช่อง “ข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ” (就労制限の有無) ที่อยู่ด้านหน้า จะมีการระบุข้อความที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีความหมายดังนี้ :

  • หากระบุว่า ไม่มีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ (就労制限なし) หมายถึง ไม่มีข้อจำกัดในเนื้อหางาน
  • หากระบุว่า เฉพาะกิจกรรมประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับสถานภาพการพำนัก (在留資格に基づく就労活動のみ可) หมายถึง สามารถทำงานได้เฉพาะในกิจกรรมที่สถานภาพการพำนักอนุญาตเท่านั้น
  • หากระบุว่า เฉพาะกิจกรรมประกอบอาชีพตามที่เอกสารกำหนดไว้ (指定書により指定された就労活動のみ可) จะเป็นการระบุสำหรับสถานภาพการพำนักที่มีจุดประสงค์ในการทำ “กิจกรรมพิเศษ” ในกรณีนี้ให้แสดงพร้อมกับเอกสารระบุรายละเอียดกิจกรรมที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่แปะอยู่ในพาสปอร์ต

ในกรณีที่ระบุว่า “ประกอบอาชีพไม่ได้” (就労不可) ตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้ขออนุญาตทำกิจกรรมนอกสถานภาพไว้ ซึ่งจะมีการประทับตราระบุไว้ที่ด้านหลังของบัตร จึงไม่ควรลืมที่จะแสดงด้านหลังให้ดูด้วย โดยการอนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกสถานภาพมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

  • อนุญาต (ไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางเพศ) (許可 (原則週28時間以内・風俗営業等の従事を除く))
  • อนุญาต (กิจกรรมภายในขอบเขตที่เอกสารอนุญาตทำกิจกรรมนอกสถานภาพระบุไว้) (資格外活動許可書に記載された範囲内の活動)

* หากเป็นข้อ 2. ก็ให้แสดงเอกสารดังกล่าวพร้อมไปด้วย

กรณีหลักๆ ที่ทำให้การขอวีซ่าประกอบอาชีพผ่านหรือไม่ผ่าน

ตัวแปรสำคัญในการขอวีซ่าประกอบอาชีพ คือ ผู้ยื่นขอมีเงื่อนไขที่สอดคล้องกับสถานภาพการพำนักที่ขอหรือไม่ สถานภาพการพำนักส่วนใหญ่ต้องการความสอดคล้องกันระหว่างเนื้อหางานกับทักษะเฉพาะทางที่ผู้ยื่นขอมี เช่น ในกรณีที่จบวิทยาลัยวิศวกรรมระบบ 4 ปี และเข้าทำงานพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขเดียวกับคนญี่ปุ่น จะเป็นไปได้สูงว่าการขอจะผ่านเนื่องจากเนื้อหางานและเนื้อหาการศึกษามีความสอดคล้องกัน

อีกด้านหนึ่ง ในกรณีที่เรียนจบตกแต่งภายในแต่เข้าทำงานล่ามหรือแปลภาษา จะเสี่ยงต่อการขอไม่ผ่านมากกว่า เนื่องจากเนื้อหางานและเนื้อหาการศึกษาไม่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่เนื้อหางานเป็นงานที่ไม่ต้องการทักษะเฉพาะทาง เช่น งานสายผลิตในโรงงานหรืองานเสิร์ฟตามร้านอาหาร ก็อาจขอผ่านได้ยากเช่นกัน ไม่เกี่ยวว่าสถานภาพที่เราขอจะเป็นสถานภาพการพำนัก “ทักษะพิเศษ” หรือไม่

อีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวังไว้ คือ พฤติกรรมที่ไม่ดีของผู้ยื่นเรื่อง หากมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง เช่น พำนักเกินเวลาวีซ่า และมีการลงบันทึกพฤติกรรมดังกล่าวไว้ จะเป็นไปได้สูงมากที่การขอจะไม่ผ่าน แม้แต่ในกรณีที่มีสถานภาพการพำนักอยู่แล้วก็เช่นกัน หากมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือละเลยการจ่ายภาษี ก็อาจเป็นอุปสรรคในการต่ออายุหรือเปลี่ยนสถานภาพการพำนักได้ จึงควรใช้ชีวิตประจำวันโดยระมัดระวังให้มาก ในกรณีของนักศึกษาแลกเปลี่ยน หากทำงานพิเศษนอกเหนือขอบเขตการอนุญาตทำกิจกรรมนอกสถานภาพ หรือมีเกรดและอัตราการเข้าเรียนที่ไม่ดี ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้การขอไม่ผ่าน แม้จะเป็นนักเรียนนักศึกษาก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานภาพการพำนักไว้ด้วย

หากขอต่ออายุหรือเปลี่ยนสถานภาพการพำนักไม่ผ่าน จะทำอย่างไรดี?

ในกรณีที่ขอต่ออายุหรือเปลี่ยนสถานภาพการพำนักไม่ผ่าน ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งหมายแจ้งมาให้เรา หมายแจ้งนี้จะไม่บอกเหตุผลว่าเหตุใดจึงขอไม่ผ่าน หากต้องการทราบ เราจำเป็นต้องเดินทางไปรับการสัมภาษณ์และสอบถามจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยตรง อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์นี้จำกัดจำนวนครั้งแค่ครั้งเดียวเท่านั้น หากภาษาญี่ปุ่นไม่ดีพอจนไม่สามารถสอบถามสิ่งที่ควรแก้ไขได้ การยื่นเรื่องครั้งต่อไปก็อาจไม่ผ่านเหมือนเดิม ดังนั้น สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจ เราจึงขอแนะนำให้พาคนจากที่ทำงาน โรงเรียน หรือบริษัทรับรองเอกสารไปเข้าสัมภาษณ์ด้วย เมื่อเข้าใจสาเหตุของการไม่ผ่านแล้ว จะสามารถเดินเรื่องใหม่กี่ครั้งก็ได้เพื่อแก้ไขสาเหตุนั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตัดสินครั้งต่อๆ ไปมีแนวโน้มที่เข้มงวดกว่าครั้งแรก จึงควรเดินเรื่องอย่างระมัดระวังให้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรกจะดีกว่า

ข้อควรระวังในการขอต่ออายุหรือเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก

ขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับสถานภาพการพำนักนั้น ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องใช้เวลา เนื่องจากอาจใช้เวลา 2 – 3 เดือนหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและรายละเอียดการยื่นเรื่อง ทั้งขั้นตอนตรวจสอบอาจยืดเยื้อได้นาน จึงควรเดินเรื่องไว้แต่เนิ่นๆ เสมอ หากระยะเวลาพำนักของสถานภาพที่ถืออยู่มีมากกว่า 6 เดือน จะสามารถขอต่ออายุหรือเปลี่ยนได้ตั้งแต่ก่อนหมดอายุ 3 เดือน นอกจากนี้ หากมีเหตุผลพิเศษ เช่น ป่วยหรือมีทริปธุรกิจระยะยาว ก็อาจขอต่ออายุได้โดยไม่รอให้เหลือ 3 เดือน จึงขอแนะนำให้สอบถามล่วงหน้าไว้ก่อน

ในทางตรงกันข้าม หากรอให้เวลาเหลือน้อยๆ แล้วค่อยต่ออายุ สถานภาพการพำนักอาจเสี่ยงที่จะหมดอายุก่อนผลการตรวจสอบจะส่งมาถึง ในกรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็นการพำนักโดยผิดกฎหมาย หากยื่นเรื่องไปก่อนที่จะหมดอายุก็สามารถพำนักต่อได้สูงสุด 2 เดือนหลังจากวันหมดอายุ อย่างไรก็ตาม หากในขณะที่รออยู่มีหมายแจ้งมาว่าการยื่นเรื่องไม่ผ่าน ก็จะถือว่าระยะเวลาพำนักสิ้นสุดทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบ 2 เดือน พร้อมกับคำสั่งจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้เตรียมตัวกลับประเทศ ในกรณีของสถานภาพการพำนักแบบ “กิจกรรมพิเศษ” จะให้เวลาเตรียมตัวกลับประเทศ 30 หรือ 31 วัน และเฉพาะในกรณีที่ได้รับเวลา 31 วันเท่านั้นที่จะสามารถลองเดินเรื่องใหม่และรับเวลาพำนักเพิ่ม 2 เดือนได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวลาในการเตรียมตัวมีน้อยมาก ทางที่ดีจึงควรยื่นเรื่องต่ออายุไว้แต่เนิ่นๆ เสมอ

การเดินเรื่องเกี่ยวกับวีซ่าประกอบอาชีพทั้งหมดนี้ สามารถจ้างวานให้บริษัทรับรองเอกสารทำแทนได้!

Photo: PIXTA

โดยทั่วไป การขอสถานภาพการพำนักจำเป็นต้องให้ผู้ยื่นเรื่องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้ยื่นเรื่องมักอยู่ในต่างประเทศ จึงอนุญาตให้ตัวแทนทำขั้นตอนเหล่านี้แทนได้ ผู้ที่จะสามารถเป็นตัวแทนได้ก็คือ ทนายความหรือคนรับรองเอกสารที่สามารถเดินทางไปยื่นเรื่องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำพื้นที่ที่เราจะเข้าพำนัก เนื่องจากการเป็นตัวแทนนี้จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนและการสอบ ประกอบกับมีประสบการณ์เกี่ยวกับสถานภาพการพำนักค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญขั้นตอนและเอกสารเหล่านี้ทั้งนั้น สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา ไม่มีความช่วยเหลือจากทางบริษัท หรือกังวลที่จะเดินเรื่องด้วยตัวเอง หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ คือ ใช้บริการบริษัทรับรองเอกสารที่เชี่ยวชาญเรื่องสถานภาพการพำนักโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ทนายความหรือคนรับรองเอกสารที่ได้รับการระบุเป็นตัวแทนยื่นเรื่องจะครอบครองเอกสารรับรองการเป็นตัวแทน ก่อนเลือกใช้บริการจึงควรตรวจสอบให้ดีด้วย

บริษัทรับรองเอกสารที่ให้คำปรึกษาบทความนี้

IVY Associates
จุดหมายหลักของเรา คือ ให้บริการเกี่ยวกับวีซ่าและการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของคุณทั้งในด้านธุรกิจและส่วนบุคคล

ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี ในฐานะบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศและบริษัททนายความด้านการตรวจคนเข้าเมือง เราสัญญาว่าจะมอบทางออกที่ดีที่สุดให้กับปัญหาด้านธุรกิจและการตรวจคนเข้าเมืองของคุณ

เว็บไซต์: https://visaimmigration.jp/

หากต้องการที่จะทำงานที่ชอบในเงื่อนไขที่ต้องการในญี่ปุ่น อันดับแรก คุณต้องมองหาวีซ่าทำงานที่ตรงกับตัวเอง เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากมาย ทั้งยังยากต่อการเข้าใจ จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเดินทางมาญี่ปุ่น มาเริ่มจากการตรวจสอบจุดเด่นและข้อควรระวังของสถานภาพการพำนักแต่ละประเภท และจินตนาการถึงงานที่คุณอยากทำและอนาคตในญี่ปุ่นของคุณกันเถอะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊กได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: