รู้ครบเรื่องสถานภาพการพำนักที่ญี่ปุ่น : ประเภทและวิธีการยื่นเรื่อง

Oyraa

เมื่อคุณมาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น คุณก็ควรทำความเข้าใจเรื่อง “สถานภาพการพำนัก (在留資格)” เอาไว้ด้วย เพราะไม่ว่าจะมาเรียนต่อ ทำงาน หรือเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแบบระยะยาวก็จำเป็นจะต้องมีสถานภาพการพำนักที่เอื้อต่อการปฏิบัติกิจกรรมที่ตรงกับวัตถุประสงค์หลัก และในบางกรณีคุณก็อาจจะต้องเปลี่ยนสถานภาพการพำนักระหว่างที่อาศัยอยู่ที่นี่ด้วย ดังนั้น ตามไปอ่านบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนกันดีกว่า

[อัพเดทกันยายน 2020] สภาพปัจจุบันของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

ผลกระทบของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นออกมาตรการรับมือพิเศษเกี่ยวกับขั้นตอนยื่นเรื่องต่างๆ อย่างในกรณีของกระทรวงยุติธรรมก็จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ, ฆ่าเชื้อโรคบนมือด้วยแอลกอฮอล์, ตรวจสัมภาระก่อนเข้า รวมถึงมีการจำกัดจำนวนผู้ที่เดินทางมาติดต่อด้วย ส่งผลให้ที่นี่ดูวุ่นวายกว่าปกติและใช้เวลานานมาก ดังนั้น หากคุณมีแผนจะเดินทางไปติดต่อเรื่องใดๆ ก็ตาม เราขอแนะนำให้เผื่อเวลาไว้ด้วย

▼ เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม: ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 (ภาษาญี่ปุ่น)
กระทรวงยุติธรรม: ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 (ภาษาอังกฤษ)

สถานภาพการพำนัก, วีซ่า, บัตรผู้พำนัก แตกต่างกันอย่างไร?

・ข้อแตกต่างระหว่างสถานภาพการพำนักกับวีซ่า

สำหรับในญี่ปุ่น มีบางครั้งที่สถานภาพการพำนักถูกใช้ในความหมายเดียวกับวีซ่า อย่างไรก็ตาม เมื่อลงในรายละเอียดแล้ว 2 สิ่งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วีซ่าเป็น “เอกสารประเภทสติ๊กเกอร์ที่แปะลงในหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น” และต้องออกโดยสถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ก่อนเดินทางเข้ามายังประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่สถานภาพการพำนักเป็น “การอนุญาตที่จำเป็นต่อการพักอาศัยในญี่ปุ่น” ซึ่งออกโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสังกัดกระทรวงยุติธรรมหลังจากเดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว โดยในประเทศญี่ปุ่นจะมีการยกเว้นวีซ่าสำหรับการพำนักระยะสั้น (15 – 90 วัน) ให้กับประเทศที่กำหนดไว้ (ณ เดือนกันยายน 2020 การยกเว้นวีซ่านี้ได้ถูกระงับชั่วคราว เหลือแค่เพียงบางประเทศและบางพื้นที่เท่านั้น)

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณมาทำกิจธุระในญี่ปุ่นโดยมีค่าตอบแทน หรืออยู่เกินกำหนดการพำนักระยะสั้น ก็จำเป็นจะต้องขอวีซ่าและขอสถานภาพการพำนักด้วย กล่าวคือ ถ้าชาวต่างชาติจะพำนักในญี่ปุ่นในระยะกลางหรือยาวเพื่อทำกิจธุระต่างๆ ก็จำเป็นต้องขอวีซ่าและสถานภาพการพำนักที่สอดคล้องกับกิจกรรมนั้นๆ

・สถานภาพการพำนัก

สถานภาพการพำนักมีอยู่ทั้งหมด 29 ประเภท แบ่งตามประเภทของกิจกรรมที่ทำในญี่ปุ่น ขอบเขตของกิจกรรมที่ทำได้รวมถึงสิทธิ์ในการทำงานก็จะแตกต่างกันออกไป หากวางแผนจะมาทำงานก็ต้องมีสถานภาพการพำนักที่สอดคล้องกับประเภทงานของตัวเอง

นอกจากสถานภาพการพำนักพิเศษอย่าง “ผู้พำนักถาวร” หรือ “ผู้ที่มีคู่สมรสเป็นชาวญี่ปุ่น” แล้ว หากมีรายได้จากกิจกรรมที่อยู่นอกขอบเขตสถานภาพการพำนักที่ตนเองมีก็จำเป็นจะต้องขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนัก หรือไม่ก็ยื่นขออนุญาตปฏิบัติกิจกรรมนอกเหนือสถานภาพการพำนักด้วย อย่างไรก็ตาม การตัดสินคำร้องขออนุญาตดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกระทรวงยุติธรรมและไม่มีการเปิดเผยเกณฑ์การตัดสินที่ชัดเจน จึงควรทำความเข้าใจข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ก่อนดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของกิจกรรมที่สถานภาพการพำนักแต่ละประเภทสามารถทำได้ หรือขั้นตอนในการติดต่อยื่นเรื่อง

ช่วงเวลาที่สามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของสถานภาพการพำนักและปัจจัยอื่นๆ อาจจะเป็น 1 ปี, 3 ปี หรือ 5 ปีก็ได้ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นฝ่ายกำหนดให้จากเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ยื่นเรื่อง ปกติแล้วเกณฑ์ในการกำหนดนี้ก็จะไม่ถูกเปิดเผยเช่นกัน

・บัตรผู้พำนัก

บัตรผู้พำนัก หรือ ไซริวการ์ด (在留カード) คือสิ่งที่จะมอบให้กับผู้อยู่อาศัยระยะกลางและยาวในญี่ปุ่นที่ได้รับสถานภาพการพำนักแล้ว ทั่วไปจะออกให้ที่สนามบินหลักๆ ของประเทศ ณ ตอนที่เดินทางเข้าสู่ญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่มีบัตรผู้พำนักจะต้องพกบัตรนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลาแทนหนังสือเดินทาง สามารถใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนได้ และสามารถใช้เปิดบัญชีธนาคารและทำสัญญาโทรศัพท์ได้เช่นกัน

สถานภาพการพำนักแต่ละแบบมีกำหนดระยะเวลาในการพำนักเป็นของตัวเอง ในกรณีที่เลยระยะเวลาดังกล่าวแต่ประสงค์ที่จะอยู่ต่อให้ยื่นเรื่องต่อระยะเวลาพำนักโดยเร็วที่สุดภายใน 3 เดือนก่อนเวลาสิ้นสุดที่ระบุไว้ในบัตรผู้พำนัก นอกเหนือจากช่วงรอคำตัดสินแล้ว บัตรผู้พำนักจะต้องอยู่ในระยะเวลาที่ใช้ได้อยู่ตลอดเวลาด้วยจึงควรระวังเอาไว้ และเนื่องจากมีโอกาสที่เอกสารจะไม่ครบถ้วนจนไม่สามารถยื่นเรื่องทันทีได้ จึงขอแนะนำให้เผื่อเวลาไว้หลายๆ วันก่อนวันหมดอายุจะดีกว่า

ประเภทของสถานภาพการพำนัก

สถานภาพการพำนักของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นทั้งหมด 29 ประเภท มีทั้งแบบที่แยกตามกิจกรรมที่ทำ เช่น “นักเรียนแลกเปลี่ยน” “ศึกษา” “ทำวิจัย” และ “ทักษะพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์ หรืองานบริการระหว่างประเทศ” และแบบที่แยกตามสถานะทางสังคม เช่น “มีคู่สมรสเป็นชาวญี่ปุ่น” จะยื่นเรื่องขอแบบไหนก็ควรตรวจสอบให้ตรงกับกิจธุระของตนเองที่สุด

รายชื่อสถานภาพการพำนัก

ขั้นตอนยื่นขอสถานภาพการพำนัก

ผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการขอสถานภาพการพำนักได้นั้น ประกอบไปด้วย ตัวผู้ขอเอง ตัวแทนจากองค์กรที่เป็นผู้รับเข้า และตัวแทนยื่นเรื่อง แต่เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วตัวผู้ขอเองยังอยู่ในต่างประเทศ ปกติตัวแทนจากองค์กร ทนายความ หรือพนักงานจดทะเบียนที่ได้รับการว่าจ้างจึงจะเป็นผู้ดำเนินการแทน

อันดับแรก บริษัท โรงเรียน หรือองค์กรตัวแทนของผู้ยื่นเรื่อง จะทำการขอ “เอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก (在留資格認定証明書)” ผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ ทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนนับจากยื่นเรื่องไปจนได้รับเอกสาร แต่ในบางกรณีก็อาจใช้เวลานานกว่านี้มาก จึงควรเผื่อเวลาไว้ด้วย

ตัวอย่างเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก (Certificate of Eligibility หรือ CIE)

เมื่อผู้ยื่นเรื่องได้รับเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนักแล้ว ผู้ยื่นเรื่องจะต้องนำเอกสารและหนังสือเดินทางไปยื่นขอวีซ่าที่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศของตน หลังจากที่ได้รับวีซ่าแล้ว ผู้ยื่นเรื่องที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นก็จะต้องแสดงวีซ่าในหนังสือเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่สนามบินเพื่อปั๊มตรายินยอมให้เข้าประเทศพร้อมรับบัตรผู้พำนัก ก็จะถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการ

สรุปขั้นตอนอย่างง่ายๆ คือ ขอเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) → ขอวีซ่า (สถานทูตหรือสถานกงสุลญี่ปุ่น) → รับบัตรผู้พำนัก (สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน)

ทั้งนี้ เอกสารยืนยันสถานภาพการพำนักจะมีอายุขัย 3 เดือนนับจากวันออกเอกสาร (ปัจจุบันอาจมีการต่ออายุเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) วันหมดอายุนี้ไม่ใช่วันที่สิ้นสุดการขอวีซ่าเท่านั้น แต่เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ยื่นเรื่องจะสามารถเข้าญี่ปุ่นได้ จึงขอให้ระวังไว้ด้วย

ตัวอย่างบัตรผู้พำนัก(ด้านหน้า)
ตัวอย่างบัตรผู้พำนัก(ด้านหลัง)

ในส่วนของบัตรผู้พำนัก หากเป็นสนามบินชินชิโตเสะ, นาริตะ, ฮาเนดะ, ชูบุ, คันไซ, ฮิโรชิม่า และฟูกุโอกะก็จะสามารถออกให้ได้เลยในวันเดียวกัน ส่วนในกรณีที่ลงเครื่องที่สนามบินอื่นก็จำเป็นต้องยื่นเรื่องผ่านหน่วยงานในพื้นที่ให้ส่งบัตรผู้พำนักมายังที่อยู่ของเรา

เอกสารที่จำเป็นสำหรับการยื่นขอสถานภาพการพำนักจะแตกต่างกันไปตามสถานภาพแต่ละประเภท โดยเอกสารที่ทุกประเภทจะต้องมีเหมือนกัน ได้แก่ เอกสารยื่นเรื่องที่แนบไปให้พร้อมกับเอกสารยืนยันสถานภาพการพำนัก, รูปถ่ายขนาด 4 × 3 เซนติเมตร และซองจดหมายสำหรับตอบกลับ (พร้อมที่อยู่และแสตมป์) นอกจากนี้ ก็จะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่จะทำให้ญี่ปุ่นด้วย หากเป็น “นักเรียนแลกเปลี่ยน” ก็จะเป็นเอกสารเกี่ยวกับองค์กรที่ผู้ยื่นเรื่องเข้ารับการศึกษา หรือหากเป็นการ “ย้ายงานภายในเครือบริษัท” ก็จะเป็นเอกสารเกี่ยวกับบริษัทปัจจุบันที่ว่าจ้างอยู่และข้อมูลเกี่ยวกับการงานปัจจุบัน เนื่องจากสถานภาพแต่ละประเภทมีเอกสารที่จำเป็นแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วนด้วย

หากเข้ามาทำงานหรือเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่แล้วบริษัทหรือโรงเรียนที่รับเข้ามาจะมีการเตรียมการไว้ให้อยู่แล้ว เพียงเตรียมเอกสารที่ทางนั้นขอมาให้ครบและส่งให้ทันตามกำหนดการก็วางใจได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากการยื่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในญี่ปุ่นนั้นซับซ้อนมาก แม้แต่ปัญหาเล็กน้อยก็ไม่ควรตัดสินตามความเข้าใจของตัวเอง หากมีข้อสงสัยใดๆ ให้ปรึกษาผู้รับผิดชอบของเราจะดีกว่า

กระทรวงยุติธรรม: เอกสารที่จำเป็นแยกตามประเภทสถานภาพการพำนัก

การรายงานและยื่นเรื่องสำหรับกรณีเปลี่ยนงาน (ย้ายที่ทำงาน)

ผู้ที่เปลี่ยนงานมีหน้าที่ต้องรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเมื่อแน่ใจแล้วว่าจะมีการเปลี่ยนงาน หากขอบเขตของงานใหม่ไม่ต่างจากงานปัจจุบันมากนัก ก็สามารถส่งรายงานที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงานของเราและยื่นเรื่องต่ออายุการพำนักเมื่อถึงเวลาตามปกติก็เพียงพอ แต่ในกรณีที่ขอบเขตของงานต่างไปจากเดิมก็จะต้องขอเปลี่ยนสถานภาพการพำนักก่อนจึงจะสามารถเริ่มงานได้ โดยให้สถานที่ทำงานใหม่ปั๊มตราลงบนเอกสารคำร้องแล้วยื่นพร้อมกับเอกสารอื่นๆ อย่างเอกสารเสนองานซึ่งต้องขอให้ที่ทำงานใหม่เตรียมให้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นจึงควรปรึกษาเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ตอนที่ได้รับการเสนองาน

เนื่องจากการมีสถานภาพการพำนักจะเป็นเงื่อนไขในการเริ่มงาน ขั้นตอนการเตรียมการอย่างคร่าวๆ ก็จะเป็นดังนี้:
1. ได้รับการเสนองาน
2. ยื่นรายงานเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน (รวมถึงยื่นต่ออายุหรือเปลี่ยนสถานภาพการพำนักหากจำเป็น)
3. หลังจากที่ได้รับการยินยอมแล้ว ให้เดินทางไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรับบัตรผู้พำนักใบใหม่
4. สามารถเริ่มงานได้เลยในวันที่รับบัตรผู้พำนักใบใหม่

ในกรณีที่เข้าทำงานใหม่โดยยังไม่ได้รายงานให้เสร็จสิ้น อย่างน้อยที่สุดก็ควรทำขั้นตอน “ยื่นรายงานเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน” ให้เสร็จภายใน 14 วันหลังเริ่มงาน หากเกินกว่านั้น นอกจากจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนเยนและอาจถูกนำไปเป็นเหตุผลเพิกถอนสถานภาพการพำนักได้แล้ว ยังอาจเป็นอุปสรรคในการต่อวีซ่าครั้งต่อไปอีกด้วย

สาเหตุและวิธีรับมือในกรณีที่ยื่นเรื่องไม่ผ่านหรือถูกเพิกถอนสถานภาพการพำนัก

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้การยื่นเรื่องเกี่ยวกับสถานภาพการพำนักไม่ผ่าน หรือทำให้ถูกถอนสถานภาพการพำนักมีดังต่อไปนี้:

・เอกสารที่ใช้ในการยื่นเรื่องบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หลายคนยื่นเรื่องไม่ผ่าน คือ การส่งเอกสารผิดหรือส่งไม่ครบ บางครั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็จะติดต่อมาเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติม ในกรณีนี้ก็จำเป็นจะต้องเตรียมและส่งเอกสารกลับไปให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามกำหนดด้วย

นอกจากข้อผิดพลาดทั่วๆ ไปอย่างการกรอกข้อมูลไม่ครบแล้ว ควรตรวจสอบเอกสารที่แตกต่างกันให้ถูกต้องตามสถานภาพการพำนักด้วย หากใครไม่มั่นใจก็สามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญไว้ล่วงหน้า หรือจะสอบถามจากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองโดยตรงเลยก็ได้

・เงื่อนไขในการรับสถานภาพการพำนักไม่เพียงพอ

บางครั้งอาจมีการตัดสินว่าเนื้อหากิจกรรมของผู้ยื่นเรื่องไม่ตรงกับสถานภาพการพำนักที่ต้องการ ในกรณีนี้ผู้ยื่นเรื่องจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเนื้อหากิจธุระที่จะทำ หรือไม่ก็หาสถานภาพการพำนักใหม่ที่ตรงกับกิจกรรมของตัวเองและยื่นเรื่องใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เนื้อหากิจกรรมและสถานภาพการพำนักไม่มีปัญหาอะไร แต่ถูกตัดสินให้ไม่ผ่านเพราะประวัติการศึกษาหรือประสบการณ์ไม่เพียงพอ คุณสามารถแก้ได้โดยหาประสบการณ์ให้ได้ตามที่ระบุไว้ หรือไม่ก็หาเอกสารยืนยันเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของประวัติ แต่แบบหลังจะค่อนข้างยากกว่ามาก

・ถูกสงสัยว่ามีข้อมูลที่เป็นเท็จในการยื่นเรื่อง

ในกรณีที่เนื้อหาการยื่นเรื่องหรือเอกสารที่ส่งไปมีความย้อนแย้ง ไม่ตรงกับความจริง หรือถูกสงสัยว่ามีข้อมูลที่เป็นเท็จ ก็มักทำให้คำร้องถูกปฎิเสธเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เคยยื่นเรื่องมาแล้วหลายครั้ง รายละเอียดการตรวจสอบครั้งก่อนๆ จะถูกเก็บไว้และนำมาเปรียบเทียบกับครั้งปัจจุบัน จึงอาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ ผู้ที่เคยยื่นเรื่องแล้วจึงควรตรวจสอบเอกสาร รวมถึงเอกสารแนบเพิ่มเติมที่เคยใช้ในครั้งก่อนๆ ให้ละเอียด

・ผู้ยื่นเรื่องมีสภาพการพำนักที่ไม่ดี

ในการขอเปลี่ยนหรือต่ออายุสถานภาพการพำนัก ประวัติการพำนักอาจเองก็มีผลไม่น้อย โดยหากไม่สามารถรักษาข้อกำหนดที่ให้ไว้ตอนรับสถานภาพการพำนัก เช่น เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนแต่กลับทำงานพิเศษเกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิกเฉยเรื่องการจ่ายภาษี หรือกระทำกิจกรรมที่อยู่นอกขอบเขตสถานภาพการพำนักของตน ก็จะทำให้การยื่นเรื่องมีโอกาสถูกปฎิเสธมากขึ้น ในบางกรณีก็อาจถึงขั้นถูกเพิกถอนสถานภาพการพำนักเลยก็ได้

สำหรับการยื่นเรื่องครั้งแรก ส่วนใหญ่แล้วบริษัทหรือโรงเรียนที่ญี่ปุ่นของเราจะดำเนินการแทนให้ หากมีปัญหาใดๆ ก็จะมีคนที่ยื่นเรื่องใหม่ผ่านองค์กรดังกล่าวอยู่ไม่น้อย หากยื่นเรื่องด้วยตัวเองแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ควบคุมสติและอย่าตื่นตระหนก ค่อยๆ หาทางแก้ไป ปกติแล้วจะไม่มีการแจ้งสาเหตุที่ทำให้ยื่นเรื่องไม่ผ่าน หลังจากได้รับการแจ้งผลก็ให้เดินทางไปสอบถามโดยตรงจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เรายื่นเรื่องไว้ เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ค่อยยื่นเรื่องใหม่อย่างระมัดระวังอีกครั้ง

ช่องทางปรึกษาเวลามีปัญหา

บนเว็บไซต์ของกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นจะมีการให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี โปรตุเกส และสเปนเอาไว้ หากไม่แน่ใจอะไรก็ควรดูจากเว็บไซต์นี้ไว้ก่อน

หากต้องการข้อมูลที่ตรงประเด็นจริงๆ ก็สามารถสอบถามโดยตรงจากแผนกต่างๆ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ และยังมี “ศูนย์บริการข้อมูลสำหรับชาวต่างที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น (外国人在留総合インフォメーションセンター)” อยู่ตามกองบังคับการและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในแต่ละพื้นที่ ทั้งเซนได (มิยากิ), โตเกียว, โยโกฮาม่า (คานากาว่า), นาโกย่า (ไอจิ), โอซาก้า, โกเบ (เฮียวโกะ), ฮิโรชิม่า และฟูกุโอกะที่สามารถตรวจสอบเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้าประเทศและพำนักในญี่ปุ่นได้ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าใช้บริการเช่นกัน หน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้รองรับภาษาญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการให้บริการเป็นภาษาต่างประเทศอย่างอังกฤษ เกาหลี จีน และสเปนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามโดยตรงหรือสอบถามผ่านทางโทรศัพท์ก็ตาม

เว็บไซต์กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น (มีภาษาอังกฤษ, จีน, เกาหลี, โปรตุเกส, สเปน)
ศูนย์บริการข้อมูลสำหรับชาวต่างที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น (ภายใต้กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น)

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีหน่วยงานต่างๆ เช่น บริษัทรับรองเอกสาร ที่ให้บริการยื่นเรื่องสถานภาพการพำนักแทนให้ (มีค่าใช้จ่าย ปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 เยน) หากไม่มั่นใจจริงๆ ก็สามารถใช้บริการบริษัทเหล่านี้ได้เช่นกัน

Photo: PIXTA

หลังจากรวบรวมความรู้อย่างคร่าวๆ ผ่านบทความนี้แล้ว เราขอแนะนำให้ติดต่อผู้คนที่สามารถให้ความช่วยเหลือเราได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปลายทางในญี่ปุ่นหรือรุ่นพี่ที่รู้จักกัน มาข้ามผ่านอุปสรรคแรกนี้ไปด้วยกันเถอะนะ!

การยื่นเรื่องครั้งแรกอาจดูน่าหวั่นใจอยู่บ้าง แต่ก็มีชาวต่างชาติมากมายที่ยื่นเรื่องผ่าน และได้ทำงานในญี่ปุ่นอย่างมีความสุข เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะได้รับสถานภาพการพำนักอย่างราบรื่น และมีโอกาสแสดงศักยภาพของคุณในญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่

ประวัติของบริษัทรับรองเอกสารที่ให้คำปรึกษาบทความนี้

▼ จุดมุ่งหมาย ▼
จุดมุ่งหมายของเรา คือ ให้บริการเกี่ยวกับวีซ่าและการย้ายถิ่นที่อยู่ เพื่อช่วยเหลือทั้งในด้านธุรกิจและเป้าหมายส่วนบุคคลให้ประสบความสำเร็จ

ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปีในบริษัทกฎหมายนานาชาติและบริษัททนายความตรวจคนเข้าเมือง เราขอรับรองว่าจะมอบทางออกที่ดีที่สุดให้กับคุณทั้งในด้านธุรกิจและการย้ายถิ่นฐาน

เว็บไซต์: https://visaimmigration.jp/

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: