คู่มือการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT) ฉบับสมบูรณ์! ตารางสอบ แนวข้อสอบ และความแตกต่างของแต่ละระดับ

examination-s1293112084-scaled
Oyraa

ชาวต่างชาติมักจะต้องมีหลักฐานยืนยันความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่นของตัวเองหากต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสมัครงานในบริษัทญี่ปุ่น การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT) เป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้ประเมินผล วันนี้เราจะมาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการสอบให้คุณฟัง รวมถึงแนะนำระดับความสามารถที่จำเป็นสำหรับเป้าหมายของคุณด้วย

การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT) คืออะไร?

การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นหรือ 日本語能力試験 (JLPT) เป็นการสอบเพื่อประเมินระดับความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่นสำหรับบุคคลที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ 2 ขึ้นไป โดยเริ่มมีการสอบมาตั้งแต่ปี 1984 และ ณ ปี 2018 ก็มีผู้เข้าสอบกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกเลยทีเดียว ผลการสอบมักจะมีผลต่อการรับเข้าสถาบันการศึกษาหรือรับเข้าทำงาน หากใครต้องการเรียนต่อที่ญี่ปุ่นก็ควรจะสอบไว้สักหน่อย

○ ระดับ

การสอบจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ N1, N2, N3, N4 และ N5 โดย N1 จะยากที่สุดและ N5 ง่ายที่สุดไล่เรียงลงมา แต่ละระดับจะมีพื้นฐานการฟังและการอ่านระบุไว้ ดังนี้

N1
ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย ความสามารถอยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ ไม่เพียงเข้าใจบทสนทนาในชีวิตประจำวันได้เท่านั้น แต่ยังทำความเข้าใจกับการเจรจาธุรกิจและศัพท์เฉพาะทางต่างๆ ได้ด้วย ติดต่อสื่อสารกับคนญี่ปุ่นได้โดยไม่ติดขัด สามารถทำงานเป็นล่ามได้

[การอ่าน] เข้าใจเนื้อหาของบทความที่ซับซ้อนหรือมีความเป็นนามธรรมสูงอย่างบทบรรณาธิการหรือบทวิจารณ์หนังสือพิมพ์ได้ อ่านบทความเกี่ยวกับหัวข้อใดๆ ในเชิงลึกแล้วสามารถเข้าใจทิศทางของเรื่องและรายละเอียดได้

[การฟัง] ฟังบทพูดในสถานการณ์ต่างๆ เช่น บทสนทนา ข่าว การเรียนการสอนในความเร็วการพูดปกติ แล้วสามารถระบุความสัมพันธ์ของผู้พูด เข้าใจสถานการณ์และจับใจความได้อย่างถูกต้อง

N2
สื่อสารภาษาญี่ปุ่นในขอบเขตที่กว้างกว่าบทสนทนาชีวิตประจำวัน เช่น การเจรจาธุรกิจได้ สามารถร่วมอภิปรายเป็นภาษาญี่ปุ่นได้

[การอ่าน] เข้าใจเนื้อหาของบทความที่มีประเด็นค่อนข้างชัดเจน เช่น บทความในหนังสือพิมพ์หรือบทวิจารณ์ง่ายๆ ได้ อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปแล้วสามารถเข้าใจทิศทางของเรื่องหรือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอได้

[การฟัง] ฟังบทสนทนาหรือข่าวที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในความเร็วที่ใกล้เคียงกับการพูดปกติ แล้วสามารถระบุความสัมพันธ์ของผู้พูด เข้าใจสถานการณ์และจับใจความได้อย่างถูกต้อง

N3
เข้าใจภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในระดับหนึ่ง ไม่มีปัญหากับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่ในการเจรจาธุรกิจอาจเข้าใจหรือไม่เข้าใจบ้างตามแต่เนื้อหาและความเร็วในการพูด

[การอ่าน] เข้าใจเนื้อหาของบทความเกี่ยวกับชีวิตประจำวันได้ เข้าใจเนื้อหาของหนังสือพิมพ์จากพาดหัวข่าวได้โดยคร่าว หากเป็นงานเขียนทั่วไปที่เนื้อหาค่อนข้างยากจะสามารถเข้าใจได้ถ้ามีการอธิบายศัพท์ด้วยคำที่ง่ายขึ้น

[การฟัง] ฟังบทสนทนาทั่วไปในความเร็วที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับการพูดปกติ แล้วสามารถเข้าใจเนื้อหาหรือความสัมพันธ์ของผู้พูดได้เกือบครบถ้วน

N4
เข้าใจภาษาญี่ปุ่นในระดับพื้นฐาน สามารถเข้าใจบทสนทนาในชีวิตประจำวันได้ แต่มักจะยังไม่สามารถสื่อความคิดของตัวเองออกไปได้ดีนัก

[การอ่าน] เข้าใจเนื้อหาของบทความเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวที่ใช้คำศัพท์หรือคันจิระดับพื้นฐานได้

[การฟัง] เข้าใจบทสนทนาในชีวิตประจำวันที่พูดอย่างช้าๆ ได้

N5
เข้าใจพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง สามารถกล่าวทักทายหรือแนะนำตัวได้

[การอ่าน] เข้าใจเนื้อหาของบทความที่เขียนด้วยตัวฮิรางานะ คาตาคานะและคันจิระดับพื้นฐานได้

[การฟัง] จับใจความบทพูดสั้นๆ ที่พบเจอในห้องเรียนหรือชีวิตประจำวันที่พูดอย่างช้าๆ ได้

○ ข้อสอบและเวลาในการสอบ

การสอบจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ความรู้ทางภาษา (อักษร คำศัพท์ ไวยากรณ์) / การอ่านจับใจความและการฟัง ความยากง่ายและเนื้อหาจะเปลี่ยนไปตามระดับ ทำให้แต่ละระดับมีเวลาสอบที่แตกต่างกันไปตามตารางด้านล่าง

เวลาในการสอบอาจมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เวลาในการสอบการฟังก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามความยาวของบทพูด

○ รูปแบบโจทย์

ข้อสอบแต่ละส่วนจะแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ โดยจุดประสงค์การสอบในแต่ละหัวข้อก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละระดับ ไม่มีการสอบพูดและเขียน และในส่วนของการฟัง ตัวข้อสอบจะแบ่งเป็นอัตนัย 4 ตัวเลือก และ 3 ตัวเลือก หัวข้อใหญ่ที่ทำการทดสอบในแต่ละระดับมีดังนี้

▼ หัวข้อใหญ่ตามระดับการสอบ
N1:https://www.jlpt.jp/guideline/pdf/n1.pdf
N2:https://www.jlpt.jp/guideline/pdf/n2.pdf
N3:https://www.jlpt.jp/guideline/pdf/n3.pdf
N4:https://www.jlpt.jp/guideline/pdf/n4.pdf
N5:https://www.jlpt.jp/guideline/pdf/n5.pdf

○ ตารางสอบและสนามสอบ

การสอบ JLPT จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและเดือนธันวาคม ในปี 2019 มีสนามสอบ 47 แห่งในประเทศญี่ปุ่น และอีก 46 – 75 แห่งในต่างประเทศ (ขึ้นอยู่กับเดือนที่จัดสอบ) สามารถเข้าสอบได้จากหลายแห่งทั่วโลก

※ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ การสอบในเดือนกรกฎาคมปี 2020 จึงถูกยกเลิกไป และยังมีโอกาสที่การสอบในรอบเดือนธันวาคมจะถูกยกเลิกด้วย ขอให้ระวังในจุดนี้ให้ดี

○ สถิติผู้เข้าสอบ

ในปี 1984 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มจัดการสอบ มีผู้เข้าสอบทั้งหมดราว 7,000 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 1 ล้านคนในปี 2018 หากอ้างอิงผลสำรวจจำนวนผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นในต่างประเทศ ก็จะพบว่าจำนวนผู้เรียนตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2015 ได้เพิ่มขึ้นจาก 580,000 คนเป็น 3,650,000 คนเลยทีเดียว

การสอบ JLPT ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุหรือการศึกษาของผู้เข้าสอบ แม้แต่นักเรียนประถมหรือพนักงานบริษัทก็สามารถสอบได้ โดยหากดูสถิติจากการสอบครั้งที่ 2 ในปี 2018 ก็จะพบว่าผู้เข้าสอบส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา (42.2%) และรองลงมาเป็นวัยทำงาน (27.6%) ซึ่งรวมแล้วก็เกือบ 70% ของผู้เข้าสอบทั้งหมดเลยนั่นเอง

○ อัตราการสอบผ่าน

อัตราการสอบผ่านจะแตกต่างกันไปในแต่ละการสอบ แต่ทั่วไปแล้ว N1-N4 จะมีผู้สอบผ่านราว 30% ส่วน N5 จะมีราว 50% นับว่าไม่ใช่การสอบที่ง่ายนัก ต้องทบทวนบทเรียนให้ดีและฝึกทำข้อสอบมาพอสมควร โดยสถิติการสอบผ่านในการสอบครั้งที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม 2019 เป็นดังตารางด้านล่าง

※ จำนวนผู้เข้าสอบจะนับรวมผู้ที่สอบเฉพาะบางทักษะด้วย

ประโยชน์ของการสอบ

เนื่องจากการสอบ JLPT มีผู้เข้าสอบกว่า 1 ล้านคน เป็นการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นที่มีผู้เข้าสอบมากที่สุดในโลก จึงได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างจากสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ และสามารถใช้ในการสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหรือสมัครงานได้ หากมีผลสอบติดตัวไว้ก็เหมือนมีใบรับรองว่าสามารถเข้าใจภาษาญี่ปุ่นได้ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วยกัน อย่างเช่น

(1) สามารถรับแต้มเพื่อขอสิทธิพิเศษในกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองได้ โดยต้องเป็นชาวต่างชาติที่สอบผ่านระดับ N1 หรือ N2

(2) เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเข้าสอบใบประกอบวิชาชีพของแพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, หน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน ฯลฯ โดยต้องสอบผ่าน N1 ก่อนเท่านั้นจึงจะสอบได้

(3) เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการสอบพยาบาลของญี่ปุ่น โดยต้องสอบผ่านระดับ N1 ขึ้นไป

(4) สามารถยื่นคะแนนเพื่อขอละเว้นการเข้าสอบบางส่วนในการสอบจบการศึกษามัธยมต้นได้ โดยหากเป็นผู้ถือสัญชาติต่างประเทศที่ผ่าน N1หรือ N2 จะไม่จำเป็นต้องสอบวิชาภาษาญี่ปุ่น

(5) เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการคัดเลือกพยาบาลหรือผู้ดูแลใน EPA (เขตร่วมมือทางเศรษฐกิจ) โดยผู้สมัครที่มาจากประเทศอินโดนีเซียหรือประเทศฟิลิปปินส์จะต้องสอบผ่านระดับ N5 ขึ้นไป ส่วนผู้สมัครจากประเทศเวียดนามจะต้องสอบผ่านระดับ N3 ขึ้นไป

การสมัครสอบ

วิธีการสมัครสอบจะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าสอบภายในประเทศญี่ปุ่นหรือในต่างประเทศ โดยมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้

กรณีที่เข้าสอบในประเทศญี่ปุ่น

  1. ตรวจสอบวันและเวลาสอบได้ที่เว็บไซต์ของ Japan Educational Exchanges and Services (https://info.jees-jlpt.jp/) และลงทะเบียน MyJLPT (สามารถลงทะเบียนเมื่อไรก็ได้)
  2. ทำการสมัครสอบผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว และชำระเงิน (สามารถสมัครได้ในช่วงประมาณ 3 เดือนก่อนวันสอบ)
  3. ทางหน่วยงานจะส่งบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบมาให้ในช่วงราว 1 เดือนก่อนวันสอบ
  4. เข้าสอบ
  5. ใบประกาศผลสอบจะส่งมาถึงในช่วง 2 เดือนหลังทำการสอบโดยประมาณ หรือจะเข้าระบบ MyJLPT ไปตรวจสอบคะแนนผ่านทางเว็บไซต์ก็ได้ สำหรับผู้ที่ผ่านก็จะมีใบรับรองผลการสอบแนบมาด้วย

○ กรณีที่เข้าสอบในต่างประเทศ

  1. ตรวจสอบประเทศและสนามสอบได้ในเว็บไซต์หลักของ JLPT (https://www.jlpt.jp/application/overseas_list.html)
  2. ตรวจสอบวิธีสมัครของแต่ละสนามสอบ จากนั้นก็ไปซื้อคู่มือการสมัครและใบสมัคร
  3. อ่านคู่มือการสมัครอย่างละเอียด สมัครสอบตามขั้นตอนที่เขียนไว้ และชำระเงิน (สามารถสมัครได้ในช่วงประมาณ 3 – 4 เดือนก่อนวันสอบ)
    ※ ช่วงเวลาการสมัครจะแตกต่างกันไปตามสถานที่สอบ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้ดี
  4. ทางสนามสอบจะส่งบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบให้
  5. เข้าสอบ
  6. ใบประกาศผลสอบจะส่งมาถึงในช่วงราว 2 เดือนหลังทำการสอบ สำหรับผู้ที่ผ่านก็จะมีใบรับรองผลการสอบแนบมาให้ด้วย

※ ขั้นตอนที่เขียนไว้ด้านบนเป็นเพียงขั้นตอนทั่วไปของการสมัครสอบในต่างประเทศ อาจมีบางส่วนที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับประเทศหรือเขตที่ทำการสอบ ควรตรวจสอบรายละเอียดกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ บางเขตยังอาจเปิดให้สอบเพียง 1 ครั้งต่อปีด้วย

การออกใบรับรองผลการสอบ

หากมีความจำเป็นต้องใช้ผลสอบเพื่อการศึกษาต่อหรือสมัครงาน สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอประกาศนียบัตรยืนยันความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นได้ โดยในใบประกาศจะมีผลสอบผ่าน/ไม่ผ่าน รวมถึงบอกคะแนนที่ได้ในแต่ละส่วนของข้อสอบด้วย สามารถใช้เป็นหลักฐานสำหรับเพื่อยื่นให้กับสถาบันการศึกษาหรือบริษัทได้ วิธีการยื่นเรื่องก็จะแตกต่างกันตามเขตที่สอบ

หากเข้าสอบในประเทศญี่ปุ่นก็สามารถยื่นคำร้องได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ :

○ ยื่นเรื่องผ่าน MyJLPT

เข้าสู่ระบบ MyJLPT จากนั้นคลิกที่ปุ่ม “ผลสอบ/ออกใบประกาศ” (受験結果・証明書発行) เพื่อดำเนินการต่อ แต่ถ้าสมัครสอบเป็นกลุ่มโดยผ่านตัวแทน ตัวแทนจะต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องให้

○ ยื่นเรื่องผ่านไปรษณีย์

ผู้ที่เข้าสอบในญี่ปุ่นจะสามารถยื่นเรื่องผ่านไปรษณีย์ได้ โดยต้องส่งเอกสาร 3 อย่างด้านล่างไปยังศูนย์รับคำร้อง

(1) สำเนาของใบประกาศผลสอบหรือประกาศนียบัตรที่ต้องการให้ออก
ถ้าใครทำหายไปแล้วก็ให้ส่งสำเนาหนังสือเดินทาง (หน้าที่ระบุชื่อและวันเกิด) ไปแทน พร้อมเขียนปีที่เข้าสอบลงไป

(2) ใบคำร้องขอออกใบประกาศ (สำหรับผู้เข้าสอบในประเทศญี่ปุ่น) หรือเอกสารที่ระบุที่อยู่จัดส่ง เบอร์โทรศัพท์ และจำนวนใบประกาศที่ต้องการ

(3) ค่าธรรมเนียม (ไม่รับเป็นเช็คหรือธนาณัติของธนาคาร)
① กรณีส่งในญี่ปุ่น: ธนาณัติของไปรษณีย์ 1,000 เยนต่อใบ หากต้องการให้ส่งแบบด่วนพิเศษจะต้องจ่ายเพิ่ม 500 เยนเป็นค่าส่ง
② กรณีส่งไปต่างประเทศ: ธนาณัติของไปรษณีย์ระหว่างประเทศ 1,000 เยน และธนาณัติอีก 1,000 เยนเป็นค่าส่งไปรษณีย์ด่วนระหว่างประเทศ (EMS)

※ กรอกธนาณัติของไปรษณีย์ระหว่างประเทศด้วยข้อมูลด้านล่าง
・ชื่อผู้รับ 公益財団法人日本国際教育支援協会
・ที่อยู่ผู้รับ 〒153-8503 東京都目黒区駒場4-5-29

▼ ที่อยู่ปลายทางในการส่งไปรษณีย์
日本語能力試験 受付センター
〒100-0003 東京都千代田区一ツ橋1-1-1 パレスサイドビル6階東コア
TEL: 03-6686-2974  FAX: 03-6845-2544

หากที่อยู่ที่จะให้จัดส่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จะใช้เวลาราว 1 – 2 อาทิตย์จนกว่าใบรับรองผลการสอบจะส่งมาถึง ส่วนกรณีที่จัดส่งต่างประเทศอาจใช้เวลามากกว่า 2 อาทิตย์ นอกจากนี้ หากเป็นช่วงที่มีผู้ยื่นคำร้องเยอะก็อาจใช้เวลานานกว่าปกติ หากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ควรยื่นขอไว้ล่วงหน้า

ผลสอบไม่มีวันหมดอายุ แต่สถาบันหรือบริษัทที่อ้างอิงคะแนนเหล่านี้อาจมีกำหนดเวลาเองแล้วแต่ที่ จึงควรระวังให้ดี

▼ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการออกใบรับรองผลการสอบได้ที่
https://www.jlpt.jp/certificate/index.html

ระดับภาษาที่ต้องการในสายงานต่างๆ

แต่ละสายงานก็ต้องการความสามารถภาษาญี่ปุ่นที่แตกต่างกันออกไป ทั่วไปเมื่อทำงานไปแล้วก็จะยิ่งคุ้นเคยกับภาษามากขึ้น ประเมินระดับของตัวเองเสียก่อน แล้วลองไปท้าทายกับสิ่งแวดล้อมในการทำงานกันดีกว่า

▼ งานที่เหมาะสมตามระดับความสามารถภาษาญี่ปุ่น
N1: อะไรก็ได้ งานออฟฟิศ, งานที่มีการใช้หนังสือสัญญาต่างๆ, พนักงานต้อนรับในโรงแรม, พนักงานในภัตตาคารหรู ฯลฯ
N2: งานที่ต้องติดต่อกับเจ้านายชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว, พนักงานร้านสะดวกซื้อ, พนักงานภัตตาคาร, งานต้อนรับแขกชาวญี่ปุ่นอย่างง่าย
N3: พนักงานร้านบุฟเฟ่ต์, พนักงานเปลี่ยนอุปกรณ์ในร้านสุกี้, งานเบื้องหลังต่างๆ (ทำความสะอาด ล้างจาน ผู้ช่วยเชฟ)
N4: งานเบื้องหลัง (ทำความสะอาด ล้างจาน ผู้ช่วยเชฟ) งานที่ติดต่อผ่านไลน์โดยมีคู่มือภาษาต่างประเทศร่วมด้วย
N5: งานเบื้องหลัง (ทำความสะอาด ล้างจาน) งานง่ายๆ ที่สนับสนุนภาษาต่างประเทศ

ระดับภาษาที่ต้องการเพื่อพำนักในญี่ปุ่น

หากต้องการวีซ่าเพื่อเข้าพำนักในญี่ปุ่น ระดับความสามารถก็มีความสำคัญเช่นกัน โดย “วีซ่าทักษะเฉพาะทางหมายเลข 1” ซึ่งประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2019 และ “วีซ่าปฏิบัติการพิเศษหมายเลข 46” ที่ประกาศใช้ในเดือนต่อมาจะมีเงื่อนไขด้านภาษาญี่ปุ่นอยู่ด้วย

วีซ่าทักษะเฉพาะทางหมายเลข 1 เป็นวีซ่าที่ออกให้กับแรงงานเฉพาะทาง ผู้ขอวีซ่าประเภทนี้จะต้องสอบผ่าน N4 ขึ้นไป หรือผ่านการสอบภาษาญี่ปุ่นของ Japan Foundation (แต่หากเป็นชาวต่างชาติที่เคยผ่านการฝึกทักษะเฉพาะหมายเลข 2 มาแล้วจะได้รับการละเว้น) ส่วนผู้ขอวีซ่าปฏิบัติการพิเศษหมายเลข 46 ที่อนุญาตให้ปฏิบัติงานรวมถึงสามารถทานอาหาร พักแรม และรับการรักษาในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับงานได้นั้นจะต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับ N1 หรือสอบประเมินความสามารถการใช้ภาษาญี่ปุ่นในเชิงธุรกิจ (BJT) ได้ 480 คะแนนขึ้นไป

นอกจากวีซ่า 2 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว วีซ่าประเภทอื่นจะไม่มีเงื่อนไขด้านภาษา แต่ก็แน่นอนว่าก็ควรจะมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นเพียงพอที่จะปฏิบัติงานได้ตามหน้าที่ อย่างวีซ่าสำหรับวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์ และผู้ทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะไม่มีข้อกำหนดด้านภาษาญี่ปุ่น แต่ก็มีเรื่องประวัติการศึกษาเข้ามาแทน

การขอวีซ่าโดยส่วนมากอาจไม่จำเป็นต้องมีผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น แต่ในการขอวีซ่าต่างๆ นั้นกว่าครึ่งจะต้องการเอกสารยืนยันจากทางบริษัทด้วย และบริษัทใหญ่ๆ ที่สามารถยื่นขอวีซ่าได้ง่ายนั้นก็มักจะต้องการผู้ที่สื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับ N1 หรือ N2 เป็นอย่างต่ำ หากมีผลสอบติดตัวไว้ก็นับว่าได้เปรียบอยู่ไม่น้อย

การเตรียมตัวสอบ

แน่นอนว่าถ้าอยากจะสอบผ่านก็ต้องเตรียมตัวให้ดี โบราณว่าไว้ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ดังนั้นก็มาดูแนวการทบทวนกันสักหน่อยดีกว่า

○ รู้เรา
การรู้จักตัวเองเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด เพื่อที่จะตั้งเป้าหมายได้อย่างชัดเจน อันดับแรกก็ลองไปทำตัวอย่างข้อสอบฟรีในเว็บไซต์ของ JLPT (https://www.jlpt.jp/samples/forlearners.html) เสียก่อนเพื่อประเมินว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในระดับไหน อย่าเพิ่งไปสนใจคะแนนมากนัก สิ่งสำคัญคือต้องสำรวจว่าตัวเองถนัดหรือไม่และถนัดเรื่องอะไรมากกว่า

หลังจากผ่านการสอบไปแล้วก็นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะลองหันกลับมามองตัวเองเช่นกัน ไม่ใช่เพียงว่าสอบผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น แต่ให้ดูว่าข้อสอบส่วนไหนที่ทำได้ ส่วนไหนที่ทำไม่ได้ด้วย โดยสามารถอ้างอิงวิธีการอ่านผลคะแนนได้จาก https://www.jlpt.jp/guideline/results.html?pScanchor5 แล้วนำไปคิดแผนการเรียนกันต่อได้เลย

○ รู้เขา
สิ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือ หัวข้อในการสอบและเกณฑ์การสอบผ่าน/ไม่ผ่าน การจะสอบผ่านได้นั้นต้องได้คะแนนรวมเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย และคะแนนของแต่ละส่วนก็ต้องสูงเกินเกณฑ์ขั้นต่ำด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาไว้ก่อนว่าระดับที่ตัวเองสอบนั้นจำเป็นต้องได้คะแนนในส่วนไหนเท่าไรบ้าง

การเพิ่มความสามารถด้านภาษาและทำความคุ้นเคยกับรูปแบบของข้อสอบก็ช่วยได้มากเช่นกัน โดยทาง JLPT ก็มีการรวบรวมข้อสอบเก่าไว้และออกขายเป็นหนังสือด้วย หากอยากลองทำข้อสอบที่ใกล้เคียงกับของจริงขึ้นไปอีกก็ลองนำมาอ้างอิงกันได้

▼ หนังสืออ้างอิง
https://www.jlpt.jp/reference/books.html

นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถทำข้อสอบจริงได้โดยไม่กดดันมาก ก็อาจจะลองจับเวลาทำช้อสอบเองที่บ้าน สำรวจเส้นทางในสนามสอบไว้ล่วงหน้า หรือทำอะไรอื่นๆ เพื่อเตรียมตัวไว้ให้ดี ลองผิดลองถูกกันไปก็จะพบกับวิธีการที่เหมาะกับตัวเองได้ในที่สุดนั่นเอง

แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นจะมีบริษัทแบบ Global ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเพิ่มมากขึ้น แต่ผลการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นก็ยังมีบทบาทในการสมัครงานหรือประเมินงานต่างๆ อยู่ดี หากเป็นไปได้ก็ควรจะสอบให้ได้ระดับสูงๆ เข้าไว้ สำหรับใครที่กำลังจะไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น หากคิดจะทำงานที่นั่นด้วยก็ควรจะสอบเอาไว้แต่เนิ่นๆ เช่นกัน

เราสามารถเข้าสอบ JLPT กี่ครั้งก็ได้ ดังนั้นก็ลองใช้บทความนี้เป็นแนวทาง หาวิธีการเรียนที่เหมาะกับตัวเอง แล้วก็ไปสอบกันจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองพอใจกันเลย

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

Oyraa
0 Shares: